หลังจากที่บริษัท Facebook หนึ่งผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก ได้ออกมาประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘Meta’ พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ว่า ในอนาคตข้างหน้า ธุรกิจที่ Meta มุ่งเน้นคือการให้บริการทางด้านธุรกิจโลกเสมือน หรือ ‘Metaverse’ และมีการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าจะทุ่มทรัพยากรอย่างเต็มที่ในการพัฒนาบริการโลกเสมือน เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานในวงกว้างทั่วโลกได้
.
ซึ่งทันทีที่ Meta ได้ประกาศถึงแนวทางในการทำธุรกิจ ส่งผลให้แวดวงคริปโตเคอร์เรนซี่ และนักพัฒนาบล็อกเชนมีความตื่นตัวกับการประกาศดังกล่าว เพราะเชื่อว่าการเกิดขึ้นของจักรวาลโลกเสมือน จะเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีการใช้งานอินเตอร์เน็ตรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Web 3.0 รูปแบบของอินเตอร์เน็ตที่มีบล็อกเชนเป็นกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจส่งผลให้มูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ มีการปรับตัวขึ้นอย่างมากมายมหาศาลในอนาคต
.
Creative Investment Space จึงอยากจะเล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์การใช้งานอินเตอร์เน็ตจนกว่าจะมาถึงยุคของ Metaverse หรือ Web 3.0 นั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด และนักลงทุนจะสามารถคว้าโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อย่างไรได้บ้าง
การเดินทางจาก Web 1.0 สู่ Metaverse
.
ในยุคปฐมกาลของการใช้งานอินเตอร์เน็ตนั้น เราเรียกช่วงแรกเริ่มนี้ว่ายุค Web 1.0 หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ การมาถึงของสิ่งที่เรียกว่า World Wiide Web หรือ WWW นั้นเปิดให้ผู้คนสามารถที่จะสร้างเว็บไซต์ส่วนตัวของตนเองได้ และเจ้าของเว็บไซต์ดังกล่าวสามารถที่จะอัพโหลดข้อมูลอย่างข้อความ หรือวิดีโอต่างๆ ขึ้นไปบนเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นได้
.
ทำให้ในยุคแรกเริ่มนั้นเป็นยุคที่ผู้คนสามารถเพียงที่จะดาวน์โหลด หรือเข้าไปอ่านคอนเทนต์บนเว็บไซต์เพียงเท่านั้น แต่จะไม่มีการโต้ตอบกันระหว่างผู้ใช้งานอย่างอิสระเสรีมากนัก ในยุค Web 1.0 อินเตอร์เน็ตจึงเป็นเพียงเรื่องของการสื่อสารทางเดียวระหว่างผู้ใช้งาน
.
ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้นข้อจำกัดในการสื่อสารระหว่างผู้ใช้งานก็ได้ถูกพังทลายลงไป เมื่อเหล่านักพัฒนาผู้สร้างเว็บได้มุ่งเน้นไปในเรื่องของ การสร้างคอนเทนต์จากผู้ใช้งานทุกคน (User-Generated Content) ไม่ใช่เพียงแค่จากผู้ดูแลเว็บไซต์เท่านั้น อีกทั้งยังมุ่งเป้าไปในการสร้างประสบการณ์ของผู้ใช้ เพื่อให้ผู้ใช้งานใช้เวลากับตัวเว็บไซต์ให้นานยิ่งขึ้นกว่าเดิม จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า โซเชียลเว็บ หรือยุคของ Web 2.0 นั่นเอง
.
การเกิดขึ้นของแอพพลิเคชั่นมือถือประเภทโซเชียลมีเดีย ที่ไม่เพียงให้ผู้ใช้งานได้อ่าน หรือดู แต่ยังสามารถอัพโหลด ข้อความ,ภาพ,เสียง หรือวิดีโอได้ อย่างเช่น YouTube, Twitter, หรือแม้แต่บริษัทในเครือ Meta อย่าง Facebook และ Instagram ที่บางแพลตฟอร์มมีการให้ผลตอบแทนแก่ผู้ใช้งานที่สร้างคอนเทนต์ที่ดึงดูดผู้คนให้เข้ามาอยู่กับแพลตฟอร์มได้ แต่ด้วยความนิยมของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่เหล่านี้นี่เอง ที่ดึงดูดผู้ใช้งานให้มาใช้งานแพลตฟอร์มจนเกิดเป็นปัญหา เพราะในเมื่อแทบทุกภาคส่วนเข้ามาใช้งาน ทำให้อำนาจทุกอย่างนั้นอยู่ในมือของตัวแพลตฟอร์มที่สามารถควบคุมความเป็นไปของแพลตฟอร์มได้อย่างเต็มรูปแบบ
.
แต่ในปัจจุบันเรามีสิ่งที่เรียกว่าบล็อกเชน และเทคโนโลยีกระจายศูนย์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของยุค Web 3.0 หรือ ‘Decentralize Web’ ที่การใช้งานเว็บไซต์นั้นจะมีการแชร์ฐานข้อมูลร่วมกันทั้งเครือข่าย อีกทั้งยังให้คนในชุมชนช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล จึงทำให้ไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางอย่างผู้ควบคุมแพลตฟอร์ม
.
ซึ่งด้วยแนวคิดนี้เองที่ทำให้ผู้คนเชื่อมั่นว่าบล็อกเชนจะกลายมาเป็นกระดูกสันหลังของเทคโนโลยี Web 3.0 และสร้างสิ่งที่เรียกว่าโลกเสมือนขึ้นมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ การประกาศของ Meta ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในรูปแบบของ Web 2.0 ต้องการจะมุ่งเน้นในการให้บริการ Metaverse จึงเป็นจุดที่น่าจับตามองว่าหรือนี่จะเป็นก้าวสำคัญของการมุ่งสู่ยุคสมัย Web 3.0 อย่างเต็มตัว
โอกาสของนักลงทุนใน Web 3.0 และ Metaverse
.
หากว่าในอนาคตเทคโนโลยี Web 3.0 นั้นถูกใช้งานได้อย่างแพร่หลายแล้วล่ะก็ ในปัจจุบันนักลงทุนควรจะเตรียมตัวอย่างไรเพื่อหารายได้จากการเกิด Mass Adoption ในอนาคตได้บ้าง จาก ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ โดยเฉพาะกับ ‘อสังหาริมทรัพย์ใน Metaverse’
.
แม้ว่าปัจจุบันกระแสของสินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง แต่ในเรื่องของการใช้งานต้องพูดว่ายังไม่สามารถเรียกว่ามีการใช้งานอย่างแพร่หลาย โดยจากการเก็บข้อมูลของเว็บไซต์ Triple พบว่าสัดส่วนของผู้ถือครองคริปโตฯ ของประชากรแต่ละประเทศนั้มีเพียงแค่ 2-12% เท่านั้น ทำให้การเติบโตของมูลค่าตลาดของคริปโตฯ ยังคงสามารถที่จะเติบโตได้อีกมากมาย ซึ่งด้วยหาก Web 3.0 เกิดขึ้นจริง นั่นหมายถึง บล็อกเชน และคริปโตฯ จะเกิดการใช้งานในรูปแบบของ Mass Adoption อย่างเต็มตัว
.
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นประเด็นที่น่าจับตามองคือ ‘ที่ดินในโลกเสมือน’ เพราะหาก Metaverse ถูกสร้างบนบล็อกเชนแล้วล่ะก็ จะไม่มีเจ้าของแพลตฟอร์มมาคอยจัดการพื้นที่ต่างๆ อีกต่อไป ทำให้ผืนที่ดินใน Metaverse นั้นสามารถที่จะจับจอง และเป็นเจ้าของได้จากการสร้างให้อยู่ในรูปแบบของ NFT
.
โดย ณ ปัจจุบันนั้น ที่ดินใน Metaverse นั้นมีราคาที่สูงลิ่วเกินกว่าทีใครหลายคนคาดไว้นัก โดยทีมงาน Republic Realm ผู้ที่เชี่ยวชาญในการออกแบบที่ดินในโลกเสมือนได้ทำการซื้อที่ดินจากแพลตฟอร์ม The Sandbox ไปในราคา 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อที่จะออกแบบพื้นที่ให้ผู้ใช้งานคนอื่นสามารถเข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่ที่พวกเขาสร้างขึ้นมา
.
การจับตาดูราคาของที่ดินในแพลตฟอร์มโลกเสมือนต่างๆ อย่าง The Sandbox, Decentraland หรือ Gala จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเก็งกำไรสำหรับโอกาสที่จะเข้ามาในอนาคต แต่ดังที่เคยบอกไว้อยู่เสมอว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นเรื่องที่ใหม่ และต้องได้รับกาารพิสูจน์อีกมาก นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน และลงทุนตามความเสี่ยงที่ตนเองรับได้
Reference:
https://www.weforum.org/agenda/2022/03/metaverse-real-estate-prices-boom/