ทุกวันนี้มีรายได้พอใช้จ่ายกันไหมครับ? ปีหนึ่งหาเงินกันได้เท่าไร?
บางคนอาจไม่ต้องคอยกังวลเรื่องเงินเรื่องค่าใช้จ่ายนักครับ แต่ก็หลายคนเหมือนกันที่ต้องคอยถามตัวเองแบบนี้อยู่ตลอด ก็แน่ล่ะครับ เรื่องเงินน่ะเรื่องสำคัญเลย แม้ว่าในไทยเองเศรษฐกิจจะไม่ค่อยดี ค่าแรงไม่ได้สูงมาก แต่อย่างน้อยก็ไม่ได้แร้นแค้นนัก คนส่วนใหญ่ก็พออยู่ไหวนั่นแหละ แต่ก็ชวนให้นึกสงสัยว่า แล้วในประเทศที่จนที่สุดในโลกล่ะ เขาอยู่กันยังไง จนที่ว่านี่จนขนาดไหน วันนี้ Connect the Dots พาไปสำรวจกันครับ
ปัจจุบันประเทศที่จนที่สุดในโลก ประเทศบุรุนดี (Burundi) เป็นประเทศไม่ติดทะเลบริเวณเกรตเลกส์ (Great Lakes) ของแอฟริกาตะวันออก พอบอกว่าเป็นประเทศในแอฟริกาหลายคนก็คงไม่ได้แปลกใจนัก เพราะแอฟริกาเองก็เป็นทวีปที่ยากจนที่สุดในโลกด้วย
แต่ความอยากจนของบุรุนดีเนี่ยยิ่งกว่านั้นอีก ขนาดเอามาเทียบกับเกณฑ์รายได้ของทวีปแอฟริกาเอง บุรุนดีก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก ๆ อยู่ดี โดยวิธีการวัดความจนรวยของแต่ละประเทศจะดูจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว หรือ GDP per Capita โดยของบุรุนดีอยู่ที่ 249 ดอลลาร์สหรัฐ หรือแค่ประมาณ 8,864 บาทเท่านั้น และมีประชากรราว 70% ที่อยู่ใต้เส้นความยากจนของประเทศ (ที่จนที่สุดอยู่แล้ว)
แล้วทำไมบุรุนดีถึงจนขนาดนั้น ต้องย้อนกับไปพูดถึงประวัติศาสตร์นิดหนึ่งครับ ก่อนหน้านี้บุรุนดีเคยเป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของเบลเยียม (Belgian Colonial Empire) ภายหลังได้รับเอกราชในปี 1962 และแยกออกมาเป็นประเทศบุรุนดี และรวันดา (Rwanda) ที่อยู่ติดกัน แต่พัฒนาต่างกันลิบลับ ภายหลังได้รับเอกราชบุรุนดีและรวันดาต่างก็ต้องเผชิญกับภาวะสงครามกลางเมือง (Civil War) อย่างยาวนาน
ซึ่งเกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ของประชาชน ระหว่างฮูตูและทุตซี ที่นำมาซึ่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันน่าหดหู่ ตามมาด้วยการปกครองโดยผู้นำที่ไม่คืนอธิปไตยให้ประชาชน เลือกตั้งก็เลือกไม่จริงเพราะรวมอำนาจเอาไว้หมด เมื่อเกิดการประท้วงขึ้นก็ใช้กำลังสลาย ทำให้ประชากรหลายแสนคนต้องขอลี้ภัยจากการประท้วง และอีกหลายพันถูกสังหารและหายสาบสูญ สำนักงานสิทธิมนุษยชนของ UN ก็ถูกปิด และบุรุนดีก็เป็นชาติแรกที่ถอนตัวจากศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อหนีจากการสอบสวนและตัดสินอาชญากรรมในประเทศด้วย
การเมืองวายวอดขนาดนี้ก็น่าจะพอเห็นภาพแล้วว่านี่แหละคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ขวางความเจริญ
เสถียรภาพทางการเมืองที่สั่นคลอนยังทำให้ประเทศปิดตายไม่ติดทะเลอย่างบุรุนดีดึงดูดนักลงทุนได้ยากขึ้น เพราะเดิมทีการที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเลหรือทรัพยากรสำหรับการผลิตและส่งออกมันก็ดูไม่มีอะไรให้มาลงทุนอยู่แล้ว พอมีปัญหาเรื่องการเมืองอยู่บ่อย ๆ ยิ่งทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศพากันเบือนหน้าหนี
เคยมีจังหวะที่กราฟการลงทุนในบุรุนดีพุ่งขึ้นแรง ๆ ในช่วงปี 2014 ที่เหมือนจะได้เลือกตั้งกันใหม่และได้ประชาธิปไตยจริง ๆ สักที แต่พอผู้นำเบี้ยวฮุบอำนาจสมัยที่สามในปี 2015 ก็ทำกราฟดิ่งจนติดดินอีกครั้งยาวมาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากจะถูกปกครองโดยรัฐบาลเจ้าอำนาจที่บริหารบ้านเมืองไม่เก่งแล้ว ยังชอบแทรกแซงเศรษฐกิจอีกต่างหาก รัฐคุมหมดทั้งเชื้อเพลิงและพลังงาน มีอิทธิพลเหนือรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ และการสนับสนุนภาคการเกษตร เข้าควบคุมทุกอย่างโดยไม่ได้ปล่อยให้มีอิสรภาพทางเศรษฐกิจ เป็นผลให้เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอ ทั้งยังเคยริบทรัพย์สินจากประชาชนอีกด้วย
เรื่องที่สำคัญและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศอย่างการศึกษาบุรุนดีก็ยังทำได้ไม่ดีนัก เด็กในบุรุนดีเพียง 32% เท่านั้นที่เรียนจบมัธยม นั่นส่งผลให้บุรุนดีขาดแคลนแรงงานทักษะสูง อาชีพส่วนใหญ่ที่คนในประเทศทำได้คือการเกษตรในพื้นที่ห่างไกล
ในภาคการเกษตรซึ่งเป็นอุสาหกรรมหลักของประเทศ ที่ขับเคลื่อนด้วยประชาชนกว่า 90% ต้องถูกรบกวนอยู่บ่อยครั้งจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุลูกเห็บ ก็มักจะทำให้พืชผลทางการเกษตรของประชาชนเสียหายอยู่เสมอ จนในที่สุดก็กลายเป็นขาดแคลนอาหารและทรัพยากร รวมทั้งการที่ไม่มีการสนับสนุนใด ๆ เลยก็ทำให้การเกษตรไม่เติบโต ทำได้แค่เกษตรกรรมขนาดย่อม พื้นที่ทำการเกษตรก็อยู่ห่างไกลจากพื้นที่ค้าขาย ไม่มีระบบขนส่งหรือถนนที่ดี ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรจบที่ปลูกเองกินเองเสียมากกว่า
อีกเรื่องที่ต้องร้อง “อิหยังวะ?” มาก ๆ คือ บุรุนดีมีการแบนรถจักรยายนต์ในบางพื้นที่ด้วย เนื่องจากเหตุผลว่าคนขี่มอเตอร์ไซค์อาจเป็นอาชญากร และในครั้งต่อมาก็แบนเพราะเหตุผลว่าทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย ทีนี้ก็ยิ่งทำให้คนใช้ชีวิตลำบากขึ้น ทำมาค้าขายยากขึ้น และแน่นอน คนขับรถรับส่งตกงานเพียบ
ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ประชากรของบุรุนดีส่วนใหญ่ประสบกับความยากลำบาก และเนื่องจากงานส่วนใหญ่คือการทำเกษตรขนาดย่อมที่อยู่นอกระบบเศรษฐกิจ ทำให้ประชากรส่วนนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองจากระบบสนับสนุนทางเศรษฐกิจของรัฐ
ปัจจุบันแม้สถานการณ์บ้านเมืองของบุรุนดีจะเริ่มนิ่งขึ้น เปลี่ยนผู้นำแล้ว แต่ประเทศนี้ยังคงประสบกับปัญหาความากจนอยู่ ต้องรับความช่วยเหลือจากองค์กรต่าง ๆ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องและความเป็นอยู่ของคนภายในประเทศ
และสิ่งสำคัญที่บุรุนดีได้สะท้อนให้ทั่วโลกเห็นอย่างชัดเจนคือ การเมืองเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาประเทศแค่ไหน และเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าประเทศบุรุนดีจะสามารถพัฒนาขึ้นได้อย่างไร และจะละทิ้งตำแหน่งประเทศที่จนที่สุดในโลกได้หรือเปล่า