ยังมีใครดูโทรทัศน์ รอเวลาละคร หรือ รายการตามผังสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆไหมครับ แน่นอนยุคนี้ ถ้าใช้ความรู้สึกส่วนตัว หลายคน(และน่าจะส่วนมาก) ยังคงรู้จักช่องทีวีดิจิทัลต่างๆ แต่การดูผ่านจอโทรทัศน์น่าจะลดลง
ล่าสุด คนที่ยังเป็นคนดูโทรทัศน์ขาประจำ โดยเฉพาะช่อง 7 HD ได้ลดเวลาละครหลังข่าว ซึ่งในยุคก่อน ถือว่าเป็นขุมทรัพย์ของบริษัท มีค่าโฆษณานาทีละเกือบครึ่งล้าน
โดยช่อง 7 HD นำเสนอละครลมพัดผ่านดาว ที่มี อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี ที่ควบบทบาทผู้ผลิตละครครั้งแรก และเข้ม-หัสวีร์ ภัคพงษ์ไพศาล นำแสดง และออกอากาศแบบ 4 วันรวด คือ จันทร์-พฤหัสบดี เพียง 1 ชั่วโมง แล้วต่อด้วยซีรีย์เกาหลี ‘Ghost Doctor คู่ซี้ ผีคุณหมอ’ อีก 1 ชั่วโมง ซึ่งว่ากันว่านี่คือความเปลี่ยนแปลงในรอบ30ปีของละครหลังข่าวช่อง 7 ที่เดิมมักเป็นละครยาว 2 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 3 เรื่องต่อสัปดาห์ แม้จะยังมีละครสัปดาห์ละ 2 เรื่อง โดยเรื่องหนึ่งจะออกอากาศ 4 วัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี และอีก 1 เรื่องในวันเสาร์และอาทิตย์
ซึ่งถ้าเทียบกับคู่แข่ง เช่น ช่อง3HD ที่ในอดีต นำซีรีย์เปาบุ้นจิ้น หรือ F4 มาฉายในช่วงละครหลังข่าวมาแล้ว จนทำให้ละครไทยของช่อง3 ยุคนั้น ผู้จัดละครและนักแสดงในสังกัดต่างหวั่นไหว
ขณะเดียวกัน ช่อง3HD หากไปดูผังรายการในปัจจุบัน นอกจากละครรีรันที่นำมาฉายใหม่ ซึ่งตอนนี้อาจต้องเรียกว่า ตั้งแต่เช้ายันดึก ตั้งแต่แรงเงา กรงกรรม บุพเพสันนิวาส และล่าสุดคือ ทองเนื้อเก้า ที่นำมาฉายในวันศุกร์-อาทิตย์ ทำให้ละครหลังข่าวของช่อง 3 ที่เป็นละครใหม่ มีเพียง 2 เรื่องต่อสัปดาห์ ในปลายเดือนสิงหาคมนี้ หรือแม้แต่ช่องวัน ที่มีรายการละครเป็นแม่เหล็กสำคัญ ก็มีการนำละครรีรันมาออกอากาศในช่วงกลางคืน หรือ ไพร์มไทม์ เหมือนกับทั้ง2ช่องเช่นกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับแฟนละครโทรทัศน์ คือ รีรันอีกแล้วเหรอ ไม่มีละครใหม่เหรอ ไปจนถึง ดารานักแสดงคนโปรดขวัญใจ โดยเฉพาะที่มีสัญญากับช่อง จะมีละครที่จะได้ออกอากาศลดลงไปด้วย หรือ ละครที่จะได้ดูต้องเลื่อนออกไปอีก รวมทั้งหลายคนอาจคิดว่า ละครถ่ายทำไม่ทัน ทั้งที่ขณะนี้ผ่านพ้นสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่ไม่มีข้อจำกัดในการถ่ายทำ
คำตอบก็คือ นอกจากพฤติกรรมการรับชมสื่อโทรทัศน์ หรือทีวีที่เปลี่ยนไป ซึ่งมีคนพูดเรื่องนี้มาพอสมควร อีกเรื่องหนึ่งคือ ภาวะเศรษฐกิจ ที่มีผลไปถึงงบโฆษณานั่นเอง ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่า งบโฆษณาน่าจะฟื้นตัวหลังการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ ก็คือ ประมาณ 2-3 เดือนหลังการเลือกตั้ง
ซึ่งงบโฆษณาที่นีลเส็น (ประทศไทย) รายงานครึ่งปีแรกของปีนี้ มีมูลค่าเม็ดเงินลดลงเล็กน้อย 0.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมูลค่าอยู่ที่ 55,530 ล้านบาท และสื่อทีวียังคงเป็นสื่อที่มีสัดส่วนของการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดอยู่ที่ 57%
เมื่อเป็นเช่นนี้ ละครถือเป็นรายการที่มีต้นทุนสูง เพราะต้องลงทุนการผลิตละคร ขณะที่ความสนใจของคนในขณะนี้ คือ ข่าวการเมือง การจัดตังรัฐบาล เหมือนที่สรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันทน์ เล่าผ่านคอลัมน์ “ฟาสฟู้ดธุรกิจ” ว่าน้องที่เป็นฝ่ายบริหารของสถานีโทรทัศน์ เล่าว่า ตอนนี้ละครโทรทัศน์หรือรายการบันเทิงเรตติ้งตกมาหลายเดือนแล้ว
แต่เรตติ้งรายการข่าวกลับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งจนถึงวันนี้ คนติดตามแต่เรื่องการเมือง ไม่สนใจดูละคร “อาจเป็นเพราะการเมืองไทยวันนี้สนุกกว่าละคร ซับซ้อนยิ่งกว่าซี่รี่ย์เกาหลี” และ ตอนนี้รายการบันเทิงแนวสัมภาษณ์จะปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการสัมภาษณ์คนในแวดวงการเมือง เพราะเรตติ้งสูงกว่าสัมภาษณ์ดารา
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ทำให้อุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์มีรายได้ที่ดี เพราะธุรกิจและเศรษฐกิจกำลังรอความชัดเจน ทำให้การจะใช้เม็ดเงินโฆษณา ที่มาจากการกระตุ้นการบริโภค กระตุ้นเศรฐกิจ เปิดตัวสินค้าและบริการใหม่ๆยังไม่เกิดขึ้น
เหมือนอย่างที่คุณสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายธุรกิจโทรทัศน์ สำนักผู้บริหาร บมจ. บีอีซี เวิลด์ หรือ BEC เจ้าของสถานีโทรทัศน์ ช่อง3HD ให้สัมภาษณ์ว่า “ทีวีเป็นธุรกิจที่อยู่บนความเชื่อมั่นของเจ้าของสินค้า ของนักลงทุน โดยมีปัจจัยอื่นมาประกอบสินค้าหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับการควบคุมของรัฐ เวลาจะโตก็โตได้ไม่เต็มที่ เเต่เวลาร่วงก็จะไม่หล่นฮวบ”
ซึ่งช่อง 3 HD ก็ยอมรับว่า ทุนผลิตคอนเทนต์ต่อปีประมาณ 2,000 ล้านบาท ต่อละคร 25 เรื่อง เเต่ปีนี้จากภาวะเศรษฐกิจ เม็ดเงินโฆษณาทางสื่อทีวีลดลง ทำให้ต้องตัดระยะเวลาละครต่อตอน หรือ ยุคนี้เรียก EP หรือชื่อเต็ม คือ Episode จากเดิมอยู่ที่สองชั่วโมงเหลือชั่วโมงครึ่ง
นั่นจึงทำให้คอนเทนต์ใหม่ๆ หรือละครใหม่ๆ เมื่อโฆษณายังไม่มาเต็มที่ การรอคอย อาจจะดีกว่าเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งเรตติ้งและรายได้โฆษณา แม้จะมีคนบอกว่า นำไปใช้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่นั่นก็ยังทำรายได้ไม่เท่ากับรายได้จากโฆษณาทีวี
และเมื่อดูจากผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 ของ BEC มีรายได้รวม 996 ล้านบาท ลดลง 19.7% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แม้จะมีกำไร แต่เบาบางมากเพียง 3.7 ล้านบาท ลดลง 97.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 173.8 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในอดีตที่ช่อง 3 ในยุคก่อนเคยมีกำไรปีละหลายพันล้านบาท
ยังไม่นับรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของช่อง7HD ที่นำรายการมวย ONE ลุมพินี ถ่ายทอดสดทุกคืนวันศุกร์ แทนละครหลังข่าว ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ทำเรตติ้งได้ดี หลังจากทีวีดิจิทัลหลายช่องมีการนำรายการมวยถ่ายทอดสดมาออกอากาศแล้วสร้างเรตติ้งได้ดี ช่อง7HD ที่ยังเป็นอันดับ 1 ที่มีฐานผู้ชมสูงที่ถือเป็นความได้เปรียบ และเมื่อมวย ONE ลุมพินีที่มีความน่าสนใจ ก็ทำให้รายการละครหลังข่าว ก็ไม่ใช่แม่เหล็ก หรือ รายการเดียวที่สร้างเรตติ้งและรายได้สูงสุดอีกต่อไป
นอกจากทั้งพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไป ช่องทางเลือกการรับชมสื่อที่มีความหลากหลาย ภาวะเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่องบโฆษณาแล้ว ละครไทยเองก็เจอปัญหาที่ตัวเนื้อหาเอง จากการขาดแคลนบุคลากรวงการเขียน เนื่องจากบริษัทผลิตละครมีมากขึ้น เเต่จำนวนนักเขียนมีอยู่อย่างจำกัด นวนิยายที่มีถูกหยิบมารีเมคซ้ำไปมา ไม่มีความสดใหม่
ช่อง 3 HD ก็แก้ปัญหา ด้วยการพลอตบทละครขึ้นมาใหม่ ทำให้ลักษณะของละครแบ่งออกเป็น
1.สร้างจากนิยาย
2.จ้างนักเขียนพลอตบทขึ้นมาเอง อิงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ได้ความสดใหม่
3.ซื้อลิขสิทธิ์ละครจากประเทศอื่นมาผลิต ซึ่งจะง่ายกว่าทุกเวอร์ชัน ช่วยให้ขายสปอนเซอร์ได้ง่าย
และต่อยอดสู่ IMC (Integrated Marketing Communication) เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพิงรายได้จากโฆษณาเพียงอย่างเดียว โดยให้เจ้าของสินค้าเข้าติดต่อช่องเอง ซึ่งดาราในช่องอาจได้โอกาสในการเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับเเบรนด์เหล่านั้นด้วย สร้างรายได้ให้ส่วนบริหารศิลปินในสังกัดอีกด้วย
ขณะเดียวกับอย่างที่กล่าวทั้งช่อง 7 HD ช่อง 3 HD เคยเป็นเสือนอนกิน เป็นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ มีรายได้เป็นหมื่นล้านบาท กำไรระดับหลายพันล้านบาท ลดลงนับจากการเกิดขึันของทีวีดิจิทัลเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา และ ด้วยหลายปัจจัยอย่างที่กล่าวไปแล้ว โดยยกตัวอย่างผลประกอบการ 3 ปีล่าสุด ซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย อาทิ
ผลประกอบการ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือ ช่อง 7 HD
ปี 2563 รายได้รวม 4,168 ล้านบาท กำไรสุทธิ 972 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้รวม 5,016 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,964 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้รวม 4,017 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,250 ล้านบาท
ผลประกอบการ บริษัท บีอีซีเวิล์ด จำกัด (มหาชน) หรือ ช่อง 3HD
ปี 2563 รายได้รวม 5,937 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 214 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้รวม 5,719 ล้านบาท กำไรสุทธิ 762 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้รวม 5,136 ล้านบาท กำไรสุทธิ 607 ล้านบาท
รวมทั้ง บริษัท เดอะวัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของช่อง ONE และ GMM 25
ปี 2563 รายได้รวม 4,876 ล้านบาท กำไรสุทธิ 658 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้รวม 5,436 ล้านบาท กำไรสุทธิ 828 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้รวม 6,226 ล้านบาท กำไรสุทธิ 738 ล้านบาท
ทั้งหมดจึงเป็นคำอธิบายว่า ทำไมละครหลังข่าว
อาจไม่ใช่ขุมทรัพย์รายได้และเรตติ้งให้กับธุรกิจสื่อโทรทัศน์ หรือทีวีอีกต่อไป
ดังนั้นถ้าละครหลังข่าว หรือ ละครกลางคืน เวลาลดลง มีรายการอื่นมาแทน เช่น มวย มีละครที่เคยออกอากาศแล้ว มารีรันให้ชมใหม่ และรายการข่าว เช่น ข่าว 3 มิติ ประเด็น7สี หรือ เอาให้ชัด มาเร็วขึ้น และมีเวลามากขึ้น ก็เพราะเหตุเหล่านี้นั่นเอง