การเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็วของโลกในยุคปัจจุบัน ทำให้เรื่องของความยั่งยืนไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ หรือกระแสอีกต่อไป แต่กลับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการดำเนินธุรกิจในปี 2025 เพื่อให้ธุรกิจนำไปใช้วางแผน และกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
โดย finbiz by ttb ได้รวบรวม 6 เทรนด์การทำธุรกิจแบบยั่งยืนที่น่าจับตามองในปี 2025 มาดังนี้
[1.] Net Zero & Decarbonization: จากการวางแผนสู่การลงมือทำจริง
ธุรกิจหลายแห่งมีการตั้งเป้าหมายที่จะเป็น Net zero เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดและกฎหมาย โดยจะเริ่มเห็นหลาย ๆ ธุรกิจจะเปลี่ยนโฟกัสจากการวางแผนมาเป็นการลงมือลดการใช้คาร์บอนกันอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น
โดยประเทศไทยตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2065 ตามร่างพ.ร.บ.ลดโลกร้อน (Climate Change Act) ทำให้การลดการใช้ก๊าซเรือนกระจกจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการดำเนินธุรกิจ และต้องมีการตรวจวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงการจัดทำบัญชี GHG (บัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) เพื่อนำส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
[2.] ESG Regulatory Framework : การเข้ามาของกฎหมายและข้อบังคับเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจต้องปรับตัว
กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับความความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมจะเข้ามามีบทบาทกับการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น โดย พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหากมีการบังคับใช้ในปี 2025 จะทำให้การตรวจวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์และการลดการใช้ก๊าซเรือนกระจก กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการดำเนินธุรกิจ ที่ต้องปฏิบัติตาม และการรายงานผลความยั่งยืนตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
รวมไปถึงมาตรการจากต่างประเทศอย่าง European Green Deal เพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ลง 55% ในปี 2030 นั้น จะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการสินค้าส่งออกไทย เนื่องจากมีการออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ที่จะกำหนดราคาสินค้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งโดยแต่ละกลุ่มสินค้าจะมีข้อกำหนดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และวิธีการเรียกเก็บคาร์บอน
[3.] Circular Economy & Zero Waste: การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
หนึ่งในเทรนด์ที่มาแรง และเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนคือ เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่เปลี่ยนจากการผลิต-ใช้-ทิ้ง มาเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ใช้งานได้นานขึ้น และใช้ซ้ำได้ รวมถึงการนำไปรีไซเคิล เพื่อลดปริมาณของเสียได้อีกด้วย เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่องค์กรในหลายอุตสาหกรรมได้นำไปประยุกต์ใช้ ทั้งธุรกิจแฟชั่น อิเล็กทรอนิกส์ บรรจุภัณฑ์ และอื่น ๆ
[4.] Green Finance & ESG Investment: เงินทุนไหลสู่ธุรกิจสีเขียว
ภาคการเงินถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน มีการคาดการณ์ว่าตลาดการเงินสีเขียวทั่วโลกมีอัตราการเติบโต 12.2% ต่อปี แบบทบต้น ตั้งแต่ปี 2024 ถึงปี 2031 ทำให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงกับ ESG ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรสีเขียว สินเชื่อสีเขียว Sustainability-Linked Loans และกองทุนเพื่อความยั่งยืนกลายเป็นจุดสนใจในตอนนี้ ซึ่งแนวโน้มการลงทุนของธุรกิจในปีนี้จะเป็นการลงทุนที่คำนึงถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล มากยิ่งขึ้น โดยองค์กรหรือธุรกิจที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว จำเป็นต้องมีแผนการดำเนินงานและมาตรวัดเกี่ยวกับความยั่งยืนที่ชัดเจน เพื่อที่จะได้รับข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนา และต่อยอดธุรกิจสู่ความยั่งยืนได้ดีมากยิ่งขึ้น
[5.] Sustainable Supply Chain: ความโปร่งใสและจริยธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ในปี 2025 นี้ธุรกิจจำเป็นต้องดูและตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ตลอดทั้งซัพพลายเชนของการทำธุรกิจ รวมถึงมีการเก็บข้อมูลในทุก ๆ ขั้นตอนของซัพพลายเชน ตั้งแต่กิจกรรมต้นน้ำ กิจกรรมโดยตรงขององค์กรไปจนถึงกิจกรรมปลายน้ำ ทำให้ธุรกิจต้องเลือกสรรและใส่ใจในทุก ๆ กระบวนการของการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าธุรกิจได้ดำเนินการตามมาตรฐาน และมีขั้นตอนการดำเนินธุรกิจที่เป็นไปอย่างโปร่งใส
[6.] AI & Digitalization for Sustainability: เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ
การนำ AI และ Digital Platform เข้ามาใช้ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนถือเป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะการนำ AI และ Digital Platform เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นมาตรวัดสำคัญ เนื่องจาก AI มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่เป็นจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ช่วยประหยัดเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ AI ยังช่วยให้เกิด Smart Manufacturing และ Smart Cities ที่จะทำให้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ปี 2025 เป็นปีที่ธุรกิจต้องก้าวไปไกลกว่าแค่การ “ทำดีเพื่อภาพลักษณ์” แต่ต้องแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล องค์กรที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับ 6 เทรนด์ธุรกิจยั่งยืนเหล่านี้จะไม่เพียงแค่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลก แต่ยังสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาวอีกด้วย