แม้จะมีคำถามมากมายว่าเหรียญคริปโตที่ทำงานบน Public Blockchain แท้จริงแล้วมี Use Case จริงรองรับหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่สินค้าในการเก็งกำไรเท่านั้น แต่ตอนนี้เริ่มจะได้เห็นความเคลื่อนไหวสำคัญที่จะนำเหรียญคริปโตมาใช้งานจริงควบคู่กับระบบการเงินดั้งเดิมโดยการใช้ Stablecoins เพื่อการชำระเงิน
.
ทั้งนี้ Stablecoins คือเหรียญคริปโตที่มีมูลค่าคงที่ และจะมีการผูกโยง (Peg) กับสกุลเงิน Fiat โดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐฯ มีตั้งแต่ Stablecoins ที่หนุนหลังด้วย Fiat Currency ทั้งหมด หนุนหลังด้วยเหรียญคริปโตอื่นๆ และใช้ระบบ Algorithmic ในการรักษามูลค่า
.
มีงานวิจัยของบริษัท Circle ผู้ผลิตเหรียญ Stablecoins อย่าง USDC ที่ทำการเปรียบเทียบต้นทุนและค่าธรรมเนียมในการโอนเงินสกุลยูโรกับดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างระบบดั้งเดิมหรือ Remittance กับการใช้ Stablecoins EUROC ที่มีสกุลเงินยูโรหนุนหลังกับ USDC ที่มีเงินดอลลาร์สหรัฐฯหนุนหลัง
.
นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS)สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ ให้ความเห็นว่า แม้การทำธุรกรรมด้วย Stablecoins จะมีค่าส่วนต่าง Swap ค่าธรรมเนียมเครือข่ายและค่าธรรมเนียมในการ Cash Out มาเป็นเงินสด แต่รวมแล้วค่าธรรมเนียมทั้งหมด ก็ยังถูกกว่าระบบการเงินดั้งเดิม 80% จากการประเมินของ World Bank
.
ขณะที่ธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศหรือ The Bank for International Settlements หรือ BIS กำลังอยูในช่วงที่ศึกษาการนำเทคโนโลยี DeFi stack reference (DSR) มาใช้ในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ โดยกำลังประเมินว่า เมื่อนำ DeFi มาใช้งานร่วมกับระบบการเงินดั้งเดิมแล้ว จะมีความเสี่ยงอย่างไร
.
ก่อนหน้านี้ JP Morgan สาขาสิงคโปร์ถือเป็นธนาคารแรกที่นำเทคโนโลยี DeFi มาใช้กับการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศบนเครือข่ายบล็อกเชนสาธารณะด้วยเชน Polygon โดยดัดแปลงโค้ดของโปรโตคอล AAVE โดยทดลองฝากเงินดอลลาร์สิงคโปร์และเงินเยนของญี่ปุ่น ในรูปแบบของโทเคนดิจิทัล
.
รวมถึงธนาคารแห่งชาติออสเตรเลียวางแผนที่จะเปิดตัว Stablecoin ที่ชื่อว่า AUDNกลางปีนี้ โดยทำงานผ่านเชน Etherrum และ Algorand โดยจะตรึงมูลค่าไว้กับดอลลาร์ออสเตรเลียแบบ 1:1 โดยจะถูกใช้ในการชำระเงินสำหรับธุรกรรมต่างๆ
.
ล่าสุดบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินของฟินแลนด์ Membrane Finance เปิดตัวStablecoin ที่มีชื่อว่า EUROe โดยมีเงินยูโรค้ำประกันอยู่ในอัตราส่วน 1:1 ทำงานบนบล็อกเชนของ Ethereum สามารถซื้อได้ที่กระดานเทรด Uniswap วางแผนในอนาคตที่จะขยายไปยังบล็อกเชนอื่นๆ เช่น Solana, Polygon และ Abritrum
.
แม้แต่ Visa ที่เป็นบริษัทชำระเงินระดับโลก ยังมุ่งหน้าพัฒนาเทคโนโลยี ที่จะเปิดให้ผู้ใช้งาน สามารถแปลงคริปโตในรูปแบบของ Stablecoins เป็นเงิน Fiat ได้โดยจะเริ่มจากเหรียญ USTC บนเชนของ Ethereum โดยบริษัทฯ ยังคงนโยบายสนับสนุนการชำระเงินระหว่างคริปโต และ Fiat Currency มาอย่างต่อเนื่อง
.
รวมถึงยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียอย่าง Twitter ที่กำลังพัฒนาระบบชำระเงินรูปแบบใหม่ และอยู่ระหว่างดำเนินการขอใบอนุญาต เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้งานทั่วทั้งสหรัฐฯ โดยมุ่งเน้นใช้งานผ่านระบบการเงินดั้งเดิมเป็นหลัก แต่ก็จะมีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับคริปโตในอนาคต
.
จะเห็นได้ว่าผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจการเงิน รวมถึงธนาคารกลางกำลังศึกษาการนำ Stablecoins มาใช้กับการชำระเงินทั้งธุรกรรมระหว่างประเทศ และการชำระเงินภายในประเทศ เพื่อที่จะลดต้นทุนลงโดยใช้ Public Blockchain ซึ่งนอกจากจะเป็น Use Case จริงของคริปโตที่ จะนำมาใช้กับระบบการเงินและเศรษฐกิจจริง ยังทำให้อุตสาหกรรมคริปโตเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่ได้เป็นเพียงแค่สินค้าในการเก็งกำไรเพียงอย่างเดียว