#Business of Science : เปลี่ยนงานวิจัยจากขึ้นหิ้งมาขึ้นห้าง
ผลิตภัณฑ์ที่แอปเปิลเปิดตัวในงาน WWDC 2023 แล้วชาวโลกรู้สึก “ว้าว” มากที่สุดก็คือ Vision Pro แว่นตาที่มีหน่วยประมวลผลสุดเทพสองชิ้นเป็นส่วนประกอบหลัก พร้อมกับเซ็นเซอร์สุดล้ำหลายสิบชิ้นรอบอุปกรณ์
.
หลายคนคงทราบแล้วว่ามันคืออุปกรณ์ Virtual/Augmented/Mixed/Extended Reality หรือ “ความจริงผสมผสาน” โดยที่ผู้ใช้ Vision Pro จะ “เห็น” สิ่งที่อุปกรณ์ฉายสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าจองานเอกสาร วิดีโอคอล หรือหน้าต่างอื่น ๆ ซ้อนทับกับสิ่งแวดล้อมรอบข้าง แปลว่าผู้ใช้ Vision Pro จะไม่ขาดซึ่ง “ปฏิสัมพันธ์” กับมนุษย์รอบข้างไป
.
เราจะไม่พูดถึง tech spec เทพ ๆ ของอุปกรณ์ แต่เราจะมาดูกันว่าการเกิดขึ้นของ Vision Pro นั้นมีความหมายอย่างไรกับตลาด consumer products ที่เกี่ยวกับ VR/AR/MR/XR รวมไปถึงสิ่งที่เราอาจจะเห็น Vision Pro ทำได้ในอนาคต
.
อุปกรณ์ VR/AR ที่อยู่ในรูปแบบเดียวกันหรือคล้ายกับ Vision Pro นั้นมีมาก่อนไม่น้อย ตัวที่เคยเป็นที่ฮือฮาและโด่งดังไปทั่วโลก แต่ล้มเหลวไม่เป็นท่าคือ Google Glass ส่วนที่กำลังติดตลาด แต่ก็ยังไม่ได้แพร่หลายเหมือนกับมือถือหรือเครื่องเกมดัง ๆ ก็มี Quest จาก Meta (บริษัทแม่ของ Facebook) และ HoloLens จาก Microsoft
.
Google Glass อยู่ในตลาดมานานที่สุด เบื้องแรกที่เปิดตัวมานั้นคอนเซ็ปต์ของอุปกรณ์ดูดีและล้ำหน้ามาก ทาง Google คิดว่าผลตอบรับจะดีมาก แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับความนิยมแบบที่คิดเอาไว้ ผ่านไปหลายปีจึงเหลือแต่ลูกค้าเป็นบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้น ท้ายที่สุด Google Glass Enterprise ก็จำต้องปิดตัว เลิกขายอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และจะเลิกบริการหลังการขายในเดือนกันยายน 2023 นี่เอง
.
Quest นั้นแม้ว่าจะเป็นผู้นำด้วยสัดส่วนในตลาดสูงที่สุด คือ กว่า 80% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 และกำลังจะออกรุ่นใหม่เร็ว ๆ นี้ แต่ก็มีแอปให้ใช้ไม่มาก ส่วนใหญ่เน้นเกมเป็นหลัก และด้วยเกมนี่เองที่ทำให้ Quest ยังเป็นผู้นำตลาดแว่น AR/VR อยู่ ราคาก็พอจับต้องได้สำหรับลูกค้าทั่วไป คือ $550 สำหรับรุ่นเริ่มต้น และ $1,000 สำหรับรุ่นโปร
.
HoloLens ค่อนข้างต่างออกไปจากยี่ห้ออื่นที่เน้นลูกค้าระดับบริษัทตั้งแต่แรก ด้วยราคาเริ่มต้นที่แพงเท่ากับ Vision Pro คือ $3,500 และราคาแพงที่สุดอยู่ที่ $5,199 ก็ยิ่งบ่งบอกว่า Microsoft เน้นตลาดที่จำเพาะกับการทำงานเป็นหลัก เช่น เพื่อเสริมความสามารถในการผลิต ลดเวลาการฝึกทำงานที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูง และแสดงผลการออกแบบเพื่อซ้อนทับกับสถานที่จริง เป็นต้น
.
ตัวอย่างที่กูเกิลเคยโชว์เคสมาก่อนก็คือใช้กับการประกอบเครื่องบินของบริษัท Boeing ซึ่งมีขั้นตอนเป็นระดับแสนขั้นตอน เพื่อช่วยให้พนักงานประกอบเครื่องบินได้รวดเร็วและลดความผิดพลาดในการผลิต และการประกอบเครื่องจักรกลการเกษตรขั้นสูงยี่ห้อ AGCO
.
แล้วอะไรที่ทำให้แอปเปิลต่างออกไปจากเจ้าใหญ่ที่มาก่อน?
.
แอปเปิลเป็นบริษัทที่ไม่ได้เข็นอะไรออกมาขายแบบไร้ทิศทาง แต่มีการวางแผนพัฒนา “ตลาดใหม่” ไปพร้อมกัน ตัวอย่างที่เคยประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามก็มี
– เครื่องเล่นเพลง iPod ที่มาร่วมกับแอปพลิเคชั่นขายและฟังเพลง iTunes
– โทรศัพท์ iPhone ที่มาพร้อมกับ AppStore
– นาฬิกา Apple Watch ที่เขย่าตลาด wearable ด้วยการเชื่อมกับ AppStore
Vision Pro ก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีผู้เล่นในตลาดอยู่ก่อนแล้ว เมื่อแอปเปิลอยากจะเข้าสู่ “ตลาด” ของ VR/AR ขึ้นมา ก็ช่วงชิงจังหวะโดยการปล่อยอุปกรณ์ออกมาก่อน เพื่อให้ลูกค้าได้ลองนำไปใช้งาน
.
แต่สิ่งที่ทำให้สินค้าต่าง ๆ ของแอปเปิล มีความหลากหลาย ติดตลาด และเป็นที่นิยมทั้งโลก คือ Operating System (OS) หรือระบบปฏิบัติการที่จำเพาะกับอุปกรณ์ และ Software Development Kit (SDK) ที่ออกแบบมาให้ใช้งานง่ายเพื่อนักพัฒนาซอฟท์แวร์ หรือแม้แต่ลูกค้าผู้ใช้อุปกรณ์สามารถพัฒนาซอฟท์แวร์ หรือ “แอป” ต่าง ๆ ตามที่ต้องการ และนำออกขายได้อย่างเป็นระบบพร้อมแบ่งสันปันส่วนรายได้ให้ผู้พัฒนาแอปด้วย
.
iPhone ก็มี iOS ส่วน Apple Watch ก็มี Watch OS ที่จำเพาะกับอุปกรณ์ และแต่ละ OS ก็ยังมี SDK เป็นของตัวเองด้วย แน่นอนว่า Vision Pro ก็มี Vision OS และ SDK ด้วยเช่นกัน แต่ SDK ตัวใหม่นี้จะออกมาให้ใช้ในเดือนกรกฎาคม 2023
.
นี่คือสิ่งที่ทำให้ Vision Pro แตกต่างจากอุปกรณ์ VR/AR/MR/XR ของบริษัทอื่นนั่นเอง
.
โชว์เคสต่าง ๆ ที่ทั้ง Google Glass, Quest และ HoloLens เข็นออกมามีอยู่ไม่น้อย ทั้งการผลิตขั้นสูงเช่น ผลิตเครื่องยนต์เครื่องบิน Rolls-Royce ออกแบบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ที่ซับซ้อนของ Volvo, Toyota, Nissan เป็นอุปกรณ์ช่วยอบรม หรือใช้โชว์การออกแบบภายในซ้อนทับกับสถานที่จริง หรือโชว์โมเดลของงานออกแบบใด ๆ เป็นสิ่งที่ออกมาจากบริษัทที่ขายแว่นตา AR/VR หรือจากการร่วมมือแบบเข้มข้นระหว่างบริษัทที่ผลิตแว่นตากับบริษัทที่ต้องการใช้แว่นตา
.
แล้ว Vision Pro จะมีอะไรใหม่ ๆ มาให้สาวกแอปเปิลได้ใช้บ้าง? คำตอบอาจจะดูมักง่ายไปหน่อยก็คือ “ไม่รู้เหมือนกัน”
.
แต่นี่แหละเป็นคำตอบที่สมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับแอปเปิลและสำหรับสาวกแอปเปิล ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
.
แอปเปิลนั้นเชี่ยวชาญการออกแบบ SDK ให้ใช้งานง่าย เห็นได้จากตัวอย่างแพลตฟอร์มที่แอปเปิลสร้างขึ้นมาในอดีต ทั้ง iPhone-iOS, Apple Watch-Watch OS และ Apple Macbook/Mac series-MacOS ที่มาพร้อมกับ SDK แยกโดยเฉพาะ คนทั่วไปที่สนใจก็สามารถสร้างแอปได้ไม่ยากเย็นแม้จะมีความรู้ในการเขียนโปรแกรมแค่พื้นฐานก็ตาม นั่นหมายความว่าแอปเปิลไม่ได้มองว่าแอปเปิลรู้ดีที่สุดว่าลูกค้าต้องการอะไร สิ่งที่แอปเปิลต้องทำมีเพียงแค่สร้างสินค้าคุณภาพดีพร้อมเครื่องมือเอาไว้ให้เท่านั้น ลูกค้าและสาวกของแอปเปิลจะเป็นคนคิดและสร้างสรรค์มันขึ้นมาเอง
.
แต่ทั้ง Google Glass, Qeust และ HoloLens ก็มี SDK เหมือนกัน ฐานลูกค้าก็มี แต่ทำไมแว่นตาของทั้งสามเจ้าก็ยังไม่ได้มีตลาดใหญ่แบบเดียวกับ iPhone หรือ Android Phone?
.
ต้องทดไว้ในใจว่าตัวอุปกรณ์ที่อยู่ในแว่น AR/VR ที่ผ่านมานั้น Spec อาจจะไม่ได้เทพแบบเดียวกับของ Vision pro และก็ต้องไม่ลืมด้วยว่าการจะผลิตแอปที่จำเพราะกับอุปกรณ์ในช่วงแรก ๆ ที่ผลิตภัณฑ์ออกมานั้น ถ้าไม่ได้มีคอมมูนิตี้แบบเดียวกับที่ Apple สร้างเอาไว้ ก็ไม่มีทางที่จะสร้างแรงส่งให้แว่น AR/VR ยี่ห้อต่าง ๆ ติดตลาดขึ้นมาได้
.
เรายังต้องตามดูกันต่อไปว่า Vision Pro จะมา “เขย่า” วงการ AR/VR ได้อย่างที่เราคาดหวังกันหรือไม่ แล้วถ้าไม่ จะมีเจ้าไหนกล้าลงมาเล่นในสนามนี้อีก
เขียนโดย ยสวัต ป้อมเย็น
•
สามารถติดตามความเคลื่อนไหว connect the dots ได้ที่
Facebook : www.facebook.com/th.connectthedots
YouTube : www.youtube.com/@th.connectthedots
และทาง Spotify Podcast : connectthedotsth
#Connectthedots
•
ที่มา:
https://www.counterpointresearch.com/global-xr-ar-vr…/
https://www.google.com/glass/start/
https://www.meta.com/quest/
https://www.microsoft.com/en-us/hololens
https://www.apple.com/apple-vision-pro/