#6 Degrees of Separation – เพราะความเป็นไปได้เชื่อมหากันไม่เกินหกทอด
.
มนุษย์ในโลกนี้ใช้ภาษาหลากหลาย ซึ่งหากไม่มี “ภาษากลาง” อย่างภาษาอังกฤษนั้นเวลาไปท่องเที่ยวที่ไหนนักท่องเที่ยวก็คงจะงงอยู่ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาพื้นฐานที่จะอยู่บนป้ายที่ตั้งใจจะใช้ในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ดี ป้ายแบบหนึ่งที่ไม่ใช้ภาษา แต่ “นักท่องเที่ยว” ทั่วโลกก็เข้าใจตรงกันคือสัญลักษณ์ห้องน้ำ เราสามารถรู้ได้โดยไม่ต้องมีคำอธิบายใด ๆ ว่าสัญลักษณ์แนว “พิคโตแกรม” ของผู้ชายและผู้หญิงยืนคู่กันนั้นหมายถึง “ห้องสุขา” ซึ่งแม้ว่าในแต่ละพื้นที่สัญลักษณ์พวกนี้จะมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่โครงสร้างพื้นฐานมันเหมือนกัน และมันก็ช่วยให้นักท่องเที่ยวผู้ไม่รู้ภาษาท้องถิ่นสามารถแสวงหาสถานที่ “ปลดทุกข์” เพื่อให้ “ฟื้นทุกข์” ได้อย่างสะดวก
เคยสงสัยมั้ยครับว่าสัญลักษณ์นี้มันมายังไง ?
อันนี้เราอยากจะเล่าย้อนหน่อยถึงความเป็นมาของ “ห้องน้ำสาธารณะ” ที่ต้อง “แยกเพศ”
.
แน่นอนมนุษย์ต้อง “ปลดทุกข์” มานานแล้ว และปกติก็ไปปลดปล่อยตามธรรมชาติกัน มันไม่มีและไม่จำเป็นต้องมี “ห้องน้ำ” ซึ่งอะไรพวกนี้ในภาษาไทยเก่าๆ เราก็จะเห็นคำอย่าง “ยิงกระต่าย” และ “ไปทุ่ง” ความหมายมันก็คือการไปถ่ายเบาและหนักป่าในทุ่งนั่งเอง
อย่างไรก็ดีสังคมเมืองที่ใหญ่ขึ้นและคนที่อยู่กันมากขึ้นในพื้นที่จำกัด การทำแบบนี้แรกๆ ก็ทำให้เมืองมีกลิ่นเหม็นร้ายกาจ แต่ที่เลวร้ายก็คือ มันทำให้เกิดโรคระบาดขึ้น และที่หนักๆ เลยคืออหิวาตกโรคที่ระบาดในกรุงลอนดอนช่วงกลางศตวรรษที่ 19
.
ที่มันเกิดที่ลอนดอนหนัก ๆ ก็เพราะมันเป็นเมืองที่ประชากรเยอะอันดับต้นๆ ของโลกในตอนนั้น พูดง่าย ๆ คือ คนอยู่กันแออัดสุดๆ โรคระบาดก็เลยหนัก ซึ่งหลังจากพบว่าการขับถ่ายลงในแหล่งน้ำสาธารณะคือต้นตอการระบาด มันก็ทำให้เกิดการรื้อระบบสาธารณสุขของกรุงลอนดอนใหม่หมด แยกระบบน้ำเสียกับน้ำดี และที่สำคัญก็คือการพยายามให้มนุษย์ขับถ่ายเป็นที่ในนามของการควบคุมโรคระบาด และ “ห้องน้ำสาธารณะ” สมัยใหม่ก็เริ่มมาแบบนั้นนี่แหละครับ อังกฤษเริ่ม ชาติอื่น ๆ ก็ทำตามเพราะอังกฤษช่วงนั้นคือมหาอำนาจอันเป็นผู้นำทางวัฒนธรรม
ทีนี้ การเกิดห้องน้ำสาธารณะช่วงแรกๆ เค้าไม่ทำแยกเพศ เพราะสมัยโน้นทั่ว ๆ ไปผู้หญิงเค้าจะไม่ค่อยออกจากบ้านเท่าไหร่ โลกตะวันตกและหลายๆ พื้นที่ในโลกมีธรรมเนียมว่าผู้หญิงมีหน้าที่อยู่บ้านทำงานบ้านและเลี้ยงลูก ผู้ชายเท่านั้นที่จะต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ดังนั้นห้องน้ำในที่สาธารณะก็ทำให้ไว้ผู้ชายเข้าก็พอ มันไม่ต้องแยกเพศ ซึ่งนึกง่ายๆ ก็ได้ “สถานที่ราชการ” สมัยนั้นแน่นอนว่าต้องมีห้องน้ำ แต่ข้าราชการทั้งหมดเป็นผู้ชายล้วน ดังนั้นมันไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะสร้างห้องน้ำแยก เพราะคนใช้มีแต่ผู้ชาย
.
ซึ่งก็ต้องรอเกิดสงครามโลก 2 ครั้งแรกโน่นน่ะแหละที่ผู้ชายไปรบและตายไปเยอะ แรงงานขาดแคลน ทำให้ผู้หญิงในโลกตะวันตกเริ่มได้ออกมา “ออกมาทำงานนอกบ้าน” กันอย่างต่อเนื่อ และการต้อง “แยกเพศ” ในห้องน้ำสาธารณะก็เริ่มขึ้น เพราะตอนนั้นผู้หญิงก็ต้องใช้ห้องน้ำในที่สาธาณะบ้างแล้ว
การแยกเพศในห้องน้ำยุคแรกมันถ้าไม่ใช้ภาษาเขียนบอกตรงๆ ก็จะใช้เป็นรูปวาด ซึ่งจริงๆ ร้านอาหารหรือร้านเหล้าบางร้านทุกวันนี้ก็ยังใช้ระบบภาพวาดแบบนี้เพื่อความเท่ห์ อย่างไรก็ดี อะไรพวกนี้มันไม่มีความ “สากล” แต่อย่างใด พูดง่ายๆ คือถ้าชาวต่างชาติมาเห็นก็อาจจะงงแน่ๆ แบบอาจงงไม่รู้ว่าจะเข้าห้องไหน
.
ทีนี้คำถามคือ แล้วทำไมอยู่ดีๆ มนุษย์ถึงต้องทำ “ป้ายห้องน้ำ” ให้ชาวต่างชาติเข้าใจด้วย?
คำตอบเร็ว ๆ คือ “การท่องเที่ยว”
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกากลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และสิ่งหนึ่งที่อเมริกาส่งไปทั่วโลกก็คือ “นักท่องเที่ยว”
หากจะพูดว่านักท่องเที่ยวอเมริกาเปลี่ยนโลกยังไงบ้างก็คงต้องพูดยาว แต่ในที่นี้เราจะพูดถึง “ปัญหา” ที่นักท่องเที่ยวอเมริกาเจอ ซึ่งก็คือ ปัญหาการ “ปลดทุกข์”
นักท่องเที่ยวอเมริกาคือพวกแรก ๆ ที่ตระหนักว่า “ป้ายห้องน้ำ” ในโลกนี้แตกต่างกันและไม่มีมาตรฐาน ดังนั้นการจะไปประเทศต่างๆ สิ่งแรกๆ ที่อาจต้องเรียนรู้คือหน้าตาของป้ายห้องน้ำ ซึ่งบางทีถ้าป้ายมันเขียนเป็นอักษรโรมัน บางทีมันก็พอจะอ่านออกเดาออก แม้จะอ่านไ่ม่รู้เรื่องซะทีเดียว
.
ทีนี้ลองคิดภาพ สมมติจะมีประเทศหนึ่ง จะจัดอีเวนต์ ที่มีนักท่องเที่ยวอเมริกันมาเพียบแน่ๆ แต่ประเทศนั้นดันไม่ได้ใช้ภาษาที่มีตัวอักขระที่คนอเมริกาอ่านออกและจดจำได้แน่ ๆ
ประเทศที่ว่าคือญี่ปุ่น และเหตุการณ์ที่ว่าคือกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงโตเกียวปี 1964
ทางทีมผู้จัดถกกันเข้มว่าจะทำยังไงดีเพื่อทำป้ายเพื่อการสื่อสารให้กับพวกนักท่องเที่ยว เพราะป้ายต่าง ๆ ของญี่ปุ่นสมัยโน้น มันภาษาญี่ปุ่นล้วน ไม่ได้มีภาษาอังกฤษกำกับ ทั่วไปแบบตอนนี้ (จริงๆ ช่วง 1990s ก็ยังเป็นแบบนั้นนะครับ ที่เริ่มมีภาษาอังกฤษเยอะๆ คือตอนญี่ปุ่นเน้นขายการท่องเที่ยว ซึ่งนั่นคือประมาณไม่เกิน 20 ปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง)
ที่สำคัญ มันคือโอลิมปิก บางทีเขียนภาษาอังกฤษไป นักท่องเที่ยวบางชาติก็อาจไม่เข้าใจ มันต้องมีอะไรที่ “สากล” กวานั้น
และทางทีมงานก็เลยได้ไอเดียว่า ใช้สัญลักษณ์แนว “พิคโตแกรม” เป็นมนุษย์ที่มีอิริยาบถต่างๆ เพื่อสื่อสารดีกว่า
และด้วยเหตุผลบางอย่างที่ไม่มีหลักฐานชัดเจน สัญลักษณ์ “ห้องน้ำ” กลับเป็นรูปคนยืนเฉย ๆ โดยไฮไลต์คือการใช้สีของตัวผู้ชายเป็นสีน้ำเงิน ส่วนตัวผู้หญิงเป็นสีแดง
.
ซึ่งก็ไม่มีบันทึกชัดเจนว่าสมัยนั้นคนเห็นเครื่องหมายนี้ครั้งแรกนั้นงงกันมั้ย แต่หลังจากเหตุการณ์โอลิมปิกครั้งนั้น การใช้สัญลักษณ์ห้องน้ำในแบบที่ญี่ปุ่นใช้ในตอนโอลิมปิกก็แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างไฟลามทุ่ง และสุดท้ายมันก็กลายมาเป็น “สัญลักษณ์ที่คนทั้งโลกเข้าใจตรงกัน” ในที่สุด
คือจะบอกว่าญี่ปุ่นเป็นคน “เริ่ม” ใช้สัญลักษณ์นี้ก็อาจไม่ได้ เพราะทางอังกฤษก็เคลมว่าตัวเองใช้มาก่อนญี่ปุ่นนิดหน่อย แต่เราก็น่าจะปฏิเสธไม่ได้ว่า งานโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวปี 1964 มันคืองานที่ “ประกาศให้โลกรู้” อย่างยิ่งใหญ่ว่าสัญลักษณ์แบบนี้หมายถึง “ห้องน้ำ”
ซึ่งก็อย่างที่เล่า ญี่ปุ่น “สร้าง” สัญลักษณ์นี้มาเป็น “โซลูชั่น” ในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะนักท่องเที่ยวไม่มีทางอ่านอักขระภาษาญี่ปุ่นรู้เรื่องนั่นเอง
เขียนโดย : อนาธิป จักรกลานุวัตร
ที่มา
https://www.nippon.com/en/guide-to-japan/gu006004/
https://www.bbc.com/…/20140911-the-genius-of-toilet-signs
https://www.facebook.com/HISTORYasia/videos/542444912907411/
https://www.mentalfloss.com/…/how-bathroom-stick…