กลายเป็นกระแสอีกครั้งในสหรัฐอเมริกา หลังจากซอสพริกศรีราชา ตราไก่ซึ่งผลิตโดยบริษัทฮุยฟง ฟู้ดส์ (Huy Fong Foods) ในสหรัฐ พุ่งขึ้นสูงกว่าระดับ 70 ดอลลาร์ หรือประมาณ 2,400 บาทต่อขวด บนเว็บไซต์ Ebay แต่ถ้าเป็นเว็บไซต์ Amazon ราคาจะสูงถึง 100 ดอลลาร์ หรือ ประมาณ 3,500 บาทต่อขวด โดยมีสาเหตุมาจากการที่ซอสดังกล่าวขาดตลาด
•
และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ซอสพริกราชาตราไก่ เกิดการขาดแคลนหรือหยุดผลิต เพราะเมื่อปีที่แล้ว บริษัทก็แจ้งว่าเผชิญสภาวะพริกขาดตลาด
ทำให้คนรัก ซอสพริกศรีราชาในสหรัฐฯ พากันโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย บางคนบอกว่าเป็น “ข่าวร้ายแห่งปี” และเป็นเหมือนกับ “วันสิ้นโลก” และ หลายคนบอกว่า กำลังวางแผนที่ตุนซอสของฮุยฟง เพราะเกรงว่าสินค้าจะหมด รวมทั้งในปี 2556 ก็เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้ว
•
เนื่องจากซอสพริกศรีราชา ตราไก่ หรือ ไก่ตัวผู้ ของฮุยฟง ฟู้ดส์ ใช้พริกจาลาปิโน และเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ผลผลิตพริกไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์และไม่สามารถผลิตซอสได้เพียงพอกับความต้องการในตลาด
•
แม้ว่า ซอสพริกศรีราชาที่จริงแล้ว มีต้นกำเนิดมาจากอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี แต่ซอสพริกศรีราชาที่ขายดีในสหรัฐฯ เป็นของ เดวิด ทราน (David Tran) ชาวเวียดนามผู้อพยพไปอยู่สหรัฐฯ และก่อตั้งบริษัท ฮวย ฟง ฟู้ดส์ขึ้น ที่หนีภัยสงครามเวียดนามไปยังสหรัฐฯ และชื่อบริษัทตั้งชื่อตามเรือขนส่งสินค้า Huy Fong ที่เขาใช้โดยสารมาสหรัฐฯ โดยใช้สัญลักษณ์เป็นรูปไก่หนึ่งตัวตามปีนักษัตรจีนของเขา และกลายเป็น “ซอสเศรษฐีในราคาคนจน” รวมทั้งเจ้าตำรับการตลาด 0 เหรียญ เพราะไม่ได้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์มาก แต่มาจากการบอกต่อของความอร่อยและเผ็ดร้อนของซอสนั่นเอง
•
และปัจจุบัน ฮวย ฟง ฟู้ดส์ มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 10% ของตลาดซอสพริก และสร้างรายได้กว่า 150 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 รวมทั้งมีการบันทึกในปี 2560 ตลาด Hot Sauce ในสหรัฐฯ มีมูลค่ารวมในตลาด ราว 1370 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณเกือบ 5 หมื่นล้านบาท โดยมี ผู้ครองตลาดอยู่หลักๆ แค่ 4 แบรนด์เท่านั้น คือ ศรีราชา ของเดวิด ทราน, Tabasco, Cholula และ Frank’s RedHot
•
กลับมาที่เมืองไทย ซอสศรีราชาเอง ก็มีตำนานแตกต่างกัน แต่มีเริ่มต้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี คล้ายๆกัน เช่น กิมซัว ทิมกระจ่าง ได้เดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านและได้นำซอสที่ผสมผสานรสชาติต่าง ๆ ที่เขาพบในแต่ละประเทศมารวมกันเป็นซอสศรีราชาที่รวมทั้งรสหวาน เค็ม และเปรี้ยว
และบ้างก็เชื่อว่า ถูกคิดค้นโดย คุณแม่ถนอม จักกะพาก ที่เธอปรุงซอสให้เพื่อนและครอบครัวในศรีราชา โดยใช้พริกและกระเทียมในท้องถิ่น จึงตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ของเธอตามชื่อเมือง และเป็นจุดกำเนิดของซอสพริกศรีราชาพานิช ที่ภายหลังบริษัท ไทยเทพรส จำกัด (มหาชน) เจ้าของซอสตราภูเขาทอง เป็นตัวแทนจำหน่าย ก่อนที่จะกลายเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายทั้งหมดในเวลาต่อมา
•
แม้แต่ซอสพริกศรีราชา ตราเหรียญทอง ของร้านหัตถกรรมมาคาร ที่คุณแม่ลออ สุวรรณประสพ เป็นคนศรีราชา อยากทำซอสพริกกินกันเองในครอบครัว รวมถึงเผื่อแผ่ให้เพื่อนฝูงลองชิม แต่รสชาติที่ถูกปากถูกใจใครหลายคน จึงทำให้ตัดสินใจผลิตขายเอง มาย้ายมากรุงเทพฯ ที่เคยขอไปจดทะเบียนเป็นซอสพริกเจ้าแรกแห่งสยามประเทศ และถือกำเนิดในปี 2475 ตามหลักฐานที่ได้รับรางวัลมาจากการประกวดสินค้าในงาน ‘ฉลองรัฐธรรมนูญ’
•
แม้ว่าคำว่าซอสพริกศรีราขา สามารถใช้ได้โดยทั่วไปทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศ จนเคยมีดราม่ามาแล้วว่าเหตุใด ไทยถึงปล่อยซอสพริกศรีราชาขาย แต่ไทยกลับไม่ได้ประโยชน์เลย ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เคยอธิบายแล้วว่า คำว่าศรีราชาเป็นชื่อในอำเภอหนึ่งของจังหวัดชลบุรีและถือเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ “ไม่สามารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวได้” แต่ผู้ประกอบการสามารถใช้คำว่า “ซอสพริกศรีราชา” บรรยายสินค้าโดยจะต้องมีโลโก้หรือเครื่องหมายการค้าของตนกำกับด้วยเสมอ รวมทั้งสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสหรัฐฯก็เช่นกัน
•
เว้นแต่ถ้าวันหนึ่งผู้ผลิตพิสูจน์ได้ว่า พริกที่ปลูกมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ หรือมีลักษณะพิเศษต่างจากพริกแหล่งอื่นและได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ในประเทศไทย คำว่า “ซอสพริกศรีราชา” ก็จะใช้ได้เฉพาะบริษัทที่ยื่นขอขึ้นทะเบียน GI เพียงผู้เดียว ซึ่งถึงปัจจุบันก็ยังไม่มี
•
ก่อนหน้านี้สำนักข่าวต่างประเทศอย่าง Bloomberg เคยสัมภาษณ์ นายบัญชา วิญญรัตน์ ผู้บริหาร บริษัท ไทยเทพรส จำกัด (มหาชน) ว่าหากไทยเทพรสสามารถได้ส่วนแบ่งการตลาดเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ในสหรัฐอเมริกา ก็จะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับบริษัท และยืนยันว่าซอสศรีราชาพานิชเป็นแบรนด์ท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แม้ซอสถั่วเหลืองจะเป็นรายได้หลักของไทยเทพรส โดยซอสพริกทำรายได้คิดเป็นเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
•
ขณะที่ความแตกต่างของซอสพริกศรีราชา นักวิเคราะห์มองว่า ซอสของฮุยฟงฟู้ดส์ ใช้พริกจาลาปิโน สีแดงสดจากสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ซอสศรีราชาเทพรสของไทยเทพรสใช้พริกป่นจากภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย แถมตัวซอสยังมีความหนืดน้อยกว่า ทำให้ลูกค้าที่มีรสนิยมและความภักดีต่อแบรนด์ที่แตกต่างกัน
•
แต่เมื่อมองจากผลประกอบการของบริษัท ไทยเทพรส จำกัด (มหาชน) ในปี 2565 มีรายได้การจำหน่ายในประเทศ 2,862 ล้านบาท คิดเป็น 88.16% แต่รายได้การจำหน่ายในต่างประเทศ อยู่ที่ 384 ล้านบาท คิดเป็น 11.84% รวม 3,246 ล้านบาท โดยมีสินค้าอื่นนอกจากซอสพริกศรีราชาพานิชอีกด้วย
•
รวมทั้งทางบริษัท ไทยเทพรส ฯ ยังให้ข้อมูลว่า ในปี 2565 ตลาดส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยมีมูลค่า 31,700 ล้านบาท เติบโต 6.40% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยเครื่องปรุงรสที่มีการส่งออก ได้แก่ ซอสต่างๆ ซอสพริก น้ำปลา เครื่องแกงสำเร็จรูป และสิ่งปรุงรสต่างๆ
•
โดยซอสพริกที่ไทยส่งออกไป 5 ประเทศหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี มาเลเซีย สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ มีมูลค่าการส่งออก 2,166 ล้านบาท คิดเป็น 40.30% ของมูลค่าซอสพริกที่ส่งออกทั้งหมด 5,377 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับมูลค่ากิจการของซอสพริกศรีราชาของฮุยฟง ถือว่ามูลค่าซอสพริกที่ไทยส่งออกยังมีน้อยกว่ามาก
•
นอกจากไทยเทพรสแล้ว ยังมีซอสพริกศรีราชา ตราห่านบิน ซึ่งผลิตในประเทศไทยและส่งออกเกือบ 100% โดยบริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ XO ก็ได้ขยายตลาดซอสไปยัง
ทวีปอเมริกาเหนือได้สำเร็จ และมองว่า การขาดแคลนซอสพริกศรีราชาของ ฮุยฟงฟู้ด ก็เป็นโอกาสบุกเข้าไปทำการตลาดได้ เพราะที่ผ่านมา ยอดขายของ XO ก็ไม่ได้ลดลงเลย
•
และแน่นอนว่ารสชาติซอสของ XO และซอสของฮุยฟงไม่เหมือนกัน เพราะพริกมาจากคนละที่ ซึ่งของ XO มาจากพริกประเทศไทย มีความเข้มข้น ทำให้เป็นโอกาสให้คนที่มาลิ้มลองซอสสามารถติดใจได้ ซึ่งถือเป็น Personal taste แบบหนึ่ง
•
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าคนอเมริกาจะติดและคุ้นลิ้นกับซอสพริกศรีราชาตราไก่ ของฮุยฟง ฟู้ดส์ ไปซะแล้ว ขณะที่ซอสพริกศรีราชาของไทย แม้จะมีคำว่าศรีราชา แต่ก็ยังท้าทายว่า ถ้าเป็นซอสที่มาจากประเทศไทย และพริกแบบไทยจะสามารถถูกปากคนอเมริกา และส่งออกไปจนถือเป็นสินค้าส่งออกและประสบความสำเร็จเหมือนหรือมากกว่าฮุยฟงฟู้ดส์ได้หรือไม่ในอนาคต
•
สามารถติดตามความเคลื่อนไหว connect the dots ได้ที่
Facebook : www.facebook.com/th.connectthedots
YouTube : www.youtube.com/@th.connectthedots
และทาง Spotify Podcast : connectthedotsth
#Connectthedots
ที่มา
https://www.infoquest.co.th/2023/314306
https://www.komchadluek.net/hot-social/518384
https://thestandard.co/huy-fong-sriracha-shortage…/
https://www.brandbuffet.in.th/…/why-sriracha-popular…/
https://voicetv.co.th/read/LZ8ZzvSa6
https://marketeeronline.co/archives/269113https://themomentum.co/feature-srirajachillisauce…/
https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/107378
https://workpointtoday.com/sriracha/
https://workpointtoday.com/sriracha/https://www.thairath.co.th/…/business…/marketing/2704868
https://youtu.be/tonVYlqSzaE