หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องทำธุรกรรมข้ามชาติ ไม่ว่าจะโอนค่าเทอมไปให้ลูกที่ต่างประเทศ หรือรับค่าจ้าง หรือค่าสินค้าจากลูกค้าที่อยู่คนละประเทศ คงจะเคยได้ยินคำว่า SWIFT ไม่มากก็น้อย
ตัวอย่างการโอนเงินระหว่างประเทศ
สมมุติว่าบริษัทนำเข้าไวน์ของไทย ต้องการซื้อไวน์จากประเทศแอฟริกาใต้ แต่ไม่มีบัญชีธนาคารที่เหมือนกัน บริษัทไทยก็จะต้องไปติดต่อธนาคารของตัวเอง (อาจจะเป็น SCB, KBANK, TTB ฯลฯ) ทางธนาคารไทยก็จะส่งข้อความไปยังธนาคารใหญ่ที่มีเครือข่ายหลายประเทศ เช่นธนาคารในสหรัฐอเมริกา ธนาคารในสหรัฐฯ ก็ต้องติดต่อธนาคารที่มีความสัมพันธ์กับธนาคารในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งธนาคารทั้งหมดนี้จะต้องตัดบัญชี และนำเงินเข้าบัญชีของแต่ละธนาคารเป็นทอดๆ จนถึงบัญชีธนาคารในแอฟริกาใต้ของผู้ขาย
ทำไม SWIFT ถึงสำคัญ?
ปกติเวลาเราจะโอนเงินข้ามโลกกันนั้น ธนาคารไม่ได้โอนเงินข้ามกันไปมาจริงๆ แต่เป็นการส่งข้อความไปหักบัญชีของผู้ซื้อ และเครดิตเงินไปยังบัญชีของผู้ขาย ซึ่งทั้งสองทางจะต้องสื่อสารกันว่าจะหักเงินเป็นจำนวนเท่าไหร่ จากธนาคารไหนเข้าธนาคารไหน
ในอดีตนั้นเป็นการใช้โทรเลขเพื่อการสื่อสาร แต่ใช้เวลานานและเกิดความผิดพลาดได้ง่าย แต่เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนา ระบบ SWIFT ก็ถูกใช้เป็นแพลตฟอร์มมาตรฐานที่มีรูปแบบข้อความเป็นของตัวเอง ทำให้ธนาคารทั่วโลกสามารถรับส่งข้อความอย่างมีระบบ รวดเร็ว และปลอดภัย
SWIFT ย่อมาจาก “Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication” ซึ่งแปลตามตัวก็คือ ระบบการส่งข้อความที่เชื่อมโยงธนาคารทั่วโลกเอาไว้ด้วยกัน เป็นระบบการโอนเงินข้ามชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยมีธนาคารมากกว่า 8,100 แห่ง และกว่า 208 ประเทศ เข้าร่วมใช้บริการ
SWIFT Code?
ระบบส่งข้อความของ SWIFT นั้น จะมีภาษาเป็นของตัวเอง โดยมีการระบุรหัสธนาคารเฉพาะสาขา เพื่อใช้ในการโอนเงินข้ามชาติ โดย SWIFT Code นั้น มีความยาว 8-11 ตัว ประกอบไปด้วย
1. รหัสธนาคาร 4 หลัก เช่น ธนาคารกรุงเทพ คือ BBKB
2. รหัสประเทศ 2 หลัก เช่น ประเทศไทย คือ TH
3. รหัสที่อยู่ธนาคาร 2 หลัก เช่น กรุงเทพฯ คือ BK
4. รหัสสาขาธนาคาร 3 หลัก (Optional)
ที่มา
•https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/25650271PaymentSystems_SWIFT.aspx