ในปัจจุบันราคารีเซลล์แวดวงนาฬิกาหรูยังร่วงลงมาอย่างต่อเนื่อง หลังการไต่ถึงจุดพีกในช่วงโควิด ซึ่งก็ทำให้หลายคนที่เลือกลงทุนแบบ Passion Investment (ลงทุนในของสะสมที่ชื่นชอบ) ในนาฬิกาต่างพากันใจหวิวไม่ใช่น้อย เพราะอยู่ในขาลงมาร่วมปี ยังไม่มีจังหวะขึ้นจริงจังเลย
แต่ถึงอย่างนั้นนี่ก็ไม่ใช่วิกฤตครั้งแรกสำหรับวงการนาฬิกา เพราะจริง ๆ แล้วก่อนหน้านี้เคยมีวิกฤติการณ์ที่ชื่อว่า ‘วิกฤตควอตซ์ (Quartz Crisis)’ ที่สั่นสะเทือนวงการนาฬิกาสวิสเมด (Swiss Made) จนเกือบล้ม แต่ถูกกอบกู้ได้ด้วยนาฬิกาเบอร์รองของตลาดอย่าง SWATCH ที่พลิกฟื้นโอกาสให้นาฬิกาสวิสอีกครั้ง
ย้อนกลับไปในยุคสงครามโลก คนทั่วโลก (โดยเฉพาะผู้ชาย เพราะต้องไปรบ) หันมานิยมใส่นาฬิกาข้อมือกันหมด เพราะสะดวกต่อการใช้งานทั้งในการทำงานทั่วไป หรือแม้กระทั่งตอนไปสงคราม ซึ่งนั่นคือหลังจากที่ ‘Rolex’ สามารถผลิตนาฬิกากันน้ำได้สำเร็จแล้วด้วย ทำให้การสวมใส่นาฬิกาข้อมือคือเรื่องปกติของคนในชนชั้นที่พอมีอันจะกินขึ้นไป
โดยในช่วงสงครามประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่างพากันไปทุ่มให้การพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์กันหมด รวมถึงอเมริกาและญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งในตลาดนาฬิกาด้วย ส่วนสวิตเซอร์แลนด์นั้นดำรงอยู่ในสถานะ “ประเทศเป็นกลาง” มาตั้งแต่ ‘การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา’ เพื่อจัดระเบียบทวีปยุโรป ทำให้พ้นพิษสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 มาได้ นั่นทำให้ประเทศที่มีทรัพยากรและบุคลากรมากความสามารถอย่างสวิตเซอร์แลนด์ ว่างพอจะกลายเป็นผู้ผูกขาดตลาดนาฬิกากว่า 50% ทั่วโลกในยุคหลังสงคราม
อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการคิดค้นนาฬิกาใส่ถ่าน โดยบริษัทร่วมทุนระหว่าง ‘เอลจิน วอตช์ (Elgin Watch Company)’ จากสหรัฐอเมริกา และ ‘ลิป (Lip)’ จากฝรั่งเศส ได้สร้างรุ่นต้นแบบขึ้นมาในช่วงต้น 1950s จนในเวลาต่อมา ‘แฮมิลตัน วอตช์ (Hamilton Watch Company)’ ได้ผลิตนาฬิกา ‘Hamiltion 500’ ออกจำหน่ายในปี 1957 เป็นนาฬิกาใช้พลังงานแบตเตอรี่เรือนแรกของโลก
จากนั้นนวัตกรรมนี้ได้จุดประกายให้ผู้ผลิตหลายราย ไม่ว่าจะเป็น ‘Centre Electronique Horloger (CEH)’ องค์กรผู้ผลิตนาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์ของสวิส หรือฝั่งของมหาอำนาจในเอเชียอย่างญี่ปุ่น ที่เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเฟื่องฟูมากหลังสงครามจบลง ซึ่งญี่ปุ่นสามารถพัฒนาอุปกรณ์จับเวลาจากแร่ควอตซ์ (Quartz) ได้สำเร็จ คือ ‘Seiko Crystal Chronometer QC-951’ ถูกใช้เป็นอุปกรณ์จับเวลาสำรองสำหรับการแข่งมาราธอนในโตเกียวโอลิมปิกปี 1964 นี่คือสัญญาณว่าญี่ปุ่นกำลังพัฒนาได้เร็วกว่าสวิสแล้ว
ไม่นานหลังจากนั้นญี่ปุ่นก็สามารถพัฒนา ‘Seiko Quartz Astron 35SQ’ ออกจำหน่ายได้ในปี 1969 เป็นนาฬิกาข้อมือระบบควอตซ์เรือนแรกของโลก ด้วยประโยคโฆษณาที่ว่า “สักวันนาฬิกาทุกเรือนก็จะสร้างมาแบบนี้แหละ” และด้วยความที่ใช้งานสะดวก ราคาไม่แพง แม่นยำด้วยเทคโนโลยีที่ดีกว่าต่างจากนาฬิกากลไกแบบดั้งเดิมของสวิส ก็ทำให้ Seiko เริ่มช่วงชิงตลาดของนาฬิกาสวิสได้ในช่วงปี 1970s เป็นต้นมา
ปล่อยให้ญี่ปุ่นแซงได้ไม่นานฝั่งสวิสเองก็เปิดตัว ‘Ebauches SA Beta 21’ ตามมาในปี 1970 แต่นั่นก็ยังไม่โดนใจมหาชนอย่างที่หวังไว้ อาจด้วยความที่มาช้ากว่าและการตลาดไม่ปังเท่า แต่แทนที่ผู้ผลิตนาฬิกาสวิสเขาจะโอบรับเทคโนโลยีและพยายามเข็นการตลาดอีกสักหน่อย เขาเลือกจะปล่อยเบลอ แล้วมองว่า “เหตุผลที่คนซื้อนาฬิกาสวิสก็เพราะมันถูกสร้างมาแบบสวิสยังไงล่ะ” ยังคงเชื่อในความประณีต หรูหรา และระบบกลไกที่ซับซ้อน เหล่าผู้ผลิตนาฬิกาสวิสจึงหันกลับมาผลิตนาฬิกากลไกแบบเดิม
ซึ่งนั่นคือการตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่ นาฬิกาสวิสเริ่มขายไม่ได้ ปริมาณการส่งออกลดลงเกิน 10 เท่าในช่วง 10 ปี และตั้งแต่ปี 1973-1983 ผู้ผลิตนาฬิกาสวิสเจ๊งไปไม่น้อยกว่า 1,000 ราย ทำให้เหล่าผู้ผลิตชาวสวิสเรียกวิกฤตนี้ว่า “วิกฤตควอตซ์” หรือ “Quartz Crisis”
ตอนนั้นผู้ผลิตนาฬิกาสองกลุ่มใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ ทั้ง ‘ASUAG’ สมาคมผู้ผลิตชาวเยอรมัน และ ‘SSIH’ สมาคมผู้ผลิตชาวฝรั่งเศส ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตควอตซ์จนติดหนี้มหาศาลและถูกบังคับขายทอดตลาด ซึ่งนั่นคือจังหวะที่อัศวินขี่ม้าขาวอย่าง ‘นิโคลัส จี. ฮาเย็ก (Nicolas G. Hayek)’ เข้ามาช้อนทั้งสององค์กรเอาไว้ และได้ควบรวมเป็นหนึ่งภายใต้ชื่อ ‘SMH’ ย่อมาจาก ‘Societe Suisse de Microelectronique et d’Horlogerie’ ที่แปลว่า “สมาคมไมโครอิเล็กทรอนิกส์และผู้ผลิตนาฬิกาแห่งสวิส” ในปี 1983 มุ่งมั่นปรับปรุงระบบการทำงานและกระบวนการผลิตให้มีความทันสมัยขึ้น
ในปีเดียวกันนั้น คือช่วงเวลาเดียวกันกับที่กลุ่มวิศวกรประกอบด้วย ‘เอินส์ ธอมเคอ (Ernst Thomke)’ ‘เอลมาร์ ม็อก (Elmar Mock)’ และ ‘ฌาค มุลเลอร์ (Jacques Müller)’ ได้พยายามเอาตัวรอดจากวิกฤติควอตซ์ด้วยไอเดียแหวก เอานาฬิการะบบควอตซ์มาใส่ในตัวเรือนพลาสติก ซึ่งเป็นวัสดุราคาถูก และขายในราคาที่ใคร ๆ ก็จ่ายไหว โดยในขั้นพัฒนาเขาได้จ้างที่ปรึกษาการตลาดที่เคยทำงานให้ทั้ง Colgate และ Nestlé มาคอยสะท้อนมุมมองของผู้บริโภค จนได้มาเป็นนาฬิกา Swatch ซึ่งชื่อนี้ก็ได้มาจากคำว่า “Second Watch” หรือ “นาฬิกาเรือนที่สอง” สื่อว่า “คุณอาจซื้อนาฬิกากลไกแพง ๆ สักเรือนก็ได้ถ้าคุณมีเงิน แต่ถ้าเหลือไม่มากแล้วอยากได้เรือนที่สองละก็ นาฬิกาของเรานี่แหละที่คุณจ่ายไหว”
นั่นก็เพราะ Swatch คอลเล็กชันแรก วางขายในราคาเริ่มต้นแค่ 39.90 ฟรังก์สวิสเท่านั้น และเป็นที่นิยมมากหลังการเปิดตัว พวกเขาตั้งเป้าไว้หนึ่งล้านเรือนในปีแรกก็ขายหมดเกลี้ยง ปีต่อมาตั้งเป้าไว้สองเท่าตัวก็ขายหมดไม่มีเหลือ และช่วยให้นาฬิกาสวิสชิงส่วนแบ่งตลาดที่เคยเสียให้ญี่ปุ่นกลับมาได้
นอกจากเรื่องราคาที่เอื้อมถึงได้แล้ว การที่ทีมวิศวกรเล็ก ๆ สามารถผลิตนาฬิกาขายได้ปีละเป็นล้านเรือนก็เพราะ Swatch มีขั้นตอนการผลิตอัตโนมัติโดยใช้เครื่องจักร 100% และมีชิ้นส่วนน้อยลง ทำให้พวกเขาผลิตและจำหน่ายในระดับ Mass Market ได้ ต่างจากนาฬิกากลไกประกอบมือที่ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง หรือเป็นวันจึงจะได้สักเรือน
จนปี 1985 Swatch ก็ไปเข้าตาฮาเย็กที่มุ่งมั่นสร้างบริษัทนาฬิกาสวิสให้ก้าวหน้า พร้อมโอบรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงตัดสินใจเข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน Swatch ซึ่งในตอนแรกก็เอา Swatch เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ SMH และขึ้นมาเป็น CEO ในหนึ่งปีให้หลัง แต่ด้วยความที่ชื่นชอบ Swatch มาก ต่อมาจึงตัดสินใจ เอา SMH เข้าไปไว้ภายใต้ Swatch แทน และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Swatch Group’ ที่มีทั้งแบรนด์ดั้งเดิมอย่าง Swatch และรวมถึงแบรนด์นาฬิกากลไกสวิสเมดมากมาย เช่น Omega, Rado, Mido ฯลฯ และเขายังได้แยกเซ็กเมนต์ตลาดชัดเจนสำหรับนาฬิกาแต่ละแบรนด์ โดยในทุกวันนี้นาฬิกาแบบกลไกสวิสเมดก็ยังได้พื้นที่ตลาดของตัวเอง และหลายแบรนด์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าหรู หรือเป็นการลงทุนที่สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่ต่างจากทองคำ หรือสินทรัพย์อื่น ๆ
ซึ่งในปัจจุบัน Swatch ยังนับว่าเป็นแบรนด์สวิสเมดที่ได้รับความนิยมสูง ด้วยการคงคอนเซ็ปต์เดิมคือการเป็นนาฬิกาเรือนที่สอง ในราคาที่เข้าถึงง่าย ปัจจุบันราคาขายก็เริ่มแค่หลักพันต้น ๆ เท่านั้นเอง แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าจะเป็นแค่พระรองตลอดไป Swatch ยังได้มีการคอแลบกับแบรนด์อื่น ๆ ในเครืออยู่หลายครั้ง แต่รุ่นที่โดดเด่นมาก ๆ คือ ‘Swatch x Omega : Reach for the Planets’ ที่เปิดขายเมื่อไรก็หมดแทบจะทันที จนเคยสร้างปรากฏการณ์ห้างแตกมาแล้ว และราคารีเซลล์แต่ละตัวในคอลเล็กชันนี้ดีดไปหลายหมื่นบาท แม้จะเปิดตัวมาด้วยราคาหลักพันปลาย ๆ เท่านั้น
สุดท้ายนี้ เราจะเห็นได้ว่าการไม่ปรับตัวในช่วงเวลาที่ควรทำนั้นถือเป็นเรื่องอันตราย โดยเฉพาะการโอบรับเทคโนโลยีที่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่นั่นก็เป็นโอกาสดีที่ให้แบรนด์ผู้กอบกู้อย่าง Swatch ได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากช่องว่างของตลาด และปัจจุบันก็ยังเป็นกลุ่มธุรกิจนาฬิกาสวิสเมดยักษ์ใหญ่ที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลก
ที่มา: https://medium.com/watchmakers-ch/the-history-of-the-swiss-watch-industry-34734d7636c1