หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความสมหวัง ผิดหวัง ดีใจ เสียใจ หรือ พลิกล็อกถล่มทลาย แล้วแต่ความชอบ ความรักที่เรามีต่อพรรคการเมืองที่เลือก แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การจัดตั้งรัฐบาล และการทำตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ โดยเฉพาะนโยบายประชานิยม และนโยบายที่ให้เม็ดเงินเข้าสู่กระเป๋าประชาชน
แต่สิ่งที่อยากให้พวกเราในฐานะประชาชน และผู้มิสิทธิ์เลือกตั้งได้คำนึง คือ ปัญหาเศรษฐกิจของไทย หลายคนอาจจะบอกว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังสามารถเติบโตได้ 2.7-3.5% ขณะที่การส่งออกปีนี้คาดว่าอาจจะไม่เติบโต หรืออยู่ที่ 0% ตามการประเมินจากหลายสำนักวิจัย
แต่สิ่งที่อยากจะมองและฝากถึง คือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ต้นตอเชิงโครงสร้างและยกระดับรายได้ในระยะยาว ทาง KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจไทยกำลังจะโตช้าลงเรื่อย ๆ ต่อเนื่องมานับ 10 ปี และช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค โดยเกิดจากความสามารถในการสร้างผลผลิตของไทยที่มีแนวโน้มแย่ลงในหลายมิติ ซึ่งชัดเจนว่าเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยเฉพาะนโยบายกระตุ้นอุปสงค์ระยะสั้น เห็นได้จาก
1) การส่งออกที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยเริ่มอ่อนแรงลงจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
2) ภาคการท่องเที่ยวที่ก้าวขึ้นมาเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจสำคัญตั้งแต่ปี 2012 ถึงแม้จะฟื้นตัวได้หลังโควิด แต่ในอนาคตอาจไม่สามารถเป็นกำลังขับเคลื่อนหลักได้ดีเท่าในช่วงที่ผ่านมา
3) ภาคเกษตรไทยที่มีสัดส่วนแรงงานถึง 1 ใน 3 ของประเทศ ประสบกับปัญหาผลิตภาพที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเหมาะสม
KKP Research ต้องการนำเสนอ 8 โจทย์ใหญ่ และ ผลกระทบของเศรษฐกิจไทย ที่ต้องช่วยกันตอบ ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศไทยกำลังเผชิญในปัจจุบันและกำลังทวีความรุนแรงขึ้นในหลายด้าน คือ
– ในปี 2050 แรงงานไทยจะหายไป 11 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของแรงงานปัจจุบัน ผลกระทบ คือ ภาคธุรกิจขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น
– 62% ของผู้ผลิตในสหรัฐฯและยุโรป มีการเริ่มย้ายฐานการผลิต กลับประเทศ หรือ ไปประเทศใกล้เคียง ผลกระทบ คือ หวังพึ่งการลงทุนทางตรงจากต่างชาติได้ยากขึ้น
– ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2.9 ล้านคัน เพิ่มขึ้นกว่า 60 % ในปีที่แล้ว มีสัดส่วนเป็น 12.6% จากยอดขายทั้งหมด แต่รถยนต์ใช้น้ำมันยอดขายลดลง 2.9 ล้านคันในปี 2022 ผลกระทบ คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ดั้งเดิมที่มีสัดส่วนถึง 12% ของ GDP กำลังถูกกระทบ
– บริษัทใหญ่ 5% ในไทย เคยทำรายได้ถึง 85% ของรายได้บริษัททั้งหมด และครองกำไรถึง 60%ของกำไรภาคธุรกิจทั้งหมด ผลกระทบ คือ ธุรกิจใหม่แข่งขันยาก ไม่มีโอกาสเติบโต
– ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยขั้นสุดยอด ในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า คนอายุเกิน 65 ปี มีสัดส่วนเกิน 20% ของจำนวนประชากร ผลกระทบ คือ ภาครัฐรายรับลดลง และ รายจ่ายสูงขึ้น จากโครงสร้างประชากรที่สูงวัยขึ้น
– คะแนน PISA ของไทยในปี 2018 เป็นลำดับที่ 66 จาก 78 ประเทศ ต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ผลกระทบ คือ ทรัพยากรมนุษย์ไม่ได้รับการพัฒนาเต็มที่ ศักยภาพการผลิตตกต่ำ
– ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังจะหมด ไทยต้องนำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้นอีก 3%ของ GDP ผลกระทบ คือ ต้นทุนค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้น จากการพึ่งพาการนำเข้า LNG ที่จะเพิ่มสูงขึ้น
– ไทยติดอันดับ 3 จาก 48 ประเทศ ที่จะถูกกระทบจาก Climate Change มากที่สุด ผลกระทบ คือ อุปสรรในการใช้ชีวิต และปัญหาสุขภาพของคนไทยในระยะยาว
หากไทยยังไม่มีคำตอบ หรือ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้ง 8 ประเด็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทย จะมีผลลัพธ์ดังต่อไปนี้
ผลลัพธ์ที่ 1 คนไทยขาดความมั่นคงในรายได้ รายรับโตไม่ทันกับรายจ่าย เป็นหนี้เรื้อรัง ความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลงทั้งในภาคการผลิต การส่งออก การท่องเที่ยว และภาคการเกษตร จะเป็นปัจจัยที่ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยโตช้าลงเรื่อย ๆ ในขณะที่รายจ่ายของคนไทยมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเร็ว จากทั้งเงินเฟ้อที่อาจอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีตจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจและการค้าโลก ค่าใช้จ่ายราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการพึ่งพาการนำเข้า LNG เพื่อผลิตไฟฟ้ามากขึ้น
ผลลัพธ์ที่ 2 โอกาสที่คนที่เกิดมาจนจะถีบตัวเองขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางหรือคนรวย จะเป็นไปได้ยากขึ้นมาก ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และสินทรัพย์รุนแรงเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกอยู่แล้ว โดยกลุ่มคนรวยมีรายได้ที่เติบโตเร็วกว่ากลุ่มคนรายได้น้อยมาโดยตลอด การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มโตได้ช้าลงในอนาคต ปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านคุณภาพการศึกษา การผูกขาดทางธุรกิจของทุนใหญ่ จะทำให้โอกาสของคนรายได้น้อยในการเติบโตและสร้างความมั่นคงในชีวิต ครอบครองสินทรัพย์พื้นฐาน เช่น ที่ดิน ที่อยู่อาศัย เป็นไปได้ยากขึ้นมากในอนาคต
ผลลัพธ์ที่ 3 คนไทยต้องแบกรับภาระภาษีมากขึ้น สวัสดิการจากภาครัฐอาจต้องลดลง จากภาระการคลังของภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ และค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ ในขณะที่รายรับภาครัฐจะลดลงจากฐานภาษีที่แคบลงตามการลดลงของคนวัยทำงาน ระดับหนี้สาธารณะที่อาจแตะขอบบนของเพดานได้ จะทำให้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายภาครัฐอาจจำเป็นต้องลดสวัสดิการของประชาชนลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย หรือเก็บภาษีเพิ่มขึ้นกับผู้จ่ายภาษีในระบบเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้ของภาครัฐให้ทันกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
ผลลัพธ์ 4 ชีวิตเปื้อนฝุ่น ปัญหาสุขภาพ และข้อจำกัดในการใช้ชีวิต ปัญหามลพิษของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากฝุ่น PM 2.5 ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากจะสร้างข้อจำกัดในการใช้ชีวิตของผู้คนแล้ว ยังเป็นสาเหตุให้คนไทยเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 14% กระทบต่อพัฒนาการของเด็กในหลายมิติ และมีแนวโน้มส่งผลกระทบกับอาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น หาบเร่แผงลอย ก่อสร้าง มอเตอร์ไชค์รับจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรายได้น้อย จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากฝุ่นได้ยาก เป็นอีกหนึ่งปัจจัยซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
ดังนั้น 8 คำถามที่ KKP Research ตั้งเอาไว้ต่อนโยบายเศรษฐกิจของไทย และฝากให้ทั้งรัฐบาลไทย รวมทั้งคนไทยทุกคนได้ช่วยหาคำตอบคือ
– ไทยจะหาแรงงานมาทดแทนแรงงานที่หายไปจากโครงสร้างประชากรได้อย่างไร ?
– การส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม กระจายโอกาสให้ธุรกิจรายเล็ก จะมีแนวทางการแก้ปัญหาอย่างไร ?
– รัฐบาลจะเตรียมรับมืออย่างไรกับภาระการคลังที่จะเพิ่มขึ้นจากสวัสดิการผู้สูงอายุและสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ?
– ไทยจะแก้ปัญหาการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน และต้นทุนค่าพลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาวได้อย่างไร ?
– เมื่อต่างชาติเริ่มย้ายฐานกลับประเทศ ไทยมีความสามารถอะไรที่จะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติทางตรง หรือ FDI เพื่อพัฒนาการผลิตในประเทศ? หากโลกภิวัฒน์ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ไทยจะหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจใดมาทดแทนการส่งออก และเสริมการท่องเที่ยว ?
– ไทยจะพัฒนาและสร้างแรงจูงใจให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ได้อย่างไร?
– ไทยจะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และปรับปรุงทักษะแรงงาน ให้ตรงกับความต้องการในโลกยุคใหม่อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร ?
– การแก้ปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน การรับมือกับผลกระทบจาก Climate Change ต่อเศรษฐกิจ และกลยุทธ์การเติบโตที่คำนึงถึงผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม ?
น่าสนใจว่า ในคำถามทั้ง 8 ข้อนี้ KKP Research มองว่า จะนับเป็นการเสียโอกาส โดยเฉพาะในเมื่อนโยบายที่อาจแก้ปัญหาได้ตรงจุด บ่อยครั้งก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินภาครัฐมากเท่ากับวิสัยทัศน์ การมีเป้าหมายที่ชัดเจน และความกล้าทางการเมือง ตัวอย่างเช่น การปฏิรูปกฎหมายแรงงาน การแก้กฎหมายเพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและลดการผูกขาด การให้ความคุ้มครองด้านสิทธิทางปัญญาที่ได้มาตรฐานสากล การปฏิรูประบบการศึกษา การปฏิรูปโครงสร้างภาษี
แต่สำหรับในทางการเมือง เข้าใจว่า ระยะเวลาการเมือง 4 ปี ที่มีความไม่แน่นอนสูง การทำผลงานทางการเมืองที่ให้เห็นผลระยะสั้นและรวดเร็ว จึงสำคัญกว่าการแก้ไขปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องใช้เวลานานกว่า ดังนั้น ขอให้ปัญหาเหล่านี้ เป็นคำถามที่มีคำตอบ เพราะไม่เช่นนั้น ประเทศไทยกำลังจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และอาจใช้เวลานานกว่าที่เราคิดที่จะกลับมา หรือ ไม่ได้อีกเลย