1 พฤษภาคม หรือวันแรงงาน จะมีการประกาศเจตนารมณ์การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ ภายในปี 2567 และจะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 สร้างความชัดเจนว่าอาชีพและจังหวัดไหนบ้างที่จะได้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในวันที่ 13 เมษายน ธุรกิจโรงแรมใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวได้ปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 400 บาทแล้ว
นับเป็นเรื่องน่ายินดีให้แรงงานทั่วประเทศได้มีหวังถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่นั่นก็อาจยังไม่พอสู้กับ “ค่าครองชีพ” สุดโหดที่คนไทยต้องเผชิญในประเทศตัวเอง การได้เพิ่มเป็น 400 บาทถึงจะพอช่วยได้บ้าง แต่ก็คงไม่ได้มากมายและเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะในขณะนี่ไทยได้เท่านี้ประเทศอื่นเขามีค่าแรงขั้นต่ำเท่าไร เมื่อเทียบกับค่าครองชีพแล้วเป็นอย่างไร เราลองไปเทียบดูกัน
คนไทยมีค่าแรงขั้นต่ำ ตั้งแต่ 330-370 บาท แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ คิดง่าย ๆ ว่า วันละ 350 บาท ถ้าเป็นพนักงานประจำก็จะได้รับทุกวันใน 1 เดือน คิดง่าย ๆ ก็ เดือนละ 10,500 บาท แต่ถ้าเป็นพนักงานรายวัน หยุด สัปดาห์ละ 1 วันจะได้เพียง 9,100 บาทต่อเดือน ถ้าได้เพิ่มเป็น 400 บาทพนักงานประจำจะได้ที่ 12,000 บาท รายวันได้เดือนละ 10,400 บาท ในขณะที่ค่าครองชีพนั้นสูงกว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าได้ออกมาเผยว่าค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนของไทยปี 2566 อยู่ที่ 18,130 บาท ต่อครัวเรือน สูงเกือบเท่าตัวของค่าแรงขั้นต่ำ และจากการสำรวจของสำนักงานสถิติชาติ พบว่ากว่า 40% ของครัวเรือนไทยมีรายได้ไม่เกิน 16,852 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าใช้จ่ายมาก ทำให้คน 40% เหล่านี้ต้องใช้ชีวิตอย่างดิ้นรนและยากลำบาก
หนึ่งในประเทศที่หลายคนมักนำมาเปรียบเทียบรายได้อยู่เสมอคือ สหรัฐอเมริกาที่มีค่าครองชีพต่อเดือนอยู่ประมาณ 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลจาก livingcost.org) คิดเป็นเงินไทยราว 90,000 บาท ส่วนค่าแรงขั้นต่ำในอเมริกา ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ มีตั้งแต่ 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงจนถึง 17 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง เฉลี่ยง่าย ๆ ที่สัก 12 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ทำสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง จะได้เดือนละ 2,720 ดอลลาร์ หรือประมาณเดือนละ 95,200 บาท เรียกได้ว่า เหลืออยู่บ้างแต่ก็ยังพอแหละวะ ทั้งนี้ก็ใช่ว่าจะพอกินกันแบบนี้ทุกคน อย่างที่ว่า รายได้และค่าใช้จ่ายในแต่ละรัฐจะแตกต่างกันไป ซึ่งอเมริกาเป็นประเทศที่กว้างใหญ่มาก มีการปกครองแบบที่แทบจะเป็นอิสระในแต่ละรัฐ ทำให้ก็มีกลุ่มคนที่รายได้น้อยเกินไปหรือค่าใช้จ่ายสูงจนไม่พอกินอยู่เช่นกัน แต่ในภาพรวมก็นับว่า “คาบเส้น”
มาดูอีกหนึ่งประเทศที่คนไทยชอบไปทำงานมาก ๆ อย่าง ออสเตรเลีย ที่นี่มีค่าครองชีพต่อคนประมาณเดือนละ 2,300 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 85,000 บาท และในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำนั้นจะอยู่ที่ชั่วโมงละ 23.23 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง หรือ 882.80 ต่อสัปดาห์ สัปดาห์ละ 38 ชั่วโมง จะตกเดือนละ 3,531.2 ดอลลาร์ เท่ากับประมาณ 130,000 บาท ถือว่าเพียงพอต่อการใช้ชีวิตได้และยังคงเหลือเก็บไปทำอย่างอื่นหรือเป็นเงินออมอยู่ไม่น้อย
ลองมาดูที่สหราชอาณาจักรที่เด็กไทยชอบไปเรียนต่อจนหลายคนก็ทำงานที่นั่นเลย ค่าครองชีพในสหราชอาณาจักรก็แตกต่างกันไปในแต่ละโซนเช่นกัน แต่มีการประมาณไว้ว่าอยู่ที่ 1,730 ปอนด์ต่อคนต่อเดือน เป็นเงินไทยราว 80,000 บาท ในขณะที่มีค่าแรงขั้นต่ำสำหรับคนอายุ 21 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 11.44 ปอนด์ ต่อชั่วโมง ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงจะมีรายได้เดือนละประมาณ 1,830.4 ปอนด์ หรือ ประมาณ 84,900 บาท เรียกได้ว่าโดยรวมก็ยังมีเหลือให้ได้หายใจหายคอกันบ้าง
โดยรวมแล้วจะเห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้เขามีค่าครองชีพที่สูงกว่าไทยจริง แต่ก็มีค่าแรงขั้นต่ำที่รองรับค่าครองชีพได้มากพอ โดยการสำรวจจาก WageIndicator ในเดือนสิงหาคมปี 2022 พบว่าประเทศส่วนใหญ่มีค่าแรงขั้นต่ำไม่มากพอสำหรับค่าครองชีพ โดยประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีค่าแรงขั้นต่ำรองรับค่าครองชีพได้น้อยกว่า 80% เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน แต่ในกลุ่มประเทศที่ว่ามาเป็นกลุ่มที่ค่าแรงขั้นต่ำรองรับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตได้ตั้งแต่ 100-120% ขึ้นไป ทำให้เห็นได้ชัดว่าความเป็นอยู่ของคนในประเทศเรายังบาก และตามหลังอยู่แค่ไหน
แรงงานไทยก็ได้แต่หวังว่าค่าครองชีพในไทยจะไม่บานปลายไปมากกว่านี้ และค่าแรงขั้นต่ำจะขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อในวันข้างหน้าจะใช้ชีวิตได้สบายกายสบายใจกว่าที่เคย ไม่ต้องทำงานแค่เพื่ออยู่รอด แต่เพื่อเติบโตต่อไป สร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองได้แม้จะด้วยค่าแรงขั้นต่ำก็ตาม