‘Wonka’ คือ หนึ่งในขบวนภาพยนตร์ที่เรียงรายเข้าฉายในช่วงก่อนเทศกาลคริสต์มาสและสิ้นปี ซึ่งหลายคนเฝ้ารอชมลีลาการแสดงของ ‘ทิโมธี ชาลาเมต์ (Timothée Chalamet)’ ในบทบาทของ ‘วิลลี่ วองก้า (Willy Wonka)’ กับเรื่องราวต้นกำเนิดของเขาที่ไม่เคยถูกเล่าที่ไหนมาก่อน
นอกจากเรื่องราวชีวิตวัยหนุ่ม และหลากหลายปัจจัยที่ทำให้ วิลลี่ วองก้า เป็นตัวละครทรงเสน่ห์แห่งโลกภาพยนตร์แล้ว ในฐานะที่เขาเป็นเจ้าของโรงงานช็อกโกแลตที่โด่งดังที่สุดในโลก(ภาพยนตร์) เรื่องราวอีกมุมที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ธุรกิจช็อกโกแลตของเขา
วันนี้ Connect the Dots จึงขออาสาพาไปสำรวจมุมนี้ของเรื่องราว ผ่านข้อคิดธุรกิจจากภาพยนตร์เรื่อง Wonka
ต้นทุนสำคัญ แต่ไม่ใช่แค่เงินเท่านั้นที่เป็น “ทุน”
ทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่าจะเริ่มธุรกิจได้ต้องมี “ทุน” แต่นั่นไม่ใช่ทุนเดียวที่สำคัญ วองก้าเองก็ไม่ได้มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย และในตอนที่เริ่มขายช็อกโกแลต ก็แทบไม่มีเงินติดตัวเหลืออยู่เลย นั่นทำให้ทุน “เงิน” เป็นสิ่งที่เขาไม่มีแต่แรก และการเริ่มต้นธุรกิจขายช็อกโกแลตของเขาไม่ง่าย
แต่ถึงอย่างนั้น วองก้ายังมีทุนที่สำคัญไม่แพ้กันอย่าง “ความรู้” วองก้าใช้เวลานานกว่า 7 ปีออกเดินทางตามหาวัตถุดิบและเรียนรู้การทำช็อกโกแลตหลากหลายสูตรจากวัตถุดิบที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังฝึกฝนศาสตร์มายากลมาตั้งแต่เด็กจนช่ำชอง ทำให้เขามีต้นทุนด้านความรู้ที่แข็งแรงมากพอจะนำมาต่อยอดเป็นทุนเงิน เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ ด้วยการเริ่มขายช็อกโกแลตแบบ Pop-up Store ที่แทบไม่ต้องลงทุนอะไร ก็สามารถสร้างรายได้ก้อนแรกให้กับเขา
สินค้าที่ดี คือ พื้นฐานของธุรกิจ
แม้ว่าการเติบโตของธุรกิจหนึ่งจะมาจากหลายปัจจัย แต่ธุรกิจจะแข็งแรงได้ ต้องมีสินค้าดีเป็นที่ตั้ง นั่นคือสิ่งที่สะท้อนออกมาจากการทำธุรกิจของวองก้า ซึ่งสินค้าดีของวองก้านั้นมาในรูปแบบของความ “แปลกใหม่” เป็นสิ่งที่ใครก็หาไม่ได้จากที่อื่น
เขาทุ่มเทออกตามหาและศึกษาวัตถุดิบ คิดค้นวิธีการทำช็อกโกแลตนานกว่า 7 ปี ช็อกโกแลตของเขาจึงมีรสชาติดีและแปลกใหม่ถูกใจผู้บริโภค เพราะถูกปรุงด้วยวัตถุดิบหายากมากมาย ที่ยกระดับความแปลกไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นนมยีราฟ ฝนฟ้าคะนองที่ถูกสกัดใส่ขวด หรือแม้แต่ “โฮเวอร์ช็อก (Hoverchocs)” ช็อกโกแลตที่กินแล้วบินได้ จากแมลงวันดอกไม้ที่อยู่ด้านใน (ซึ่งถ้ามีขายจริงอาจไม่ผ่านอย. ฮ่า ๆ )
ซึ่งการที่มีสินค้าชั้นดีแบบนี้เป็นที่ตั้ง ก็ทำให้เขาต่อยอดด้วยการตลาดได้สร้างสรรค์มากขึ้น และทำให้ธุรกิจเติบโต
“การตลาด” คือโอกาสให้รายย่อยได้แข่งขัน
เดิมทีในเมืองที่วองก้าไปเริ่มต้นธุรกิจ มีแหล่งค้าขายหลักคือ ‘แกลเลอรี กัวร์เมต์ (Gallery Gourmet)’ ซึ่งมี 3 บริษัทช็อกโกแลตใหญ่ผูกขาดอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง “การตลาด” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ให้โอกาสวองก้าได้เริ่มต้นแข่งขัน
วองก้าวางกลยุทธ์ด้วยการเปิดร้าน Pop-up Store ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งปลอมตัวเป็นเด็กเสิร์ฟ หรือเจ้าหน้าที่รถโดยสาร แอบขายช็อกโกแลตแม้จะถูกห้าม (อย่างไม่เป็นธรรม) ซึ่งสร้างผลดีให้กับธุรกิจมาก เหมือนที่หลายแบรนด์ในปัจจุบันเลือกใช้ เพราะเป็นการเข้าหาลูกค้า มอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่ สร้างการรับรู้ได้ดี รวมถึงความรู้สึกเร่งด่วนในการซื้อจากการที่ไม่ได้ตั้งร้านขายประจำ และยังมีความยืดหยุ่นเรื่องต้นทุนอีกด้วย
นอกจากนี้วองก้ายังมีวิธีการนำเสนอสินค้าที่โดดเด่นในทุกครั้งที่ขาย ด้วยการแสดงที่น่าประทับใจ ใช้ทักษะด้านมายากลที่เขาเชี่ยวชาญ ทำให้ผู้บริโภคอยากลิ้มลองสินค้า และยังได้ประสบการณ์ดี ๆ
ด้วยการตลาดที่ฉลาดล้ำแบบนี้ทำให้ช็อกโกแลตของเขาขายหมดทุกครั้ง และช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจาก 3 เจ้าใหญ่มาได้แม้ยังไม่มีหน้าร้านเลยด้วยซ้ำ
คนที่ใช่ ในงานที่คู่ควร
ในเวอร์ชันนี้ เรื่องราวถ่ายทอดให้เราเห็นการร่วมมือของวิลลี่ วองก้า และเพื่อน ๆ ซึ่งแต่ละคนก็มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กส่งผ้า นักบัญชี ช่างประปา นักแสดงตลก และคนเชื่อมสายโทรศัพท์ ซึ่งวองก้าและพวกเขาก็ช่วยเหลือกันโดยใช้ประโยชน์จากความสามารถของแต่ละคนได้ถูกที่ถูกทาง จนสามารถเริ่มขายช็อกโกแลตได้สำเร็จ อย่างที่เห็นได้ชัด คือ ทุกครั้งที่เปิดขายแบบ Pop-up Store ช่างประปาจะคอยช่วยวางแผนเส้นทางหนีทางท่อระบายน้ำ หรือจะเป็นเชื่อมสายโทรศัพท์ที่มีบทบาทสำคัญ และคนแคระอูมปา-ลูมปา จากเกาะแหล่งฝักโกโก้ที่วองก้าใช้ สุดท้ายก็ได้มาเป็นแผนกชิมรสชาติในโรงงานช็อกโกแลตของเขา
“ใจรัก” คือพลังสำคัญทำให้ฝันเป็นจริง
สิ่งสำคัญที่เรื่องราวของวองก้าย้ำเตือนกับพวกเราคือ จะประสบความสำเร็จได้ เราต้องเชื่อในสิ่งนั้น และพยายามอย่างไม่หยุดยั้ง วองก้าเองไม่ได้ทำช็อกโกแลตขายเพียงเพราะในตอนนั้นมันเป็นสินค้าราคาแพง ทำเงินได้ดี (ซึ่งในเรื่องแพงขนาดที่ใช้ติดสินบนกันแทนเงินเลย) แต่เป็นเพราะเขามีความผูกพันกับมัน เป็นตัวแทนความสัมพันธ์และคำสัญญาของเขากับแม่ ทำให้เขารักการทำช็อกโกแลตมาโดยตลอด แม้ว่าเส้นทางของเขาจะยากลำบากมากก็ตาม ด้วยใจรักเขายังพยายามอย่างต่อเนื่อง หาทางขายช็อกโกแลตจนสามารถเปิดร้าน และมีโรงงานเป็นของตัวเองได้
และมีประโยคสร้างแรงบันดาลใจที่คุณแม่พูดกับวองก้าสมัยเด็กว่า “ทุกเรื่องดี ๆ ในโลกล้วนเริ่มจากความฝันทั้งนั้น”
เพราะงั้นถ้าความสำเร็จของคุณยังเป็นแค่ความฝันล่ะก็ ไม่ได้แปลว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอกนะ
และนี่ก็คือข้อคิดเรื่องธุรกิจจาก Wonka ที่เราเอามาฝากทุกคนกัน แต่เชื่อว่าในมุมมองที่แตกต่างคุณอาจค้นพบข้อคิดดี ๆ นอกเหนือจากนี้ได้อีกมาก อีกทั้งตัวหนังยังสนุกใช่เล่นเลยด้วย บอกเลยว่าคุ้มค่าตั๋วแน่นอน ใครที่ไปดูมาแล้ว ได้ข้อคิดอะไรดี ๆ ลองแบ่งปันกันได้ในคอมเมนต์เลยนะครับ และสำหรับใครที่สนใจรับชมเรื่องราวของเขาแบบเต็ม ๆ ละก็ Wonka เข้าฉายแล้ววันนี้ทุกโรงภาพยนตร์