ข่าวการปิดตัวหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ อาจไม่ใช่เรื่องแปลกในยุคปัจจุบัน จากสถานการณ์สื่อที่เป็นออนไลน์มากขึ้น
•
แต่ล่าสุดการปิดตัวหนังสือพิมพ์สตาร์ซอคเกอร์รายวัน หลังตีพิมพ์และออกจำหน่ายกว่า 30 ปี ทำเอาแฟนบอลและแฟนกีฬาใจหาย เมื่อมีข่าวยืนยันว่า โดย บอ.บู๋ บูรณิจฉ์ รัตนวิเชียร คอลัมนิสต์ชื่อดังในเครือสยามสปอร์ตฯ ออกมาโพสต์ข้อความสั้นๆ ว่า “เล่มเล็กจะไม่มีแล้วนะครับ”
โดยออกฉบับสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเล่มใหญ่ที่ว่า นั่นคือ สยามกีฬา ซึ่งถือเป็นหนังสือพิมพ์หลักของสยามสปอร์ตฯนั่นเอง
•
สำหรับหนังสือพิมพ์สตาร์ซอคเกอร์รายวัน วางจำหน่ายฉบับเเรกเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2535 เริ่มจากนิตยสารสตาร์ซอคเกอร์รายสัปดาห์ ก่อนวางจำหน่ายเป็นหนังสือพิมพ์รายวันจนถึงปัจจุบันดำเนินผลิตมาทั้งสิ้น 30 ปี
•
ย้อนไปจุดเริ่มต้นของบริษัท สยามสปอร์ตซินดิเคท จำกัด(มหาชน) หรือคนส่วนใหญ่มักคุ้นเคยกับชื่อ สยามกีฬา ก่อตั้งโดยนายระวิ โหลทอง อดีตหัวหน้าข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หรือเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว
•
เนื่องจากสมัยก่อน แหล่งข้อมูลในการติดตามฟุตบอลต่างประเทศของคนไทยยังค่อนข้างจำกัด แม้มีการนำเสนอข่าวสารฟุตบอลในหนังสือพิมพ์ แต่ก็เป็นเพียงกรอบเล็กๆ หรือเป็นเพียงรายงานผลการแข่งขันทางวิทยุเท่านั้น
•
อย่างฟุตบอลโลก แม้จะเริ่มแข่งขันกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 แต่กว่าที่คนไทยจะได้ติดตามฟุตบอลโลกอย่างจริงจัง คือปี พ.ศ. 2513 ที่ประเทศเม็กซิโก
•
ช่วงนั้นกระแสของฟุตบอลโลก ดังมากจนทำให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐและเดลินิวส์ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และเป็นฟุตบอลโลกครั้งแรกที่คนไทยได้ดูการถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์อีกด้วย
นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดความนิยมในฟุตบอลต่างประเทศ นับแต่นั้นเป็นต้นมา
•
เมื่อคุณระวิ ตัดสินใจมาทำธุรกิจหนังสือพิมพ์กีฬาของตัวเองภายใต้ชื่อ หจก.สยามสปอร์ต
ช่วงนั้นมีแต่คนบอกว่าเขาบ้า ออกไปทำเองมีแต่จะขาดทุน เพราะกลุ่มคนที่สนใจข่าวสารด้านฟุตบอลคงมีจำนวนไม่มาก
•
แต่นั่นทำให้สยามสปอร์ตถือกำเนิดขึ้น โดยเริ่มจัดพิมพ์นิตยสารกีฬาสยามขึ้นเป็นฉบับแรก และมีนิตยสารสตาร์ซอคเก้อร์รายสัปดาห์ กับหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่บริษัทฯ
•
โดยสตาร์ซอคเกอร์ รายสัปดาห์ ได้เริ่มออกจำหน่ายในปี 2518 และเป็นหนึ่งในนิตยสารที่ได้รับความนิยมสูงสุดของไทยในสมัยนั้น
•
ต่อมาในปี 2535 ได้ออกนิตยสารสตาร์ซอคเกอร์รายวัน โดยมีราคาขายครั้งแรกอยู่ที่เล่มละ 5 บาท จนมาถึงปัจจุบันอยู่ที่เล่มละ 20 บาท
•
ก่อนจะยุติการจำหน่าย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สตาร์ซอคเก้อร์มียอดตีพิมพ์ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี
-ปี 2563 พิมพ์จำหน่าย 11,577 ฉบับต่อวัน
-ปี 2564 พิมพ์จำหน่าย 9,125 ฉบับต่อวัน
-ปี 2565 พิมพ์จำหน่าย 6,090 ฉบับต่อวัน
•
และสยามกีฬาถือว่าได้สร้างบุคลากรในวงการสื่อกีฬาชื่อดัง จากคนทำหนังสือพิมพ์ มาสู่ผู้ประกาศข่าวกีฬาทางโทรทัศน์ พิธีกรรายการโทรทัศน์ และผู้บรรยายกีฬา อาทิ ย.โย่ง เอกชัย นพจินดา หัวหน้าข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน และบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์สตาร์ซอคเก้อร์รายวัน ที่เป็นผู้ประกาศข่าวและผู้บรรยายกีฬาที่ดังที่สุดและเป็นตำนาน
•
ตามมาด้วยน้องชายของย.โย่ง นั่นคือ น.หนู-ธราวุธ นพจินดา ซึ่งตามเอกชัยผู้เป็นพี่ชายมาทำงานที่สยามกีฬา ตั้งแต่ปี2525 โดยธราวุธก็เป็นรองหัวหน้า หรือผู้ช่วยดูแลงาน ในส่วนที่พี่ชายมอบหมาย
•
จากนั้น สยามสปอร์ตก็ส่งธราวุธไปทำข่าวการแข่งขันฟุตบอลโลก ที่ประเทศเม็กซิโก เมื่อปี 2529 และเป็นผู้สื่อข่าวชาวไทยคนแรก ที่ไปรายงานข่าวการแข่งขันฟุตบอลอังกฤษกลับมายังประเทศไทย
•
และยังมีอีกหลายท่าน เช่นพิศณุ นิลกลัด /สาธิต กรีกุล หรือ บิ๊กจ๊ะ / เอกราช เก่งทุกทาง /วีรศักดิ์ นิลกลัด / อดิสรณ์ พึ่งยา หรือ JACKIE
/ บูรณิจฉ์ รัตนวิเชียร หรือ บอ.บู๋ เป็นต้น
•
โดยจุดเด่นนอกจากการนำเสนอข่าวกีฬา โดยเฉพาะการแข่งขันฟุตบอลต่างประเทศที่โดนใจผู้อ่านแฟนบอลชาวไทยแล้ว สยามสปอร์ตฯถือว่าลงทุนส่งนักข่าวไปประจำที่ประเทศอังกฤษโดยตรง เพื่อไปรายงานข่าวและติตดามความเคลื่อนไหวแบบเจาะลึกและมีข้อมูลข่าวที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมาก ในยุคที่อินเตอร์เน็ตและโลกยังไม่ไร้พรมแดนเหมือนในปัจจุบัน
•
จนถึงสิ้นปี 2565 สยามสปอร์ตฯ มีหนังสือพิมพ์กีฬา 5 ฉบับ และนิตยสารด้านกีฬา
ประกอบด้วย สยามกีฬารายวัน เป็นหนังสือพิมพ์กีฬาฉบับแรกของบริษัท เริ่มจัดพิมพ์และจำหน่ายในปี 2527 เสนอข่าวกีฬาทุกประเภทกีฬาทั้งในและต่างประเทศ / สตาร์ซอคเกอร์รายวัน ซึ่งปัจจุบันปิดตัวแล้ว นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับฟุตบอลโดยเฉพาะ /สปอร์ตพูลรายวัน เน้นเนื้อหาอัตราต่อรองกีฬาต่างประเทศ โดยเฉพาะฟุตบอล / สปอร์ตแมนรายวัน เน้นเนื้อหาอัตราต่อรองกีฬาทุกประเภททั่วโลก / ตลาดลูกหนังรายวัน มีเนื้อหาเกี่ยวกับโปรแกรม ผลการแข่งขัน และวิเคราะห์ฟุตบอลลีกรองของยุโรป /
สปอร์ตพูลสเปเชี่ยล วีคลี่ เนื้อหาเน้นการแนะแนวทางดูฟุตบอลจากเกจิลูกหนังอังกฤษ ทั้งอัตราต่อรอง ทีเด็ด วิเคราะห์ ทำนายผลสกอร์ และอื่น ๆ รวมทั้ง นิตยสารตามฤดูกาลที่มีการแข่งขันในต่างประเทศ โดยมีโรงพิมพ์เป็นของตัวเอง
•
และมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ธุรกิจโทรทัศน์ ธุรกิจอีเว้นท์ ธุรกิจดิจิทัลมีเดีย ธุรกิจระบบการจำหน่ายบัตร และธุรกิจรับจ้างพิมพ์
•
รวมทั้งในอดีตเคยเป็นเจ้าของสื่อบันเทิงผ่านบริษัท อินสไพร์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด รวมทั้งเคยจัดประกวดมีสทีนไทยแลนด์ หรือเป็นผู้ทำสถานีวิทยุกีฬา สปอร์ตเรดิโอ เป็นรายแรก หรือแม้แต่ร้านสตาร์ซอคเกอร์ ตามห้างสรรพสินค้าที่มีการจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึกเกี่ยวกับฟุตบอลต่างประเทศ ที่มีหลายสาขาและได้รับความนิยมมากในยุค 90
•
เคยเป็นผู้บริหารบริหารสิทธิประโยชน์ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันยังมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากทั้ง2ฝ่ายเกือบ 1 พันล้านบาท และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา แม้บางคดีทางสยามสปอร์ตฯจะชนะคดีแล้วก็ตาม
•
และทำให้ครอบครัวโหลทองเข้าไปบริหารสโมสรฟุตบอลอย่างเมืองทองยูไนเต็ดอีกด้วย
•
สยามสปอร์ตฯ ถือว่าประสบความสำเร็จในวงการธุรกิจสื่อกีฬา สามารถเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เคยมีมูลค่ากิจการสูงถึงระดับหมื่นล้านบาท ก่อนที่ผลจากการขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้มูลค่ากิจการเหลือต่ำกว่า 100 ล้านบาทมาแล้ว เมื่อปี 2561 และมีส่วนของผู้ถือหุ้นที่ติดลบ ทำให้ครอบครัวโหลทองต้องตัดสินใจซื้อหุ้นทั้งหมด เพื่อนำหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 2562
•
ที่ผ่านมา สยามสปอร์ตจะปรับตัวทางธุรกิจเหมือนหลายๆธุรกิจก็ตาม รวมทั้งเครือมติชนได้ว่าจ้างให้สยามสปอร์ตฯเป็นผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือพิมพ์ทั้งมติชนและข่าวสดให้แทน
•
แต่สยามสปอร์ตฯได้ชี้แจงถึงสาเหตุของการขาดทุนจำนวนมากและหลายปีติดต่อกัน มาจากผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี หรือ Digital Disrutpion ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการบริโภคข่าวสาร มีคนอ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารน้อยลง เพราะสามารถติดตามอ่านข้อมูลข่าวสารได้ผ่านทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ ทำให้กระทบการขายสื่อสิ่งพิมพ์ของบริษัท ซึ่งผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์ทุกราย ได้รับผลกระทบเช่นกัน รวมทั้งการใช้งบโฆษณาลดลงสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ตามภาวะเศรษฐกิจและความนิยมของคนอ่าน
•
ส่วนผลประกอบการของสยามสปอร์ตฯลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และโฆษณาที่ได้รับผลกระทบแล้ว ก็เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วย
•
-ปี 2563 รายได้รวม 413 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 187 ล้านบาท
-ปี2564 รายได้รวม 427 ล้านบาท ขาดทุน 307 ล้านบาท
-ปี 2565 รายได้รวม 326 ล้านบาท ขาดทุน 354 ล้านบาท
•
โดยปี 2565 รายได้สูงสุดมาจากการรับจ้างพิมพ์ 153 ล้านบาท คิดเป็น 36% และธุรกิจหนังสือพิมพ์ 84 ล้านบาท ดิจิทัลมีเดีย 25 ล้านบาท และนิตยสาร 42 ล้านบาท
•
ส่วนรายได้โฆษณา หนังสือพิมพ์อยู่ที่ 15 ล้านบาท แต่ดิจิทัลมีเดียอยู่ที่ 61 ล้านบาท
•
รายได้ที่ลดลงต่อเนื่อง และผลขาดทุนของสยามสปอร์ตฯ ก็ส่งผลต่อฐานะทางการเงิน ที่ขณะนี้ติดลบต่อเนื่องเกือบ 1 พันล้านบาท
-ปี 2563 : สินทรัพย์ 975 ล้านบาท หนี้สิน 1,243 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น -267 ล้านบาท
-ปี 2564 : สินทรัพย์835 ล้านบาท
หนี้สิน 1,411 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น -576 ล้านบาท
-ปี 2565 : สินทรัพย์ 550 ล้านบาท
หนี้สิน 1,474 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น -923 ล้านบาท
ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นและมีสภาพนี้มาหลายปีแล้ว
•
นอกจากนี้ แม้สยามสปอร์ตฯจะมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ครอบครัวโหลทอง ถึง 97% และคนในครอบครัวโหลทองจะเป็นผู้บริหารใหญ่
แต่ปรากฎว่า ครอบครัวโหลทอง คือ บุตรชายของคุณระวิ โหลทอง ทั้งนายวิลักษณ์ โหลทอง ลาออกจากประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 และลาออกจากกรรมการเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 รวมทั้งนายวรรคสร โหลทอง ลาออกจากกรรมการเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565
•
น่าสนใจว่า ผู้บริหารและคณะกรรมการที่ไม่มีครอบครัวโหลทองในขณะนี้ กำลังจะตัดสินใจทางธุรกิจอย่างไรต่อไป แม้จะยังคงดำเนินธุรกิจสื่อด้านกีฬาต่อไป หรืออาจจะเตรียมการทางนิติกรรมทางบริษัทในอนาคตหรือไม่ โดยเฉพาะหลังจากไม่ได้เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯมากว่า 4 ปีแล้ว
•
ทั้งหมดคือเรื่องราวของสยามสปอร์ตฯ เจ้าของธุรกิจสื่อกีฬาชื่อดัง กับการปิดตัวสตาร์ซอคเกอร์ แม้จะเป็นที่เสียดายของแฟนๆกีฬาและแฟนฟุตบอลก็ตาม
•
แม้จะเคยประสบความสำเร็จในวงการสื่อกีฬา และได้พยายามปรับตัวทางธุรกิจ แต่ด้วยสภาพตบาด พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวททั้งคู่แข่งสื่อกีฬาที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ที่ไม่ต้องใช้ทีมงานจำนวนมาก ทุกคนสามารถนำเสนอข่าวและข้อมูล และเข้าถึงได้แทบจะไม่แตกต่างกันในปัจจุบัน
•
ดังนั้นอนาคตบนเส้นทางธุรกิจของสยามสปอร์ตฯนับจากนี้ ที่จะต้องแก้ไขสถานะทางการเงินที่เป็นตัวชี้วัดทางธุรกิจที่สำคัญที่สุด
•
และการปิดตัวนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือ สื่อสิ่งพิมพ์ อาจจะยังไม่มีแค่นี้ เพราะด้วยพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ส่งผลต่อยอดจำหน่ายและยอดโฆษณาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
•
แม้ผู้คนยังต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่การจะสามารถทำรายได้และกำไร คือสิ่งที่จะชี้วัดได้ในปัจจุบัน ส่วนความสำเร็จในอดีจ อาจกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าขานและตำนานบนหนึ่งที่อาจหายไปตามกาลเวลานั่นเอง
•
สามารถติดตามความเคลื่อนไหว connect the dots ได้ที่
Facebook : Connect the Dots
YouTube : www.youtube.com/@th.connectthedots
และทาง Spotify Podcast : connectthedotsth
#Connectthedots
•
ที่มา :
-รายงานประจำปี 2565 บมจ.สยามสปอร์ตซินดิเคท
https://marketeeronline.co/archives/309601
https://www.pptvhd36.com/sport/news/197575
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1071135
https://thestandard.co/fa-thailand-vs-siam-
https://www.bangkokbiznews.com/news/844930
https://www.matichon.co.th/sport-slide/news_3623113