ได้ยินได้ฟังมานับร้อยครั้ง ไม่เท่ากับลองใช้บริการจริงสักครั้ง น่าจะเป็นคำพูดที่เข้ากับสถานะการณ์ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์สายพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 28.6 กม. ที่ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ทุ่มเม็ดเงิน 3.5 หมื่นล้านบาทก่อสร้าง 10 ปี เแต่มีเสียงติมากกว่าชม
ตลอด 10 ปี นับจากเปิดบริการวันที่ 23 ส.ค. 2553 เรียกว่ามีเสียงติมากกว่าชมถึงประสิทธิภาพการให้บริการต่าง ๆ นานา ทำให้ “บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด” บริษัทลูกของ ร.ฟ.ท. ผู้รับจ้างเดินรถต้องปรับแก้ปัญหาระหว่างทางอยู่ตลอดเวลากว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการร่วม 8 หมื่นเที่ยวคน/วัน
ล่าสุดรถไฟฟ้าสายนี้กำลังนับถอยหลังเปลี่ยนผ่านซุกปีกบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสนามบิน จำกัด หรือกลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร ผู้คว้าสัมปทาน 50 ปี โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ที่จะเข้าบริหารโครงการในเดือน ต.ค. 2564 แต่เมื่อยักษ์ใหญ่เงินทุนหนาเข้ามาบริหาร ย่อมเป็นที่คาดหวังของผู้โดยสารจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ กับรถไฟฟ้าสายนี้ได้ไม่มากก็น้อย
จากใจผู้ใช้งาน
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่และลองใช้บริการรถไฟฟ้า สังเกตุได้ว่ามีคนใช้บริการมากช่วงเช้า-เย็น จะใช้เวลารอรถประมาณ 6-7 นาทีต่อขบวน แต่ถ้าเป็นช่วงเวลาปกติรอประมาณ 10-15 นาที เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่คนมาใช้บริการน้อย ขณะที่เสียงเปิด-ปิดประตูยังคงดังจนกลายเป็นความเคยชินของผู้มาใช้บริการไปเสียแล้ว ในส่วนของผู้มาใช้บริการ จากการสอบถาม…สิ่งที่อยากคาดหวังหลังจากมีเอกชนรายใหม่เข้ามาบริหารโครงการแล้ว
“คุณเดชา” อายุ 36 ปี พนักงานออฟฟิศย่านรามคำแหงกล่าวว่า ใช้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ตั้งแต่เปิดบริการใหม่ ๆ ช่วงปี 2553 ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าเป็นรถไฟฟ้าที่มีปัญหาขัดข้องบ่อยที่สุดแล้วตั้งแต่เปิดให้บริการมา โดยเฉพาะปัญหาขบวนรถที่ให้บริการมีไม่พอในช่วงเร่งด่วน ต้องรอขบวนรถอย่างน้อย 15 นาที และเคยรอนานสุดถึง 30 นาที ซึ่งที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาไปบ้างเมื่อเป็นข่าว จากนั้นก็กลับมามีปัญหาแบบเดิม ๆ
เชียร์ CP ซื้อรถรื้อระบบขายตั๋ว
“เมื่อกลุ่ม ซี.พี.เข้ามาบริหารงาน คาดหวังจะเข้ามาปรับปรุงขบวนรถก่อนเป็นอันดับแรก แม้แอร์พอร์ตลิงก์จะอ้างว่ามีรถให้บริการถึง 9 ขบวน แต่ถามว่าเพียงพอต่อการให้บริการในช่วงเร่งด่วนหรือไม่ หากเทียบกับรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้า MRT จะมีขบวนรถให้บริการถี่กว่า ไม่ต้องรอนาน ก็ทำให้สงสัยว่าทำไมถึงไม่ซื้อขบวนรถเพิ่มเข้ามา จึงอยากเห็นการจัดการเรื่องขบวนรถให้บริการเป็นการเร่งด่วน”
นอกจากนี้ ต้องการให้ปรับปรุงระบบจำหน่ายบัตรโดยสารด้วย เนื่องจากบางครั้งเมื่อพนักงานไม่อยู่ที่ช่องจำหน่ายบัตรโดยสาร ทำให้การแลกบัตรโดยสารกับตู้จำหน่ายอัตโนมัติทำได้ยาก ควรปรับปรุงให้ตู้รับธนบัตรชนิด 500 บาท และ 1,000 บาทได้ รวมถึงรองรับการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น สแกนคิวอาร์โค้ด หรือจ่ายผ่านแอปพลิเคชั่นได้ ซึ่ง ซี.พี.มีทรูมันนี่ วอลเล็ตอยู่แล้ว คิดว่าไม่ยากที่จะพัฒนาได้
ขณะที่ “คุณอิทธิพร” อายุ 55 ปี ช่างภาพอิสระสะท้อนให้ฟังว่า ส่วนตัวจะใช้แอร์พอร์ตลิงก์เดือนละ 2-3 ครั้งไปเยี่ยมญาติแถวลาดกระบัง ทุกครั้งที่ใช้บริการจะต้องรอรถนาน 10-15 นาทีเป็นอย่างน้อย ซึ่งนานกว่า BTS และ MRT ที่รอนานสุดเพียง 5 นาทีเท่านั้น จึงอยากให้ปรับปรุงการเพิ่มความถี่ของขบวนรถให้มากกว่านี้ ส่วนการซื้อขบวนรถใหม่เพิ่มคิดว่าควรทำเช่นกัน เพื่อบรรเทาปัญหาการรอนานดังกล่าว
ด้าน “คุณขวัญจิต” แม่บ้านสนามบินสุวรรณภูมิกล่าวว่า ใช้บริการช่วงเช้า เวลา 06.00 น. จึงไม่มีปัญหาการรอขบวนรถนาน แต่ถ้ากลุ่ม ซี.พี.เข้ามาบริหารก็น่าสนใจ เพราะเป็นบริษัทเอกชนรายใหญ่น่าจะมีรูปแบบการบริหารดีกว่าเจ้าของปัจจุบัน แต่มีข้อกังวลบ้างเพราะไม่เคยได้ยินว่ากลุ่ม ซี.พี.มีประสบการณ์ทำรถไฟฟ้ามาก่อน
อัดรถ 9 ขบวนวิ่งถี่ช่วงพีก
ด้าน “สุเทพ พันธุ์เพ็ง” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โดยเฉลี่ยผู้โดยสารมาใช้บริการอยู่ที่ 80,000 เที่ยวคนต่อวัน แต่เมื่อเกิดโควิด-19 มีมาตรการเว้นระยะห่างทำให้ลดลงไป ปัจจุบันหลังรัฐบาลคลายล็อกเฟส 5 มีผู้โดยสารอยู่ที่ 44,000 คนเที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้น 10,000 คน จากช่วงปลดล็อกเฟส 4 เฉลี่ยอยู่ที่ 34,000 คนเที่ยวต่อวัน
“สถานีมีผู้ใช้บริการมากสุดคือ สถานีพญาไท เพราะเชื่อมกับ BTS เฉลี่ยอยู่ที่ 8,000-9,000 คนเที่ยวต่อวัน สถานีลาดระบังเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000 คนเที่ยวต่อวัน และสถานีมักกะสัน จุดเชื่อมกับ MRT เพชรบุรีเฉลี่ยอยู่ที่ 5,000-6,000 คนเที่ยวต่อวัน”
ส่วนการบริการนำรถทั้ง 9 ขบวนออกวิ่งทุกขบวนในช่วงเร่งด่วนเช้า 07.00-09.00 น. จัดรถเสริม 15 เที่ยว มีความถี่ให้บริการช่วงขาเข้าไปพญาไทเฉลี่ย 6 นาทีต่อขบวน ช่วงขาออกไปสนามบินสุวรรณภูมิเฉลี่ยที่ 12 นาทีต่อขบวน ช่วงเร่งด่วนเย็นเวลา 17.00-20.00 น. จัดรถเสริมให้บริการ 9 เที่ยว
ขณะที่การหารือกับกลุ่ม ซี.พี.เป็นเรื่องของระบบเดินรถ โดยกลุ่ม ซี.พี.ขอสัญญาต่าง ๆ ที่มีการลงนามทั้งหมดมาศึกษาถึงเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ที่ทำไว้กับกลุ่มซีเมนส์ว่ามีอะไรบ้าง แต่จะรับมอบแอร์พอร์ตลิงก์ไปบริหารเมื่อไหร่ยังไม่ได้หารือถึงจุดนั้น แต่น่าจะเป็นภายในปีหน้าตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าจำนวนมากคาดหวังการพัฒนา และความสะดวกจากกลุ่มบริหารใหม่ ไม่เพียงเท่านั้น นักลงทุนหลายท่านก็กำลังจับตามองความเคลื่อนไหวนี้อย่างไม่วางตาสำหรับหุ้นกลุ่มรถไฟฟ้า และ CPH
#CISThai
Line Official: https://lin.ee/jO65rNq
Website: https://connectthedotsth.com/
FB Fanpage: https://www.facebook.com/CreativeInvestmentSpace