หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา และพรรคก้าวไกล ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ1 ซึ่งโดยปกติแล้ว ตลาดหุ้นไทยมักจะตอบสนองต่อข่าวดี เช่น การมีรัฐบาลใหม่ การได้ประโยชน์จากนโยบายของพรรคการเมือง หรือ กลุ่มทุนที่สนับสนุนหรือใกล้ชิดพรรค หรือ นักการเมือง
•
แต่เมื่อพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง ปรากฎว่า ตลอด1สัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 15-19 พฤษภาคม 2566 ดัชนีตลาดหุ้นไทย หลุด 1,500 จุด ปรับลดลง 46.46 จุด มูลค่าตลาด หรือ มาร์เก็ตแคปลดลงไปกว่า 570,631.82 ล้านบาท และนักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิออกมาแล้ว 10,678 ล้านบาท
•
โดยวันที่ 15 พ.ค. 2566 ดัชนีปิด 1,541.38 จุด -19.97 จุด นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 691.15 ล้านบาท
•
วันที่ 16 พ.ค. 2566 ดัชนีปิด 1,539.84 จุด -1.54 จุด นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,111.41 ล้านบาท
•
วันที่ 17 พ.ค. 2566 ดัชนีปิด 1,522.74 จุด -17.10 จุด นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 4,439.34 ล้านบาท
•
วันที่ 18 พ.ค. 2566 ดัชนีปิด 1,526.69 จุด +3.95 จุด นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3,243.62 ล้านบาท
•
วันที่ 19 พ.ค. 2566 ดัชนีปิด 1,514.89 จุด -11.80 จุด มาร์เก็ตแคป และ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,193.42 ล้านบาท
•
ล่าสุด วันนี้ จันทร์ที่ 22 พ.ค.2566 ดัชนีภาคเช้าปรับลดลงไปต่ำกว่า 1,500 จุด ก่อนจะปิดที่ 1,517.17 จุด +2.28 จุด โดยจุดสูงสุดอยู่ที่ 1,518.49 จุด และจุดต่ำสุด 1,491.12 จุด โดยสามารถกลับมายืนที่ระดับ 1,500 จุดได้
•
สาเหตุที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาก จากก่อนการเลือกตั้ง นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ จะมีความเห็นที่ตรงกัน มาจากสาเหตุเฉพาะในประเทศ คือ
1.ผลการเลือกตั้ง ผิดคาดจากที่คาดการณ์ไว้ คือ พรรคก้าวไกล ชนะการเลือกตั้งได้ที่1
•
2.สถานการณ์ความไม่ชัดเจน นั่นคือ การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล จะประสบความสำเร็จหรือไม่ สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.จะลงคะแนนให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะต้องใช้เสียงจากสมาชิกรัฐสภา ทั้งส.ส.และส.ว.คือ 376 เสียง ซึ่งกว่าจะถึงเวลาต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน คาดว่าภายในเดือนสิงหาคม
•
3.นโยบายเศรษฐกิจ นอกเหนือจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีแล้ว นโยบายของพรรคก้าวไกลทั้งรัฐสวัสดิการ แก้ไขทุนผูกขาด การลดค่าไฟฟ้า ฯลฯ อาจจะกระทบกับบริษัทขนาดใหญ่ และ บริษัทโรงไฟฟ้า ซึ่งราคาหุ้นปรับลดลงมาจากสถานการณ์นี้
•
4.ความต่อเนื่องของนโยบาย และการหยุดชะงักทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกชน เพื่อรอรัฐบาลใหม่ รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ซึ่งเดิมปกติมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม แต่ปีนี้อาจจะใช้เวลาเป็นต้นปี 2566 แทน
•
5.สถานการณ์การเมือง หากไม่นิ่ง ไม่สงบ มีความวุ่นวายทางการเมือง การประท้วง การชุมนุม หรือ สิ่งที่นักลงทุนไม่สามารถคาดการณ์ได้
•
แม้จะมีคนบอกว่า ประเทศไทย มีเหตุการณ์แบบนี้อยู่บ่อยครั้ง แต่นักลงทุนเมื่อเห็นว่ามีความเสี่ยง การขายเพื่อถือเงินสด และรอดูสถานการณ์ หรือ Wait and See น่าจะดีกว่า
•
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กูรูนักลงทุนวีไอ ซึ่งออกบทความทุกสัปดาห์ และสัปดาห์นี้คือ ไขคำตอบ เปลี่ยนรัฐบาลใหม่? ทำไมตลาดหุ้นไทยไม่สนองเชิงบวก
•
ดร.นิเวศน์ ชี้ว่า วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1,515 จุด เทียบกับดัชนีเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม ปี 2556 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่ 1,562 จุด ก็แสดงว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นไม่ได้ปรับขึ้นเลย ถือว่าเป็น “Lost Decade” หรือ “ทศวรรษที่หายไป”
•
นอกจากนี้ ดร.นิเวศน์ ยังชี้ว่า ผู้ที่จะรับผิดชอบประเทศต่อไปก็ควรจะดูสัญญาณจากดัชนีตลาดหุ้นว่า สิ่งที่จะทำนั้นจะมีผลบวกหรือเป็นลบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวแค่ไหน อย่าคิดว่าตลาดหุ้นนั้นเป็นเสียงของคนส่วนน้อย เพราะนี่เป็นเสียงของคนที่เป็นหรืออยู่ในศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่สามารถทำนายได้ว่าอนาคตของเศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน ถ้าหุ้นขึ้นก็มักจะแปลว่านโยบายหรือสถานการณ์ไปถูกทาง ถ้าหุ้นลงก็เป็นตรงกันข้าม
•
แต่ดร.นิเวศน์ก็ชี้ว่า นี่เพียงเพิ่งจะเริ่มต้นไม่กี่วัน อนาคตอีก 2-3 เดือน เมื่อตั้งรัฐบาลเสร็จหรืออีก 1-2 ปี ข้างหน้า เราก็จะรู้ว่านโยบายหรือการปฏิบัติจะเป็นอย่างไรและจะตอบสนองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแค่ไหน
•
ดังนั้นถ้าจะสรุปสถานการณ์ตลาดหุ้นตอนนี้ก็คือ “ตลาดหุ้นไม่ชอบความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ” และบางคนที่เคยได้ประโยคที่ว่า “ความไม่ชัดเจนนั่นคือคำตอบ” ตลาดหุ้นไทยจึงปรับตัวลดลงด้วยเหตุนี้นั่นเอง
ที่มา :