ในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง ผู้เขียนมักจะมีคำถามเสมอว่า “ภาษีเราไปไหน?” ซึ่งคำตอบคร่าว ๆ ที่เราพอจะหาได้ ก็จะอยู่ร่างในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่สำนักงบประมาณจัดทำขึ้นทุกปี และสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายกันอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อนไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
และถึงแม้ตัวงบประมาณประจำปีของไทยจะซับซ้อน รายละเอียดเยอะ แต่ในช่วง 3-4 ปีหลัง สำนักงบประมาณได้จัดทำงบประมาณเพื่อประชาชน ซึ่งได้ย่อยข้อมูลหนาปึ้กหลายสิบเล่มที่บรรดา สส. ต้องศึกษากันก่อนอภิปราย มาเป็นอินโฟกราฟิกเข้าใจง่าย ทำให้เราพอเห็นภาพชัดขึ้นว่าภาษีเราไปไหน ช่วยใครบ้าง
และในบทความนี้ ผู้เขียนจะเลือกดูงบประมาณด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในเอกสารงบประมาณปี 2567 แล้วจะพยายาม “ตัดเกรด” ว่างบประมาณด้านไหน “ปัง” หรือ “พัง” บ้างครับ
คมนาคมและโลจิสติกส์ (123,447 ล้านบาท) : B
นี่น่าจะเป็นส่วนที่งบประมาณจัดออกมาได้ค่อนข้างสมเหตุสมผล เพราะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่ดี ย่อมนำมาสู่เศรษฐกิจที่แข็งแรงในอนาคต โดยในงบส่วนนี้มีทั้งงบการพัฒนาสนามบิน 14 แห่ง รวมถึงรถไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งของประเทศในอนาคตได้แน่นอน นอกจากนี้ ยังมีงบพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์อีก 2,600 คน ถือว่าเป็นการปูรากฐานของประเทศได้ไม่เลว
แต่ส่วนที่ขัดใจผู้เขียนเล็กน้อย น่าจะเป็นงบพัฒนาทางหลวงแผ่นดิน รวมถึงทางพิเศษส่วนต่อขยายต่าง ๆ ระยะทางรวมกว่า 3,500 กิโลเมตร ซึ่งมีคำถามว่า การสร้างถนนเพิ่ม ในประเทศที่โครงข่ายถนนค่อนข้างดีอยู่แล้วอย่างไทย ประชาชนจะได้ประโยชน์แค่ไหน แทนที่จะนำงบไปพัฒนาขนส่งมวลชน เช่น รถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะตอบโจทย์ทั้งการลดรายจ่ายประชาชน ลดต้นทุนการขนส่ง และประหยัดเวลาการเดินทางได้ดีกว่า
การท่องเที่ยว (7,384 ล้านบาท) : B
ในส่วนงบพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญอีกตัวของไทย สิ่งที่น่าชื่นชมคือการให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยววิถีชุมชนผ่านการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว OTOP และการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนรวมถึงการท่องเที่ยวลดคาร์บอน ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์โลกที่การตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมดีขึ้นเรื่อย ๆ
แต่ก็มีงบประมาณบางรายการที่ผู้เขียนก็ยังมีคำถาม เช่น งบประมาณจัดการแข่งขันโมโต้จีพี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการแข่งขันดังกล่าวมีผู้ชมมากมาย และสร้างรายได้ให้กับประเทศไม่น้อย แต่ก็มีคำถามตามมาว่า การแข่งขันที่สร้างเม็ดเงินมหาศาลอย่างโมโต้จีพีจำเป็นต้องรับการอุดหนุนจากรัฐอีกหรือไม่ และงบประมาณจุดนี้เป็นการ “เอื้อ” ประโยชน์ให้แก่บุรีรัมย์ สถานที่ตั้งของสนามช้าง อินเตอร์แนชันแนล เซอร์กิต มากเกินไปหรือเปล่า
เขตเศรษฐกิจพิเศษ (8,560 ล้านบาท) : D
งบประมาณด้านนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC หนึ่งในโครงการเรือธงของรัฐบาลประยุทธ์ ที่รัฐบาลเพื่อไทยเลือกจะสานต่อ
คือถ้าพลิกดูเนื้อในของงบประมาณส่วนนี้แบบเผิน ๆ ก็อาจดูไม่มีปัญหานัก เพราะมีทั้งงบการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการก่อสร้างโรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์ และด่านศุลกากรในเขต EEC
แต่ผู้เขียนมีคำถามว่า การลงทุนใน EEC มึความคุ้มค่าจริงหรือ ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากจริงไหม อุตสาหกรรมในประเทศไทยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติมากแค่ไหน ประเทศต้องสูญเสียรายได้จากการยกเว้นภาษีและให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติไปเท่าไร และประชาชนในพื้นที่ EEC ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้จริงหรือเปล่า
ซึ่งคำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่ค้างคาใจตั้งแต่สมัยรัฐบาลประยุทธ์ มาจนถึงรัฐบาลเศรษฐา และการยังเติมงบต่อเนื่องไปให้โครงการที่มีแต่เครื่องหมายคำถามนี้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจะถูกใจผู้เขียนเท่าไร
ส่งเสริม SMEs (8,700 ล้านบาท) : F
ปัจจุบัน SMEs ของไทยมีมูลค่ารวมกันราว 6.44 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP ทั้งประเทศ แต่การจัดสรรงบประมาณในการส่งเสริม SMEs เพียงราว ๆ 0.2% ของงบประมาณทั้งหมด เป็นการสะท้อนชัดเจนว่า ประเทศไทยแทบไม่ได้ให้ความสำคัญกับอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญนี้เลย
ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อที่เป็นปัญหาเรื้อรังของ SMEs ไทย แทบไม่ได้รับการแก้ไขผ่านงบประมาณ โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งควรจะเป็น “ที่พึ่ง” ของ SMEs ที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนจากธนาคารพาณิชย์ กลับได้รับการจัดสรรงบประมาณเพียง 340 ล้านบาท ในขณะที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งควรมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา SMEs กลับได้รับงบประมาณเพียง 18 ล้านบาท
ก็คงไม่เกินเลยไปนักที่จะบอกว่าการจัดสรรงบประมาณตรงส่วนนี้ “สอบตก” อย่างแรง และ SMEs ไทยก็คงต้องปากกัดตีนถีบต่อไปโดยหวังพึ่งภาครัฐไม่ได้
การเกษตร (50,000 ล้านบาท) : C
นี่เป็นงบประมาณส่วนที่การจัดสรรไม่แย่ เพราะเน้นไปทั้งการพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ การเกษตรเชิงรุก และลดต้นทุนการผลิต โดยส่วนที่ขัดใจผู้เขียนน่าจะเป็นการพักหนี้เกษตรกร เพราะไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของเกษตรกรอย่างยั่งยืนนัก
แต่คำถามที่ใหญ่กว่าคือ ประเทศไทยจำเป็นต้องสนับสนุนการเกษตรมากขนาดนั้นหรือไม่ เพราะในรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสากลโลก เศรษฐกิจของประเทศควรยกระดับจากภาคส่วนที่มูลค่าเพิ่มต่ำ เช่น ภาคการเกษตร ไปสู่ภาคส่วนที่มูลค่าเพิ่มมากขึ้นเช่น ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการต่อไป
แต่กลายเป็นว่างบประมาณปี 67 กลับให้งบประมาณภาคการเกษตรมากกว่างบประมาณ SMEs และท่องเที่ยว (ภาคบริการ) รวมกันเสียอีก จึงมีคำถามว่าการจัดสรรงบประมาณเช่นนี้จะทำให้ประเทศพัฒนาถอยหลังหรือไม่ และรัฐบาลเพื่อไทยเลือกจะโอบอุ้มฐานเสียงของตน มากกว่า “มองไกล” ถึงการพัฒนาประเทศในระยะยาวหรือเปล่า
พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต (3,900 ล้านบาท) : F
นี่คือการจัดสรรงบประมาณเศรษฐกิจในส่วนที่น่าผิดหวังที่สุด เพราะนอกจากตัวงบประมาณที่ได้จะต่ำเตี้ยเรี่ยดินเพียงประมาณ 0.1% ของงบประมาณทั้งหมดแล้ว บางรายการยังเหมือนตามเทรนด์ไม่ทัน เช่น โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเมตาเวิร์ส ซึ่งถึงแม้กระแสเมตาเวิร์สจะแรงมากในช่วงโควิดระบาด แต่หลังจากนั้นต้องเรียกว่า “เอาท์” ไปแล้ว
และอย่างที่กล่าวไปข้างต้น หากประเทศไทยต้องการขยับไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น การจัดสรรงบประมาณเพียงหยิบมือเพื่อสร้าง “อนาคต” ให้ประเทศ ก็ต้องบอกว่าอนาคตของไทยริบหรี่เสียเหลือเกิน
ดิจิตัลวอลเล็ต (0 บาท) : F
หนึ่งในนโยบายที่เพื่อไทยหวังว่าจะเป็น “หมัดเด็ด” เพื่อแลนด์สไลด์ แต่อาจกลับกลายเป็น “หมัดน็อค” ที่จะทำให้เพื่อไทยเสียความนิยมเสียเอง เนื่องจากแหล่งเงินในการทำโครงการนี้ที่ทางเพื่อไทยยืนยันมั่นเหมาะก่อนเลือกตั้งว่าจะ “ไม่กู้” และจะใช้งบประมาณประจำปี กลายเป็นว่างบประมาณก็ไม่พอที่จะทำโครงการนี้ และเพื่อไทยต้องดิ้นรนหาแหล่งเงิน เริ่มจากจะใช้ช่องทางจากแบงค์รัฐ ซึ่งก็ถูกปิดตายไป จนล่าสุดน่าจะจบในรูปของการ “กู้” ตามที่หลายคนปรามาสไว้
งบส่วนนี้อาจไม่ได้สะท้อนความล้มเหลวของการจัดสรรงบประมาณ แต่เป็นการสะท้อนความล้มเหลวของพรรคเพื่อไทยในการรักษาสัจจะกับสาธารณชนมากกว่า
ถ้าจะสรุปสั้น ๆ ถึงการจัดสรรงบประมาณด้านเศรษฐกิจในปี 2567 ก็ต้องบอกว่า “ผิดหวัง แม้จะไม่ได้คาดหวัง” เพราะแทบไม่มีส่วนไหนของการจัดสรรที่ทำให้เราเห็นถึงวิสัยทัศน์ของประเทศในการสลัดตัวจากกับดักรายได้ระยะปานกลางเลย
เขียนโดย ธนากร ไพรวรรณ์