#PopPolicy อธิบายPolicy ด้วยมุมป๊อป
.
ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา อาจจะช็อคใครหลายคนที่พรรคก้าวไกลผงาดมาเป็นพรรคอันดับ 1 ได้ แต่ที่หลายคนไม่แปลกใจคือเป็นไปได้สูงที่ก้าวไกลกับเพื่อไทยจะจับมือกันเป็นรัฐบาล และสร้าง “ดรีมทีม” เศรษฐกิจที่หลายคนรอคอย
.
แต่ในรัฐบาลผสมนี้ เราจะได้เห็นนโยบายเศรษฐกิจปัง ๆ อะไรบ้าง ผู้เขียนขอใช้การเดาแบบมีการศึกษาและเลือกมา 3 นโยบาย ที่เรามีโอกาสจะได้เห็นในรัฐบาลผสมขั้วประชาธิปไตยนี้ครับ
.
1. เงินดิจิตัล 10,000 บาท
นี่คือนโยบายเรือธงของเพื่อไทยที่สร้างความฮือฮามากในช่วงต้นเดือนเมษายนที่มีการเปิดตัว โดยเพื่อไทยตั้งเป๋าจะใส่เงิน 10,000 บาท ลงในกระเป๋าเงินดิจิตัลของประชาชนที่อายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคนเพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าที่อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตรจากบ้านตัวเอง ซึ่งงบประมาณที่เพื่อไทยประมาณการว่าต้องใช้ราว ๆ 5 แสนล้านบาท ก็สร้างความหวั่นใจให้กับหลายฝ่ายไม่น้อย เพราะกลัวว่านโยบาย “แจก” แบบนี้ จะกระทบวินัยการคลังของประเทศหรือไม่
.
แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือนโยบายนี้มีศักยภาพที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่มาก และบางคนอาจเลือกซื้อสินค้าเพื่อการลงทุน เช่นซื้อเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ประกอบอาชีพ ซึ่งทำให้นโยบายนี้อาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่อาจทำให้บางคนมีรายได้เพิ่มขึ้นถาวร
.
แต่พอเพื่อไทยไม่ได้เป็นพรรคอันดับหนึ่งแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่านโยบายนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด เพราะถึงแม้ทางก้าวไกลจะไม่ได้ติดขัดกับนโยบายนี้ แต่ก้าวไกลเห็นว่าโครงการนี้สามารถทำผ่านแอป “เป๋าตัง” ได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องสร้างระบบใหม่ และอาจมีเพิ่มเงื่อนไขไม่ให้จับจ่ายใช้สอยเงินดิจิตัลในร้านของนายทุนใหญ่ ซึ่งก็ตรงกับปรัชญาทลายทุนผูกขาดของก้าวไกล
.
2. หวยใบเสร็จ
หนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจของก้าวไกลที่คนจำได้มากที่สุด ซึ่งพรรคส้มหวังว่าจะเป็น “หมัดเด็ด” ที่จะช่วยกระตุ้นยอดขาย SMEs
.
เนื้อหาของนโยบายก็ไม่ซับซ้อน สำหรับคนซื้อ หรือ ประชาชนทั่วไป เมื่อซื้อสินค้าจาก SMEs ครบ 500 บาท สามารถแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ (จำกัดไม่เกิน 2 ใบ/คน/เดือน และ จำนวน 10 ล้านคน/เดือน)
.
ส่วนฝั่งคนขาย หรือ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อขายสินค้าครบ 5,000 บาท สามารถแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ
.
หวยใบเสร็จอาจไม่ใช่นโยบายที่ดู “เล่นใหญ่” เหมือนเงินดิจิตัล โดยเหมือนเป็นนโยบายที่เน้นการ “สะกิด” (Nudge) เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคให้หันมาอุดหนุนสินค้าจาก SMEs แต่นโยบายแนวนี้ น่าจะเข้าลักษณะ ทำน้อย ได้มาก เพราะความคลั่งหวยของคนไทยที่ไม่เป็นรองใครในโลก และแม้สำหรับคนไม่เล่นหวย นโยบายนี้ก็ทำให้พวกเขาเหมือนได้มูลค่าเพิ่มจากการอุดหนุนสินค้าของ SMEs
•
นอกจากนี้ การสะสมยอดให้ครบทุก 500 บาท ก็สร้างแรงจูงใจเล็ก ๆ ให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าจาก SMEs ให้ครบตามยอด เป็นการช่วยกระตุ้นยอดขายให้ SMEs ไปอีกแรง
•
ถ้าหวยใบเสร็จปังขึ้นมา นี่อาจเป็นนโยบายที่เป็นตำนานของก้าวไกล และสะท้อนความ “นอกกรอบ” ของพรรคส้มได้เลยทีเดียว
.
3. ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
นี่เป็นนโยบายที่เพื่อไทยและก้าวไกลชูเหมือนกัน แต่ต่างกันในรายละเอียด โดยก้าวไกลเสนอว่าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทได้ทันที และขึ้นทุกปีหลังจากนั้น ส่วนเพื่อไทยเสนอให้ขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาท ภายในปี 2570
.
ถึงแม้ค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ได้ขึ้นมาร่วมสิบปีแล้วตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ท่ามกลางราคาสินค้าที่แพงขึ้นเรื่อย ๆ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกลับเป็นนโยบายที่ประชาชนทั่วไปไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะคิดว่าจะทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นอีกจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งธุรกิจก็จะผลักให้ผู้บริโภครับผิดชอบต่อด้วยการขึ้นราคาสินค้านั่นเอง
.
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การขึ้นค่าแรงไม่ได้ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มมากมาย เพราะโดยปกติแล้ว ค่าแรงเป็นเพียงส่วนประกอบเล็ก ๆ ของต้นทุนธุรกิจ ซึ่งมีทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าเครื่องจักร ค่าโฆษณา ฯลฯ และเมื่อย้อนไปสมัยที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เพิ่มค่าแรงเป็น 300 บาท ก็ไม่ปรากฏว่าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
.
อีกมุมกลับที่ผู้คนมักจะไม่ได้มองเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงคือ รายได้ของแรงงานที่เพิ่มขึ้น แปลว่ากำลังซื้อของคนเหล่านี้เพิ่มขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลให้รายได้ของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วย เกิดการหมุนของเงินที่ทำให้เศรษฐกิจโตได้อีก
.
แต่ 3 นโยบายนี้จะเป็นจริงหรือไม่ นอกจากจะต้องลุ้นการหารือกันระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกลแล้ว ยังต้องมาลุ้นว่า สว. 250 จะเป็นกลุ่มคนที่ขัดขวางกลิ่นความเจริญด้วยการโหวตนายกฯ สวนเจตจำนงสังคมหรือไม่ ประชาชนอย่างเรา ๆ ก็คงต้องช่วยกันกดดัน ส.ว. เพื่อให้พรรคการเมืองนำนโยบายที่เราอยากเห็นไปปฏิบัติได้ครับ
เขียนโดย : ธนากร ไพรวรรณ์