ในช่วงนี้มีทั้งข่าวดีและข่าวช็อคสำหรับพนักงาน ฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor Co.) เพราะในขณะที่ฟอร์ดประเทศไทย แจกโบนัส ส่งท้ายปี 6.03 เดือน แถมเงินพิเศษ 28,000 บาท พร้อมขึ้นเงินเดือน 3.5% ในฝั่งของฟอร์ด มอเตอร์ที่ยุโรปเตรียมปลดพนักงานกว่า 4,000 ตำแหน่ง เพิ่มเติมจาก 3,800 ตำแหน่งที่เคยประกาศไว้เมื่อต้นปี เนื่องจากกระแสการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าลดลงผิดคาด กระทบต่อยอดขายรถไฟฟ้าที่ฟอร์ดเริ่มหันมาผลักดันอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเจอแบรนด์จีนที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเข้ามาแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม จนทำให้ผลกำไรลดลงและหุ้นของฟอร์ดยังอยู่ในขาลงอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มคนที่เดือดร้อนหนักจากเรื่องนี้คงไม่ใช่ใครอื่นนอกจากเหล่าพนักงานของฟอร์ดที่ต้องสูญเสียงานไป แต่นี่ก็ชวนให้นึกถึงยุคเริ่มต้นของฟอร์ด ที่นอกจากจะปฏิวัติการผลิตรถยนต์ในระดับแมสโปรดักชัน (Mass Production) จนสามารถผลิตรถยนต์ได้ง่ายขึ้นและราคาถูกลงแล้ว ฟอร์ดยังเป็นองค์กรที่ปฏิวัติรูปแบบการทำงานและคุณภาพชีวิตของแรงงานในตอนนั้นอีกด้วย
การปฏิวัติแรงงานของฟอร์ดเคยถึงกับถูกเล่าว่าเขาจ่ายค่าจ้างสูงกว่าที่อื่นสองเท่าเพื่อให้พนักงานสามารถซื้อรถที่พวกเขาประกอบได้ ซึ่งมันเป็นทั้งเรื่องที่ฮือฮาและบ้าบอมาก ๆ ในเรื่องเดียวกัน แต่ความจริงเบื้องหลังมันเป็นอย่างนี้
ปี 1914 ฟอร์ด มอเตอร์ ประกาศรับสมัครงาน โดยเสนอค่าตอบแทนสูงสุดถึง 5 ดอลลาร์ (รวมโบนัสและเงินพิเศษอื่น ๆ ตามเงื่อนไข) ซึ่งนับว่าสูงมากในตอนนั้น เพราะงานโรงงานที่อื่น ๆ จ่ายกันแค่ประมาณ 2.25 ดอลลาร์เท่านั้น จึงดึงดูดแรงงานฝีมือดีจำนวนมากให้เข้าไปทำงานกับฟอร์ด
แต่เหตุผลของการเสนอค่าจ้างที่สูงกว่าที่อื่นเป็นเท่าตัวไม่ใช่เพราะฟอร์ดต้องการให้พนักงานมีเงินมากพอซื้อรถยนต์ที่พวกเขาผลิตเอง โดยคาดหวังให้เป็นวิธีการเผยแพร่ความนิยมของรถยนต์ เพื่อให้บริษัทสามารถขายรถได้มากขึ้นแต่อย่างใด การทำแบบนั้นหากพิจารณาด้วยตรรกะทางด้านการตลาดและบัญชี มันเป็นอะไรที่เสี่ยงไม่คุ้มเสียเลย และรายได้จากยอดขายก็ไม่สามารถนำมาชดเชยค่าใช้จ่ายเพิ่มส่วนนี้ เต็มที่ก็แค่พอเสมอตัว
ลองคิดตามแบบนี้ ในปี 1913 ฟอร์ดจ้างงานราว 40,000 คน และได้อยู่ทำจริงแค่ 14,000 คน ในปี 1914 ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับการขึ้นค่าจ้างทั้งปีรวมกว่า 9 ล้านดอลลาร์ แต่หากพนักงานทั้งหมดซื้อรถที่ราคาถูกที่สุดในปีนั้น รุ่น รันอะเบาต์ (Runabout) ราคาคันละ 440 ดอลลาร์ จะได้ยอดขายกลับมารวมแค่ 6 ล้านดอลลาร์ หรือต่อให้ซื้อรุ่นแพงสุดอย่าง คูป (Coupe) ราคาคันละ 750 ดอลลาร์ จะได้ยอดขายรวม 10 ล้าน กำไรแค่ล้านกว่าเท่านั้นเอง
ในความเป็นจริงแล้ว พนักงานเหล่านี้ไม่มีทางจะหอบเงินราวครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งปีมาซื้อรถในปีเดียวอยู่แล้ว และฟอร์ดเองยังคงต้องจ่ายค่าแรงสูงลิ่วนี้ต่อไปอีกหลายปี แผนการนี้จึงไม่ใช่วิถีที่คนเก่งสติดีอย่าง เฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford) ผู้ก่อตั้งจะเลือกใช้แน่นอน
เหตุผลจริง ๆ ที่ฟอร์ดขึ้นค่าแรงสองเท่าคือ ความต้องการลดอัตราการลาออกของพนักงาน อย่างที่บอกไปว่าก่อนหน้าฟอร์ดจะขึ้นค่าแรง บริษัทจ้างงานหลายหมื่นอัตรา แต่เหลือใช้จริงเพียงแค่ 14,000 คน นั่นหมายความว่ามีอัตราการลาออกสูงมาก
นั่นเป็นเพราะความไม่คุ้นชินกับระบบสายพานประกอบรถยนต์ (Assembly Line) นวัตกรรมที่ฟอร์ดเริ่มนำมาใช้กับการผลิตรถยนต์ระดับแมสโปรดักชัน แม้จะทำให้การผลิตเป็นระบบมากขึ้น หนึ่งคนทำหนึ่งหน้าที่ประกอบทีละชิ้นส่วนต่อ ๆ กัน ต่างจากการผลิตรถยนต์ยุคก่อนหน้าที่ช่วยกันประกอบทีละคันเหมือนงานฝีมือ และยังอาศัยความรู้และการฝึกสอนงานไม่มากก็สามารถเริ่มงานได้ แต่ความกดดันที่ตามมาคือการเร่งรัดการประกอบในแต่ละขั้นตอนตามเวลาอย่างไม่ยืดหยุ่น เสียงดัง และยังเสี่ยงอันตรายจากการตามเก็บงาน สุดท้ายจึงพากันลาออกไปทำที่อื่น
การสูญเสียแรงงานอยู่ตลอดเวลา และต้องคอยฝึกสอนงานให้คนใหม่ ๆ นับเป็นค่าใช้จ่ายและค่าเสียโอกาสมหาศาลมหาศาลของบริษัท ฟอร์ดจึงตัดสินใจเพิ่มค่าจ้างเพื่อให้สามารถดึงดูดแรงงานฝีมือดีให้ทำงานอยู่กับบริษัทได้ และมันก็คุ้มค่ามากกว่าให้มีคนวนเข้าเวียนออกอยู่เรื่อย ๆ
นอกจากนี้ เรื่องที่สำคัญมากกว่าการขึ้นค่าจ้างของฟอร์ดในการปฏิวัติแรงงานคือ การมอบสุดสัปดาห์และเวลากลับบ้านเร็วให้พนักงาน ด้วยการออกแบบชั่วโมงและวันทำงานใหม่แบบที่มีอิทธิพลต่อการทำงานทั่วโลก ซึ่งเรายังคงใช้กันจนถึงทุกวันนี้ จากเดิมที่แรงงานอุตสาหกรรมทำงานกันวันละ 9 ชั่วโมง วันละ 2 กะ 6 วันต่อสัปดาห์ นั่นหมายความว่าในแต่ละวันโรงงานจะหยุดชะงักอยู่ 6 ชั่วโมง หรือ 2 ใน 3 ของหนึ่งกะ ฟอร์ด มอเตอร์จึงได้ปรับชั่วโมงการทำงานใหม่เป็นวันละ 8 ชั่วโมงเพื่อเพิ่มกะที่สามเข้ามาได้ โรงงานมีการผลิตต่อเนื่องตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง และลดจำนวนวันทำงานเหลือแค่ 5 วัน
หากเทียบกัน วันละ 9 ชั่วโมง 2 กะ 6 วัน จะได้ชั่วโมงการผลิตต่อสัปดาห์ 108 ชั่วโมง กับ วันละ 8 ชั่วโมง 3 กะ 5 วัน จะได้ชั่วโมงการผลิตต่อสัปดาห์รวม 120 ชั่วโมง มากกว่าแบบแรกเกินหนึ่งกะเสียอีก
การปรับโครงสร้างชั่วโมงการทำงานใหม่และเพิ่มค่าตอบแทนสูงขึ้นส่งผลให้พนักงานมีเงินและเวลามากขึ้น ทำงานน้อยลง ในขณะที่ฟอร์ดก็ได้จ้างงานเพิ่มอย่างมีคุณภาพและอัตราการลาออกต่ำลง ได้ชั่วโมงการผลิตมากขึ้น สามารถผลิตรถยนต์ได้มากกว่าการทำงานแบบเก่า เรียกได้ว่าชนะทั้งสองฝ่าย
นโยบายของฟอร์ดนับว่าแปลกใหม่และได้ผลดีมากในยุคนั้น และมีอิทธิพลต่อภาคอุตสาหกรรมในยุคนั้นอย่างมาก หลายบริษัทมีการนำแนวทางของฟอร์ด ที่เรียกกันว่า “ฟอร์ดิสม์ (Fordism)” ไปให้กับการผลิตในระดับแมสโปรดักชันของตัวเอง และยังส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน