เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกลายมาเป็นประเด็นสังคมเมื่อล่าสุดช่วงวันแม่ กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ออกระเบียบใหม่ของการแจกเบี้ยผู้สูงอายุ กำหนดให้ต้องพิสูจน์ความจน เพื่อรับเบี้ยยังชีพจากรัฐ จากเดิมที่เป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เพียงแค่ปีอายุ 60 ปีขึ้นไป ก็จะได้รับเบี้ยโดยต้องไม่ทับซ้อนกับสวัสดิการอื่นจากรัฐ เหล่านักการเมืองแสดงความคิดเห็นดือดถึงประเด็นนี้ว่าเป็นการลักไก่ของรัฐบาล ลดงบประมาณเพราะหาเงินไม่ได้ เป็นการจัดสรรค์งบประมาณที่ไม่เป็นธรรม จะทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงสิทธิ์ประโยชน์นี้ได้น้อยลง แต่ถึงอย่างไร ระเบียบใหม่นี้ยังต้องรอหลักเกณฑ์ที่แน่ชัดจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติออกมา เพื่อให้องค์กรส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใช้ในการจ่ายให้กับผู้สูงอายุในท้องที่
โดยในวันนี้ Connect the Dots จะพาไปดูหลักเกณฑ์และสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุในต่างประเทศว่าเขาจ่ายอย่างไร ได้เท่าไร แตกต่างกับไทยอย่างไรบ้าง
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุ 15.8% จากประชาการทั้งหมด 23 ล้านคน โดยออสเตรเลียถือว่าเป็นหนึ่งประเทศที่มีสวัสดิการที่ดี ในส่วนของการดูแลผู้สูงอายุจะมาจากเงินภาษีที่จ่ายตอนยังทำงานอยู่ รัฐจ่ายเบี้ยชราภาพให้โดยจำแนกตามประเภทคนชราโสดและมีคู่ ซึ่งถ้าโสดจะได้รับเบี้ยมากกว่าอยู่ที่ 1,064 ดอลลาร์สหรัฐต่อสองสัปดาห์ มีค่าพลังงานอีก 14.1 ดอลลาร์ ซึ่งตามระเบียบล่าสุดก็มีบวกเพิ่มให้อีก 37.5 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์ รวม ๆ แล้วได้ประมาณปีละ 27,664 บวกเพิ่มกับอีก 975 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ถ้าเป็นคู่จะได้รวมกัน 1,604 ดอลลาร์และค่าพลังงาน 21.2 ดอลลาร์ บวกเพิ่มอีก 56.4 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์ ทำให้รวมแล้วได้ปีละประมาณ 40,174 บวกกับอีก 1,466.4 ดอลลาร์
โดยเกณฑ์ในการจ่ายเบื้องต้นคือต้องเป็นประชากรอาศัยอยู่ในออสเตรเลียไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยอย่างน้อย 5 ปีจะต้องไม่ไปอาศัยอยู่ที่อื่น มีอายุตั้งแต่ 65-67 ปี ขึ้นไป และนอกจากนี้ก็มีเรื่องการพิสูจน์รายได้และทรัพย์สินคล้าย ๆ กับระเบียบใหม่ของไทย คือ ถ้าเป็นคนโสดต้องมีรายได้ไม่เกิน 2,332 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์ และรายได้ทุกดอลลาร์ที่เกินจาก 204 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์ จะถูกคิดมาหักเบี้ยชราภาพที่ได้ 50 เซนต์ต่อหนึ่งดอลลาร์ ถ้าไม่เกิน 204 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์ ก็ไม่หักเลย ถ้าเป็นคู่อาศัยอยู่ด้วยกันจะต้องมีรายได้รวมต่อสองสัปดาห์ไม่เกิน 3,568 ดอลลาร์ ส่วนที่เกินจาก 360 ดอลลาร์จะถูกหักจากเบี้ยชราภาพ 50 เซนต์ต่อหนึ่งดอลลาร์ หากไม่เกิน 360 ดอลลาร์ก็จะไม่ถูกหักเลย
ซึ่งรายได้เฉลี่ยของออสเตรเลียอยู่ที่ประมาณคนละ 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อสองสัปดาห์ นั่นหมายความว่า ถ้ามีรายได้ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยก็เข้าเกณฑ์ได้รับเบี้ยแล้ว
และในส่วนของการประเมินรายได้ คนชราโสดที่มีบ้านเป็นของตัวเอง มีทรัพย์สินไม่เกิน 301,750 ดอลลาร์สหรัฐ หากไม่มีบ้านเป็นของตัวเองอยู่ที่ 543,750 ดอลลาร์สหรัฐ คนชราที่อยู่เป็นคู่ หากมีบ้าน ต้องมีทรัพย์สินรวมไม่เกิน 451,500 ดอลลาร์สหรัฐ หากไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ไม่เกิน 693,500 ดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากเงินเบี้ยชราภาพแล้ว ผู้ได้รับสิทธิ์สามารถได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ จากทากรัฐอีกด้วย ทั้งด้านส่วนลดการรักษาพยาบาล การดูแลด้านสุขภาพ เงินสนับสนุนผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เงินสนับสนุนผู้ดูแล ฯลฯ
มาดูสวีเดน ประเทศที่ได้ขึ้นชื่อว่าสวัดิการรัฐดีที่สุดในโลกบ้าง ปัจจุบันสวีเดนมีผู้สูงอายุ 19.9% จากจำนวนประชากรกว่า 10 ล้านคน จริง ๆ สวีเดนเป็นประเทศที่สนับสนุนให้ทุกคนเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณและใช้ชีวิตในยามชราด้วยตนเองได้อยู่แล้ว จึงมีกองทุนบำนาญมากมาย แต่แน่นอนว่ารัฐก็มีสวัสดิการที่มาช่วยเหลืออย่างเต็มที่
ในส่วนสวัสดิการของผู้สูงอายุ ที่เริ่มได้รับได้ตั้งแต่อายุ 62 ปีขึ้นไป แต่จะได้เงินบำนาญรับรอง (Guarantee Pension) เมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไปเท่านั้น และต้องอาศัยอยู่ที่สวีเดนเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 40 ปี แต่ถ้าอยู่น้อยกว่านั้นจะได้บำนาญส่วนนี้น้อยลง และตอนที่รับสิทธิ์จะต้องอยู่ในสวีเดนอย่างน้อย 3 ปี หรือประเทศในเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) แต่ต้องอยู่ในสวีเดนอ่างน้อย 1 ปี ยังมีบำนาญรายได้ ที่จะหัก 16% ของรายได้ต่อปี สมทบกับเงินจากนายจ้างด้วย รวมทั้งภาษีอื่น ๆ ที่จะถูกนำมาจ่ายให้หลังเกษียณ ขึ้นอยู่กับรายได้แต่ละคน อาจจ่ายให้ตั้งแต่เดือนละ 10,000-22,500 โคโรนา สำหรับผู้ที่ไม่เข้าข่ายได้รับบำนาญใด ๆ เลยแต่เป็นพลเมืองสวีเดน ก็มีการสนับสนุนด้านการจัดหาที่อยู่และการเงินผู้สูงอายุ ซึ่งจะได้รับเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป โดยจำนวนเงินที่ได้ก็จะขึ้นอยู่กับรายได้ ทรัพย์สิน ค่าที่อยู่ และไม่ใช่แค่เงินเท่านั้น แต่ทางรัฐจะดูแลเรื่องสุขภาพ การรักษาโรคตามเงื่อนไขของแต่ละเขต การจัดหาที่อยู่อาศัย รวมถึงบางครอบครัวจะได้เงินสนับสนุนในการดูแลผู้สูงอายุด้วย ด้วยเงื่อนไขที่น้อยมาก ๆ ก็ทำให้สวัสดิการของรัฐเข้า ถึงประชากรได้ 100% และประชาชนก็พร้อมที่จะจ่ายภาษีเกือบ 50% ของรายได้ เพราะสุดท้ายแล้วอย่างไรรัฐก็จะตอบแทนและดูแลพวกเขาอย่างดี
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขึ้นแท่นสังคมผู้สูงอายุ มีประชากรผู้สูงอายุถึง 28.2% จากจำนวนประชากร 126.8 ล้านคน เป็นที่ 1 ของโลก โดยคนญี่ปุ่นอายุตั้งแต่ 20-59 ปี ทุกคนจะต้องจ่ายเงินค่าประกันตน เพื่อเป็นบำนาญพื้นฐานจ่ายในกรณี พิการ ชรา หรือเสียชีวิต จ่ายประมาณคนละ 16,520 เยนต่อเดือน จ่ายต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี เมื่ออายุ 65 ปีจะได้รับเงินบำนาญส่วนนี้ราวปีละ 795,000 บวกลบตามเงินสมทบที่จ่าย รายได้ การยกเว้นการจ่ายจากเงื่อนไขพิเศษอื่น ๆ ซึ่งสามารถขอรับบำนาญเร็วขึ้นตั้งแต่อายุ 60 ปีเลยก็ได้ แต่จะได้น้อยลง เพียง 76% ของเรตที่จะได้ หรืออาจชะลอการรับบำนาญไปเมื่ออายุ 75 ปี ก็จะได้รับเพิ่มขึ้นเป็น 184% ของเงินที่จะได้หากเริ่มรับตอนอายุ 65 ปี และนอกจากนี้ยังมีแผนบำนาญเสริมที่ให้เลือกจ่ายเพิ่มอีก 400 เยนต่อเดือนเพื่อตอนรับบำนาญจะได้เรตต่อปีคือ 200 เยนคูณด้วยจำนวนเดือนที่จ่ายเพิ่มมาเพิ่มเติมคือมีประกันการดูแลระยะยาว (Long-Term Care Insurance) ที่ญี่ปุ่นได้นำมาใช้ตั้งแต่ปี 2000 เป็นสวัสดิการส่งเสริมคุณภาพและดูแลชีวิตผู้สูงอายุแบบระยะยาว ที่ดูแลตั้งแต่กลุ่มผุ้มีอายุตั้งแต่ 40-64 ปี และ 65 ปีขึ้ไป โดยงบประมาณในส่วนนี้จะได้รับการสับสุจากภาครัฐครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งหนึ่งหักจากเงินบำนาญกับเงินจ่ายเบี้ย นอกจากนี้ยังมีการจัดหางาที่เหมาะสมให้กับผุ้สูงอายุ ซึ่งแม้จะมีรายได้ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยแต่ยังช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีอะไรทำ เป็นประชากรกลุ่มที่ยังมีศักยภาพในการขับเคลื่อนสังคมต่อไปได้
ในภาพรวมเราจะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศมีระเบียบและหลักเกณฑ์ในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุแตกต่างกันไป แต่หัวใจสำคัญอาจไม่ใช่มากน้อยแค่ไหน อยู่ที่ความครอบคลุมและเข้าถึงประชากรผู้สูงอายุให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งในวันและในวัยที่ลำบาก ทั้งนี้การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุของไทยจะยังเป็นไปตามหลักเกณฑ์เดิม จนกว่าหลักเกณฑ์ใหม่จะออกมา ซึ่งทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ชี้ว่างบประมาณสำหรับเบี้ยผู้สูงอายุในปีหน้าต้องปรับเพิ่มเป็น 110,000 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอ แต่เรื่องหลักเกณฑ์ใหม่ที่จะใช้ยังไม่ได้มีการกำหนดให้ทางคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเคาะออกมา เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งก่อนเลือกตั้งได้เห็นนโยบายที่หลายพรรคชูไว้ว่าจะเพิ่มเบี้ยให้ถึง 3,000-4,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ตอนนี้จ่ายกันแค่หลักร้อย ต้องคอยติดตามว่า รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนบ้าง จะทำได้ตามที่สัญญาไว้กับประชาชนหรือไม่