#PopPolicy อธิบายPolicy ด้วยมุมป๊อป
.
ปัจจัยหนึ่งที่ปฏิเสธได้ยากว่าสำคัญมากในระบบเศรษฐกิจ คือ “น้ำมัน” ซึ่งยังเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก ทั้งในฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค ในประเทศไทยเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เพราะราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อทั้งภาคธุรกิจและประชาชนคนเดินดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งหากราคาน้ำมันผันผวน ก็จะส่งผลต่อสถานการณ์เงินเฟ้อโดยรวมเช่นกัน
.
และเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันในไทย จึงได้มีการก่อตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กองทุนน้ำมันฯ)ขึ้นเมื่อปี 2516 โดยใช้เป็นกลไกของรัฐในการป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และใช้ในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ จากกรณีที่ราคาในตลาดโลกสูงขึ้น เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชนให้น้อยที่สุด
.
แต่ในระยะหลัง กองทุนน้ำมันฯ ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก เนื่องจากราคาพลังงานโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2566 ติดลบอยู่ทั้งสิ้น 63,376 ล้านบาท จึงเกิดคำถามขึ้นว่า รัฐควร “พยุง” ราคาน้ำมันต่อไปหรือไม่ หรือควรปล่อยราคาน้ำมันให้เป็นไปตามกลไกตลาดโดยสมบูรณ์
.
ตรึงราคา vs พยุงราคา
ในฐานะประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงาน ไทยถือเป็นผู้รับราคา (Price Taker) กล่าวคือ ไทยไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำได้เพียงแค่ซื้อหรือขายน้ำมันตามราคาในตลาดโลกเท่านั้น
แต่ในระดับประเทศ รัฐยังมีหนทางในการ “แทรกแซง” กลไกตลาดเพื่อตรึงราคาน้ำมันไว้ ซึ่งสองวิธีหลักที่รัฐเคยใช้คือการตรึงราคา และพยุงราคา
.
การตรึงราคา คือการประกาศเพดานราคาสินค้าของรัฐ โดยห้ามให้มีการซื้อขายสินค้าเกินราคาที่กำหนด แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การตรึงราคาไม่ได้ช่วยแก้ไขสถานการณ์อย่างแท้จริง เพราะการตรึงราคาไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ (Demand) และ อุปทาน (Supply) ของสินค้า เช่นในสถานการณ์น้ำมันแพง อุปสงค์ของน้ำมันก็ยังมีอยู่ตามเดิม นอกจากนี้ การตรึงราคาทำให้ราคาขายสินค้าจริงต่ำกว่าราคาดุลยภาพ หรือราคาที่เส้นอุปสงค์ตัดกับอุปทาน และถึงแม้จะมีการขายสินค้าตามเพดานราคาในตลาดที่ถูกกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติจะเกิด “ตลาดมืด” ซึ่งมีการขายสินค้าตามราคาดุลยภาพ ซึ่งสูงกว่าเพดานราคาอยู่ดี กลายเป็นว่ามีเพียงคนที่ “เงินถึง” ที่สามารถซื้อสินค้านั้นได้ในตลาดมืด
ส่วนอีกวิธี ที่หลายประเทศทั่วโลกเลือกใช้กันคือการ “พยุงราคา”
.
กล่าวคือ รัฐยังคงกำหนดเพดานราคาไว้ แต่รัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบชดเชยส่วนต่างระหว่างเพดานราคากับราคาดุลยภาพเอง โดยจ่ายส่วนต่างนั้นให้แก้ผ็ผลิต ซึ่งวิธีนี้มีข้อดีคือประชาชนทุกคนยังได้ใช้น้ำมันในราคาที่รับได้ และไม่เกิดตลาดมืด เนื่องจากผู้ผลิตยังสามารถขายน้ำมันได้ตามราคาดุลยภาพ แต่ข้อเสียคือรัฐบาลอาจต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากในการพยุงราคา
.
แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม?
.
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่ารัฐจะใช้การตรึงราคา หรือพยุงราคา ก็มีข้อเสียด้วยกันทั้งคู่ แต่ถ้าจะให้ฟันธง ก็คงต้องบอกว่าการ “พยุงราคา” เป็นทางเลือกที่แย่น้อยกว่า เพราะอย่างน้อย ๆ การพยุงราคาก็เป็นหลักประกันได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังสามารถเข้าถึงน้ำมันในราคาที่รับได้ และไม่ต้องแบกรับต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อเงินเฟ้อทั้งระบบเช่นกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการที่รัฐนำงประมาณไปอุ้มราคาน้ำมันเช่นนี้ อาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และเงินภาษีควรนำไปใช้กับกิจกรรมที่น่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจกว่านี้หรือไม่
.
แต่เราก็ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า รัฐบาลไม่ได้เหมือนเอกชน ที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพและผลกำไรเป็นหลัก หลายครั้งหลายคราที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่ขาดประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือสวัสดิภาพของประชาชนที่ดีขึ้น ดังนั้น ผู้เชียนจึงขอสรุปว่า การพยุงราคาน้ำมันคงยังต้องมีต่อไป
แก้ที่ราก
.
แล้วในฐานะที่ไทยยังเป็น price taker ในตลาดพลังงาน ไทยสามารถทำอะไรได้ไหม ก็ต้องบอกว่ายังพอได้ และในเมื่อไทยไม่ได้สามารถทำอะไรกับอุปทานน้ำมันได้มากนัก เพราะไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ แต่เรายังพอมีวิธีลดอุปสงค์น้ำมันโดยไม่กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้
.
หนึ่งในวิธีลดอุปสงค์ดังกล่าวก็คงหนีไม่พ้นการสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่ดี เพื่อลดอุปสงค์การใช้น้ำมันจากผู้ที่โดยสารผ่านรถส่วนตัว หรือการสนับสนุนให้ประชาชนใช้พาหนะไฟฟ้า ก็จะพอลดการพึ่งพาน้ำมันไปได้เช่นกัน
.
อีกหนึ่งทางเลือกที่ยาก แต่น่าสนใจ คือการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้าอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว หรือส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกที่ผลิตได้ในประเทศเช่น เอทานอล และเพื่อเป็นการรับประกันว่าการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกจะช่วยให้ราคาเชื้อเพลิงถูกลง รัฐก็ต้องเป็นหูเป็นตาและคอยดูแลตลาดเชื้อเพลิงทางเลือกไม่ให้มีการผูกขาด ซึ่งจะนำมาสู่ราคาขายที่สูงเช่นเดียวกับอีกหลายตลาดในประเทศไทยที่ถูกครอบงำโดยทุนผูกขาดนานาชนิด และประชาชนคือผู้รับราคาที่ต้องจ่ายด้วยการซื้อสินค้าหรือบริการในราคาแพง
.
และถึงแม้ในท้ายที่สุดแล้ว จะมีการประมาณการจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังว่า การติดลบของฐานะกองทุนน้ำมันฯ คาดว่าจะคลี่คลายลงและกองทุนจะสามารถช่าระหนี้คืนได้โดยไม่เป็นภาระงบประมาณของรัฐบาลในอนาคต แต่รัฐคงต้อง “มองยาว” และหันมาสนับสนุนพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาแก้ปัญหากองทุนน้ำมันฯ ติดลบเพราะการพยุงราคาซ้ำซ้อนครับ
เขียนโดย ธนากร ไพรวรรณ์
•
สามารถติดตามความเคลื่อนไหว connect the dots ได้ที่
Facebook : Connect the Dots
YouTube : www.youtube.com/@th.connectthedots
และทาง Spotify Podcast : connectthedotsth
#Connectthedots