#เศรษฐศาสตร์มาหาภาพ ทำเรื่องเศรษฐศาสตร์ให้เห็นภาพเข้าใจง่าย
.
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อัตราการว่างงานของไทยแตะระดับ 0.9 เปอร์เซ็นต์
ตัวเลขดังกล่าวนับเป็นข่าวดีที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเฝ้ารอมานาน เพราะเปรียบเสมือนสัญญาณบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกลับมาเข้ารูปเข้ารอยอีกครั้งหลังสั่นสะเทือนจากการระบาดของโควิด-19
ในฐานะประชาชนคนไทย เราสามารถยืดอกได้อย่างภาคภูมิใจเพราะว่าตัวเลขอัตราว่างงาน 0.9 เปอร์เซ็นต์นั้นต่ำมากๆ เรียกได้ว่าต่ำติดอันดับโลกเลยก็ว่าได้โดยที่เหล่าประเทศพัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี (2.9 เปอร์เซ็นต์) สหรัฐอเมริกา (3.6 เปอร์เซ็นต์) นอร์เวย์ (3.9 เปอร์เซ็นต์) สวีเดน (7.6 เปอร์เซ็นต์) ต่างเทียบไม่ติด เมื่อผนวกกับอัตราเงินเฟ้อต่ำจึงทำให้ไทยเคยติดอันโผประเทศที่มีดัชนีความทุกข์ยาก (Misery Index) ต่ำที่สุดในโลก
.
แต่ในฐานะประชาชนคนไทยขี้สงสัย ผมว่ามันต้องมีอะไรซ่อนอยู่ข้างใต้อัตราว่างงานที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินนี้แน่ๆ เพราะสถิติมหภาคนี้ดูจะสวนทางกับภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้าที่คนจำนวนมากหางานไม่ได้ ส่วนที่มีงานทำก็เผชิญปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย กลายเป็นว่าอัตราหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไทยพุ่งเอาๆ สวนทางกับภาพความเป็นอยู่ที่ดีจากตัวชี้วัดอื่นๆ
เพื่อหาคำตอบนั้น เราต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจว่า ‘อัตราการว่างงาน’ หมายถึงอะไรกันแน่
.
หลายคนอาจมองตัวเลขดังกล่าวแบบกำปั้นทุบดิน เช่น ถ้าอัตราการว่างงาน 0.9 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าประชากรทุกๆ 1,000 คนภายในประเทศจะมีคนตกงานทั้งหมด 9 คน
ความเข้าใจดังกล่าวถูกต้องเพียงครึ่งเดียว เพราะอัตราการว่างงานคำนวณจากผู้ที่มีงานทำหารด้วยกำลังแรงงาน (labor force) ซึ่งหากต้องการเห็นภาพมากขึ้น ต้องเข้าใจนิยามและข้อจำกัดของทั้งสองตัวแปรครับ
.
ใครคือ ‘ผู้มีงานทำ’
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในอีกนับร้อยประเทศที่ยึดนิยาม ‘คนว่างงาน’ ตามองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ที่ระบุไว้ว่าคนว่างงานคือคนที่ไม่มีงานทำหรือทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นั่นหมายความว่าถ้าผมอยู่บ้านเลี้ยงลูกแล้วใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ปลูกผักสวนครัวแล้วเอาไปขายที่ตลาดทุกเช้าวันเสาร์คราวละสองชั่วโมง ผมก็จะเข้าข่ายคนมีงานทำตามนิยามนี้ทันที
นิยามดังกล่าวคือหนึ่งในสาเหตุที่ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานที่ต่ำ เพราะไทยนั้นขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการและแรงงานในภาคเกษตรจำนวนมหาศาลนั่นเอง
.
จากสถิติชั่วโมงการทำงานในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบระหว่างแรงงานในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแรงงานมากกว่าครึ่งหนึ่งในภาคการเกษตรทำงานน้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่นอกภาคการเกษตรจะทำงาน 40 – 49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
จำนวนผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรและภาคนอกเกษตรกรรม จำแนกตามชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย
ภาวะเช่นนี้เรียกว่าการว่างงานแฝง (Underemployment) ซึ่งหมายถึงแรงงานที่ถือว่ามีงานทำ และต้องการใช้เวลาทำงานมากกว่านี้แต่ไม่สามารถหางานได้จึงกลายเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจ การว่างงานแฝงอีกรูปแบบหนึ่งคือทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญของลูกจ้างที่ไม่ตรงสายงาน เช่น วุฒิปริญญาตรีด้านการเงินการบัญชีแต่กลับไปทำการเกษตร ลักษณะเช่นนี้ก็ถือเป็นการสูญเสียผลิตภาพทางเศรษฐกิจเช่นกัน
.
ดังนั้น หากต้องการเห็นภาพภาวการณ์ว่างงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็อาจต้องเผยแพร่สถิติเพิ่มเติมอีกตัวหนึ่งโดยการปรับนิยามของผู้มีงานทำให้เคร่งครัดมากขึ้น เช่น กำหนดว่าต้องทำงานอย่างน้อย 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เช่นในสหรัฐอเมริกาเป็นต้น นอกจากนี้ ยังควรมีการแสดงภาวะการว่างงานแฝงในประเทศเพิ่มเติมเพื่อฉายภาพให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทรัพยากรบุคคลของเรามีการจัดสรรปันส่วนอย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด และแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดยิ่งขึ้น เช่น ปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างมากขึ้น เป็นต้น
.
‘กำลังแรงงาน’ หมายถึงอะไร
กำลังแรงงานอาจเป็นคำศัพท์ที่หลายคนอาจแปลกหูเพราะมักจะใช้กันในแวดวงวิชาการเป็นหลัก คำว่ากำลังแรงงานในที่นี้หมายถึงคนที่เต็มใจพร้อมจะทำงาน โดยอาจกำลังหางานอยู่หรือไม่ได้หางานก็ได้ นั่นหมายความว่ากลุ่มคนที่เต็มใจจะไม่ทำงาน อาทิ พ่อบ้านแม่บ้าน นักเรียนนักศึกษา นักบวชพระภิกษุสงฆ์ หรือคนที่เกษียณอายุ คนเหล่านี้จะถูกตัดออกจาก ‘ตัวหาร’ ในการคำนวณอัตราการว่างงานนั่นเอง
สำหรับประเทศไทย อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 69 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่าประชากรในวัยแรงงาน 100 คนจะมีคนที่เต็มใจจะทำงาน 69 คน แต่หากวิเคราะห์ให้ลึกลงไปโดยแบ่งตามเพศจะพบว่าผู้ชายมีอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานสูงถึง 77 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้หญิงจะอยู่ที่ 61 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
.
ตัวเลขการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของไทยอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังสะท้อนว่ามีแรงงานอีกจำนวนมากที่พร้อมให้รัฐมา ‘ปลดล็อค’ เพื่อกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้งโดยเฉพาะผู้หญิง รวมถึงแรงงานที่หางานมานานแต่ไม่ได้งานทำสักทีจนล้มเลิกความตั้งใจ หรือที่แวดวงวิชาการเรียกว่าแรงงานที่หมดกำลังใจที่จะหางาน (discouraged worker) หากรัฐบาลสามารถระบุตัวตนคนกลุ่มนี้ได้และพยายามจับคู่ทักษะพวกเขามีกับความต้องการของนายจ้างก็จะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
.
เรื่องที่ไม่ได้เล่าในตัวเลขอัตราการว่างงาน
แม้ว่าจะมีงานทำก็ไม่ได้หมายความว่าเขาหรือเธอคนนั้นจะมีชีวิตที่มั่นคง ปัจจุบันแรงงานจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงสิทธิประกันสังคม นั่นหมายความว่าคนที่มีงานทำจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการสำคัญ อาทิ คลอดบุตรและสงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต รวมถึงเงินช่วยเหลือในกรณีว่างงาน แรงงานนอกระบบเหล่านี้จึงใช้ชีวิตอยู่แบบวันต่อวันและไม่พร้อมอย่างยิ่งที่จะรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันแม้ว่าจะมีงานทำก็ตาม
ดังนั้น การชื่นชมยินดีเมื่อได้เห็นตัวเลขอัตราการว่างงานที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินยังนับว่าดีใจเร็วเกินไป นอกจากรัฐต้องเดินหน้าแก้ไขปัญหาการว่างงานแฝง และสนับสนุนคนที่ถอดใจออกจากตลาดแรงงานให้กลับมามีงานทำอีกครั้ง ยังต้องหนุนเสริมให้คนที่ทุ่มเททำงานเต็มเวลามีคุณภาพชีวิตที่ดีในระดับที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมีอีกด้วย
.
เขียนโดย : รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
•
สามารถติดตามความเคลื่อนไหว connect the dots ได้ที่
Facebook : www.facebook.com/th.connectthedots
YouTube : www.youtube.com/@th.connectthedots
และทาง Spotify Podcast : connectthedotsth
#Connectthedots
.
อ่านเพิ่มเติม
You’re counted as ’employed’ if you work one hour a week, but why is that a problem?
Misery Index: Definition, Components, History, and Limitations
นัยที่แฝงเบื้องหลังอัตราการว่างงานที่ต่ำ