ถ้าใครติดตามพวกนักดนตรีต่างประเทศทุกวันนี้ถ้าเป็นรุ่นใหญ่ๆ หลายๆ คนก็จะบ่นถึงวันคืนอันแสนหวานในอดีตที่แค่ออกอัลบั้มฮิตระดับคลาสสิคมาก็สามารถ “กินค่าลิขสิทธิ์” ไปได้ยาวๆ แบบไม่ต้องทำมาหากิน อย่างไรก็ดี ถ้าตามที่พวกนี้เล่า วันคืนดีๆ พวกนี้ก็จบลงกับยุคอินเทอร์เน็ต กับ Napster กับ BitTorrent ที่ทำให้คนทั้งโลก “เลิกซื้อเทปและซีดี” และทำให้พวกนักดนตรีรุ่นเก่าๆ ที่เคยนอนเฉยๆ กินค่าลิขสิทธิ์ ต้องยอมกลับมาคืนดีกับสมาชิกวงเก่าที่แทบไม่มองหน้ากันแล้ว และ “ออกทัวร์” เพื่อหารายได้มาทดแทน “ค่าลิขสิทธิ์” ที่หายไปจากยอดขายเทปและซีดีที่ป่นปี้ในยุคอินเทอร์เน็ต
อย่างไรก็ดี หลายคนก็คงรู้ว่าการเกิดขึ้นบริการสตรีมดนตรีอันดับ 1 ของโลก Spotify ก็ทำให้คนเลิก “โหลดเถื่อน” กันอย่างกว้างขวางได้อย่างชะงัด และทำให้นักดนตรีผู้เป็น “เจ้าของลิขสิทธิ” สามารถมีส่วนแบ่งจากการสตรีมเพลงทุกครั้งได้
ทุกอย่างดูจะเป็นไปด้วยดี ถ้านักดนตรีจำนวนมากไม่ออกมาโวยวายว่า “ส่วนแบ่ง” ที่ได้จาก Spotify มันน้อยนิด ไม่พอกิน
เช่น มันก็มีการประเมินกันว่าการได้ 1,000,000 สตรีมบน Spotify จะทำรายได้ได้ราว 4,000 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 140,000 บาท หรือเค้าก็ประเมินกันว่าต้องได้สตรีมเดือนละ 336,842 ครั้ง ถึงจะทำรายได้เท่า “ค่าแรงขั้นต่ำ” ของสหรัฐอเมริกา คือราว 1,400 เหรียญต่อเดือน หรือราว 49,000 บาท
…อย่างไรก็ดี ประสบการณ์จริงของนักดนตรีไม่เคยเป็นแบบนั้น นักดนตรีบ่นเสมอว่าได้น้อยกว่านั้น เช่น Dani Filth นักร้องนำวง Cradle of Filth วงแนวเอ็กซ์ตรีมเมทัลชื่อดังของอังกฤษก็ออกมาบ่นว่า ยอดสตรีมของวงตนตลอดปี 2022 นั้นคือประมาณ 25 ล้านสตรีมทั้งปี แต่ผลคือ Spotify จ่ายให้ตนเพียงราว 900 บาทเท่านั้น และก็โวยวายด่า Spotify ใหญ่
…ทำไมถึงเป็นแบบนั้น เพราะถ้าคำนวณ 25 ล้านสตรีมตามสูตรบ้านบน มันน่าจะทำให้ได้เงินถึง 3.5 ล้านบาท เงินมันหายไปไหน?
คำตอบเร็วๆ คือ นักดนตรี “โดนหักค่าหัวคิว” จาก “อุตสาหกรรมเก็บค่าลิขสิทธิ์” หมดเกลี้ยง และไอ้ยอด “รายได้จาก Spotify” ที่ว่าๆ กัน มันคือรายได้ “ก่อนหักค่าหัวคิว”
แต่อันนี้อาจต้องย้อนไปเข้าใจระบบลิขสิทธิ์งานบันทึกเสียงดนตรีทั้งระบบก่อน
คือระบบลิขสิทธิ์งานบันทึกเสียงดนตรีทั่วโลกเลย “ลิขสิทธิ์งานบันทึกเสียง” มักจะเป็นของค่ายเพลงที่เป็นคนจ่ายค่าสตูดิโอบันทึกเสียง ค่าโปรดิวเซอร์ ค่าซาวน์เอนจิเนียร์ ฯลฯ ซึ่งก็สมเหตุสมผลเพราะกว่า “งานดนตรี” จะออกมาสำเร็จ มันไม่ใช่แค่ “แรงงานของตัวนักดนตรี” เท่านั้น มันเกิดจากคนอีกเพียบ (ถ้าไม่ได้แต่งเพลงเองค่ายเพลงก็ต้องไปจ้างนักแต่งเพลงเพิ่มอีกด้วย)
แต่ก็จะมีแต่ “นักดนตรี” นี่แหละที่จะได้ส่วนแบ่งจากอัลบั้มถ้ายอดขายได้เพิ่ม ซึ่งทั่วๆ ไปก็ได้ไม่เกิน 10% ของยอดขายหรอก และก็ต้อง “แบ่งกันทั้งวง” ดนตรี หรือพูดง่ายๆ ในระบบดั้งเดิม นักดนตรีคนนึงในวงมันได้ไม่เกิน 2-3% ของ “ยอดขายอัลบั้ม” หรอก คิดเป็นสัก 2% ก็ได้
ซึ่งมองอย่างสมเหตุสมผล ส่วนแบ่งจาก “ยอดขายอัลบั้ม” นั้นก็ไม่น่าจะมากไปกว่าส่วนแบ่งจากยอดสตรีมบน Spotify หรอก ดังนั้นเราก็จะอนุมานว่า ส่วนแบ่งของนักดนตรีในตัวอย่างนั้นอยู่ที่ประมาณ 2% แล้วคำนวญดู
อ่ะ ลองคิดดูในมุมนี้ จากตัวอย่างด้านบน สมมติได้ 2% แล้ว 2% จาก 3.5 ล้านบาท มันก็น่าจะเป็น 70,000 บาทสิ ทำไมได้แค่ 900 บาท?
คำตอบคือ เพราะ “ตัวหักค่าหัวคิว” มันไม่ได้มีแค่ “ค่ายเพลง” เพราะในระบบเก็บค่าลิขสิทธิ์ มันจะมีพวกองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ “บทประพันธ์เพลง” ให้ “นักแต่งเพลง” อะไรอีก ซึ่งมันเก็บแยกคนละส่วนกัน และถ้าตัว “นักดนตรี” นั้นไม่มีส่วนในการ “แต่งเพลง” เค้าก็จะไม่ได้ส่วนแบ่งนี้ เพราะไม่ถึงเป็น “นักแต่งเพลง”
ซึ่งพวกนี้ปกติคือจะเป็นองค์กรระดับประเทศ ที่ถนัดเก็บค่าลิขสิทธิ์แบบ “ออฟไลน์” (พวกนี้คือองค์กรที่เก็บค่าลิขสิทธิ์ตามพวกร้านอาหารและร้านเหล้า) พอเป็นออนไลน์ พวกนี้ก็จะนิยมใช้ “เอเจนซี่” อะไรเก็บแทน ซึ่งเพิ่มชั้นของการเก็บไป ก็เพิ่ม “ค่าหัวคิว” อะไรมาอีก
และ “องค์กร” ที่ว่ามาพวกนี้ ไม่ใช่องค์กรเล็กๆ มันองค์กรใหญ่ๆ หมด เวลามัน “หักค่าหัวคิว” มันหักไม่น้อย และนักแต่งแพลงก็ไม่มีสิทธิ์จะปฏิเสธในทางปฏิบัติ เพราะถ้าปราศจากองค์กรพวกนี้ นักแต่งเพลงก็จะ “เก็บค่าลิขสิทธิ์” ไม่ได้เลย หรือพูดง่ายๆ นักแต่งเพลงคือ “ไม่มีอำนาจต่อรอง” เลย เค้าเสนอดีลอะไรมาก็ต้องรับ
ดังนั้น รายได้จาก Spotify ไม่เคยวิ่งมานักดนตรีตรงๆ แต่มันวิ่งผ่านค่ายเพลงผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานดนตรี บริษัทที่ดูแลลิขสิทธิ์งานดนตรี สมาคมนักแต่งเพลง บริษัทเก็บค่าลิขสิทธิ์ และสารพัดเอเจนซี่ออนไลน์ที่ทำงานกับบริษัทพวกนี
และก็แน่นอนวิ่งผ่านอะไร มันโดน “หักค่าหัวคิว” ทุกสเตป
ซึ่งไอ้พวกนี้คือหักค่าหัวคิวรวมๆ กันไป มันไม่แปลกที่เงินจะมาถึง “หนึ่งในสมาชิกวงดนตรี” ที่มียอดสตรีมต่อปีระดับสิบล้านสตรีมเพียงแค่หลักร้อยบาท
…ที่นี้มาลองฟังเรื่องอีกฝั่ง ฝั่งของ Spotify
ณ ปี 2022 ปีที่นักดนตรียอดสตรีมหลักสิบล้านสตรีมต่อปีนี้โวยที่ว่า Spotify ได้รายงานว่ามีการ “จ่ายค่าลิขสิทธิ์” ไป 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1,400,000 ล้านบาท
ใช่ครับ จ่ายค่าลิขสิทธิ์ไปหลักล้านล้านบาท ซึ่งนี่คือ 70% ของรายได้ของ Spotify เลย และนี่คือ “ดีล” ที่รู้กันอยู่แล้วว่า Spotify นั้นจะจ่ายรายได้ 70% ที่ได้ต่อปีให้ “เจ้าของลิขสิทธิ์” หรือให้ตรงคือ “ตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์” ที่มาดีลแทน ซึ่งบางทีเป็นตัวแทนกันไม่รู้กี่ชั้น ทำให้หักค่าหัวคิวกันกระจุยกระจาย Spotify จ่ายออกไปให้ “วงดนตรี” ปีละหลักล้าน แต่กว่าเงินจะไปถึงตัว “นักดนตรี” ก็โดนหักไปจนเหลือหลักร้อยแบบที่ว่า
ซึ่งนี่ก็น่าสนอีกว่า Spotify ก็รายงานว่าในปี 2022 มี “ศิลปิน” ที่ได้เงินจาก Spotify เกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีถึง 1,060 เจ้า ซึ่งก็แน่นอน คิดง่ายๆ ก็คือ นี่ได้เป็นขั้นต่ำ 10 เท่าของ “ตัวอย่าง” ที่ว่ามา แต่ “ในความเป็นจริง” มันก็ “เป็นไปได้” ว่าถึง Spotify จะจ่ายออกมา “หลักสิบล้าน” แต่เงินที่จะมาถึงตัว “นักดนตรี” จริงๆ ก็อาจจะแค่หลักพันบาทต่อปี หรือเต็มที่ก็หลักหมื่นบาทต่อปี และนี่ก็น่าจะจะเป็น “รายได้สูงสุด” แล้วที่ “นักดนตรี” จะได้จาก Spotify ภายใต้ “ดีลปกติ” ที่ค่ายเพลงนั้นเอาเพลงไปขึ้น Spotify แล้วมาแบ่งนักดนตรี
นี่เป็นเหตุผลที่พวกนักดนตรีที่ “มีอำนาจต่อรอง” หลายๆ คนไม่ยอมเอาเพลงลง Spotify หรือ “ถอนเพลงออก” จาก Spotify (เช่น Taylor Swift ช่วงปี 2014) เพราะถ้ามันปล่อยไปตาม “ดีลปกติ” ส่วนแบ่งจะต่ำบัดซบมากๆ และหลายๆ คนก็พยายามจะสู้เพื่อให้ได้ “ดีล” ที่ดีขึ้น และประเด็นคือ “ดีล” ที่ว่า มันไม่ใช่ “ดีล” กับ Spotify ที่ยืนยันมาแต่แรกแล้วว่าจะแบ่งส่วนแบ่งรายได้ 70% เพื่อเป็น “ค่าลิขสิทธิ์” แต่เป็นส่วนแบ่งกับค่ายเพลง บริษัทจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ บริษัทดูแลผลประโยชน์ลิขสิทธิ์ และอีกสารพัดเอเจนซี่ที่ประดังกันเข้ามา “หักค่าหัวคิว”
ซึ่งพูดให้มันง่ายๆ ตรงๆ ถ้าตัดพวก “ตัวกลาง” พวกนี้ไปให้หมด ตัว “นักดนตรี” และ “นักแต่งเพลง” นั้นจะมีรายได้จาก Spotify พอจะดำรงชีพแน่ๆ และน่าจะ “ร่ำรวย” เลยด้วย
แต่ก็นั่นเอง พวก “บริษัท” พวกนี้ก็ “จ้างงาน” คนมหาศาลในการบริการจัดการด้านลิขสิทธิ์ การ “ตัดตัวกลาง” พวกนี้ก็จะหมายถึงคนพวกนี้จะ “ตกงาน” กันเพียบ และนี่เลยทำให้ข้อเสนอเรื่องการ “ตัดตัวกลาง” ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะพูดกันได้ง่ายๆ โดยไม่มีปัญหาอะไร
ซึ่งก็ยังไม่ต้องพูดถึงว่ามันก็มีนักดนตรีจำนวนมาก ไม่รู้และไม่เข้าใจ “ระบบหักค่าหัวคิว” อันซับซ้อนนี้ และมีอะไรก็มาโวยวายว่า Spotify จ่ายให้นักดนตรีน้อย ทั้งๆ ที่บริษัทเค้าก็มีรายงานทุกปีว่าเค้าจ่าย “ค่าลิขสิทธิ์” ไปเยอะแค่ไหน แต่ที่เค้าพูดไม่ได้ก็คือไอ้ “ตัวแทน” ของพวกนักดนตรีนี่แหละที่เอา “ค่าลิขสิทธิ์” ไปกินแทนนักดนตรีหมด นักดนตรีก็เลยมีรายได้จาก Spotify กันน้อยนิด
เขียนโดย อนาธิป จักรกลานุวัตร
ที่มา:
https://www.forbes.com/…/5-important-numbers-from…/…
https://metalinjection.net/its-just…/spotify-royalties
https://www.ngpf.org/…/question-of-the-day-how-much…/
https://loudwire.com/why-dani-filth-thinks-spotify-are…/
https://www.latimes.com/…/spotify-artists-royalty-rate…
https://www.digitalmusicnews.com/…/spotify-royalties…/