ญี่ปุ่นเป็นประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ต้องเผชิญภัยพิบัติร้ายแรงนับครั้งไม่ถ้วน แต่เศรษฐกิจของประเทศยังคงแข็งแรงและฟื้นตัวกลับมาได้ทุกครั้ง
ญี่ปุ่นนับเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เติบโตได้รวดเร็วมากภายในระยะเวลาไม่กี่สิบปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยโดดเด่นในด้านสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมหนักอย่างรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงเทคโนโลยีชั้นสูง และเคมีภัณฑ์ และยังเป็นแหล่งวัฒนธรรมสำคัญระดับโลก ทั้งอาหารอย่าง ราเมนและซูชิ และสื่อบันเทิงมากมาย อย่างมังงะและอนิเมะ
แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น เพราะแม้เศรษฐกิจและประเทศจะเจริญรุ่งเรืองมาก ญี่ปุ่นกลับต้องเผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรงอยู่หลายครั้ง อ้างอิงจากกราฟความเสี่ยงภัยพิบัติในแต่ละประเทศ ญี่ปุ่นจัดว่ามีความเสี่ยงในระดับสีแดงเข้ม หรือเสี่ยงสูงมากอยู่ตลอด เนื่องจากอยู่ในแนววงแหวนแห่งไฟ และที่ผ่านมาญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติแทบทุกรูปแบบ ทั้งอุบัติเหตุนิวเคลียร์ ดินถล่ม พายุไต้ฝุ่น น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด และล่าสุด สึนามิยักษ์และแผ่นดินไหวรุนแรง
โดยที่ผ่านมาทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติขึ้นในญี่ปุ่น สร้างความเสียหายมหาศาลทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน อย่างแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในปี 2011 มีผู้เสียชีวิตกว่า 15,000 คน และสร้างความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 210,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งยังทำให้เศรษฐกิจของประเทศหดตัวลง
เรียกได้ว่าแต่ละครั้งที่ผ่านมาภัยพิบัติเล่นญี่ปุ่นจนเกือบหลับ แต่โดนขนาดนั้น ญี่ปุ่นกลับมาได้อย่างไร
จริง ๆ อาจจะพูดได้ว่า “Abenomics” หรือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจของอดีตนายกฯของประเทศญี่ปุ่น นายชินโซ อาเบะ เข้ามามีบทบาทสำคัญไม่น้อย อย่างตอนแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ปี 2011 เขาได้เข้ามาควบคุมความเสียหาย และเชื่อว่าประเทศญี่ปุ่นจะสามารถก้าวหน้าได้หากสามารถทำให้สิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศทำงานร่วมกัน
จึงเกิดเป็นนโยบายการเงินที่ปรับปรุงใหม่ และการปฏิรูปโครงสร้าง ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเติบโต อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมถูกลงเพื่อช่วยให้ประชาชนและธุรกิจได้มีเครดิตที่ดีขึ้น และสามารถใช้จ่ายที่มากขึ้น มีความต้องการสูงขึ้น และภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
อีกทั้งประสบการณ์คือบทเรียนที่สอนให้ญี่ปุ่นรู้ว่าต้องรับมืออย่างไร ที่ผ่านมาญี่ปุ่นจึงได้ลงทุนมหาศาลกับระบบการป้องกันและระบบเตือนภัยพิบัติ รวมถึงการช่วยเหลือต่าง ๆ ด้วย ตั้งแต่ปี 1980 ญี่ปุ่นทุ่มเงินราวปีละ 6.4 ล้านดอลลาร์ในการพัฒนามาตรการป้องกันภัยพิบัติ รวมถึงประกันภัยแผ่นดินไหวสำหรับธุรกิจ
อย่างช่วงหลังเกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ ญี่ปุ่นก็ได้ลงทุนในการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนอย่างแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนใต้พิภพมาทดแทน
อีกทั้งยังได้เตรียมความพร้อมการรับมือภัยพิบัติที่ดียิ่งขึ้น ทั้งการพัฒนาระบบเตือนภัย แผนอพยพ ศูนย์หลบภัยฉุกเฉิน และแผนการช่วยเหลือมากมาย อย่างในจังหวัดมิยากิก็ได้มีการนำโดรนเข้ามาช่วยในการเตือนภัย รวมถึงสำรวจและส่งข้อมูลให้หน่วยช่วยเหลือ ซึ่งรวดเร็วกว่าการใช้เฮลิคอปเตอร์มาก และไม่ถูกตัดขาดเมื่อเครือข่ายการสื่อสารเสียหาย และยังมีการใช้ Big Data จากข้อมูลสภาพอากาศมากมายมาคำนวณเพื่อวางแผนระวังภัยพิบัติในแต่ละพื้นที่อีกด้วย
นอกจากนี้เม็ดเงินมหาศาลยังถูกใช้ไปกับมาตรการช่วยเหลือที่หลากหลาย ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นก็ช่วยส่วนนี้ในรูปแบบของมาตรการด้านภาษี การลงทุนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติจะจ่ายภาษีที่ถูกลงหรือได้รับการยกเว้นภาษีที่ดิน และอาจมีการสนับสนุนด้านการเงินอื่น ๆ ธุรกิจขนาดเล็กและกลางจึงได้ประโยชน์จากมาตรการแบบนี้เต็ม ๆ และไม่กลัวที่จะกลับมาสร้างตัว ทุกอย่างจึงกลับมาเข้าที่เข้าทางได้ไม่ยาก
และที่สำคัญคือธุรกิจเหล่านี้ไม่เพียงรอดจากภัยพิบัติ แต่ยังสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน มีมากกว่า 52,000 ธุรกิจในญี่ปุ่นที่อยู่มานานมากกว่า 100 ปี
ซึ่งธุรกิจเก่าแก่เหล่านี้เรียกว่า “ชินิเสะ (Shinise)” ซึ่งพวกเขาทำธุรกิจโดยมุ่งเน้นไปที่สินค้าหรือบริการที่เป็นหัวใจหลักของธุรกิจเท่านั้น ไม่ได้หาเงินหลายทาง ทำหลายอย่างเพื่อได้เงินจำนวนมากแบบฉาบฉวย
เช่น “อิจิวะ” ร้านขายโมจิที่อยู่มาตั้งแต่ปี 1000 ที่ยังคงขายแต่โมจิอย่างเดียว ซึ่งมีธุรกิจแบบนี้จำนวนมาก ข้อดีของธุรกิจแบบนี้คือง่ายต่อการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติมากกว่า
ที่มากกว่าเรื่องของการกลับมาทำเงินของภาคธุรกิจแล้วคือ ภาคธุรกิจเองยังมีส่วนช่วยสำคัญที่ทำให้ชุมชนกลับมาเข้มแข็งได้ โดยไม่ได้สนใจเรื่องผลกำไร ซึ่งก็จะเป็นผลดีย้อนกลับมาสู่ภาคธุรกิจอีกครั้ง
ในช่วงภัยพิบัติปี 2011 Lawson แจกจ่ายอาหารกว่า 200,000 มื้อให้กับผู้ประสบภัย ทั้งที่ตัวเองก็ได้รับผลกระทบร้ายแรงเช่นเดียวกัน ทำให้ผู้คนประทับใจ เมื่อกลับมาเปิดให้บริการใหม่ 11 วันให้หลัง ก็มีลูกค้ามาอุดหนุนจนทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นได้อีกครั้ง ซึ่งหลายธุรกิจในญี่ปุ่นอย่าง Yakult, Yamato, Uniqlo ฯลฯ ก็ทำแบบเดียวกัน และอาจส่งผลให้ธุรกิจเหล่านี้คงอยู่ได้อีกนานจนกลายเป็นชินิเสะในอนาคต
นอกจากนี้ในฐานะหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญต่อการค้าและเศรษฐกิจโลก และเกี่ยวโยงกับประเทศสำคัญอย่าง จีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นพันธมิตรที่ดีกับหลายประเทศ จึงไม่แปลกที่จะได้รับการสนับสนุนความช่วยเหลือที่ดีอยู่เสมอมา เพราะถ้าหากญี่ปุ่นฟื้นไม่ได้ ประเทศเหล่านี้และอีกหลายประเทศทั่วโลกจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย
โดยสรุปคือ ญี่ปุ่นมีการวางแผนมาตรการทางเศรษกิจไว้เป็นอย่างดี เอื้อต่อการฟื้นฟูของภาคธุรกิจ และการใช้จ่ายของประชาชน ที่สำคัญคือมีการลงทุนกับการพัฒนามาตรการป้องกันภัยพิบัติอย่างจริงจัง ภาคเศรษฐกิจดั้งเดิมที่มุ่งเน้นแกนหลักเพียงอย่างเดียวก็ทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว รวมถึงหลายธุรกิจใหญ่ช่วยเหลือชุมชนในช่วงภัยพิบัติโดยไม่สนผลประโยชน์ ซึ่งสุดท้ายจะย้อนกลับมาเป็นผลให้ทั้งชุมชนและธุรกิจฟื้นตัวไปพร้อมกันได้อีกครั้ง และญี่ปุ่นเองก็เป็นหนึ่งประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ได้รับการสนับนุนความช่วยเหลือที่ดีมาตลอด ทั้งหมดนี้จึงทำให้ญี่ปุ่นฟื้นตัวกลับมาได้ทุกครั้งแม้จะเจอภัยพิบัติหนักนาบ่อยแค่ไหนก็ตาม
ส่วนสถานการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดตอนนี้ยังคงดำเนินการค้นหาและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตต่อไป อย่างไรก็ร่วมส่งกำลังใจให้ญี่ปุ่นกันด้วยนะครับ