ธุรกิจที่มาแรงในปัจจุบัน นอกจากสายเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว ธุรกิจพลังงานนับว่าน่าจับตามากทีเดียว เพราะโลกเรากำลังเผชิญกับวิกฤติเรื่องคาร์บอน (CO2) อย่างหนัก ซึ่งสัมพันธ์กับด้านพลังงานโดยตรง และอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด ทำธุรกิจพลังงานมีบทบาทสำคัญอย่างมาก รวมถึง ‘Gulf Energy’ ผู้ผลิตพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในมือของ ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’
คุณสารัชถ์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการของ ‘บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)’ สองสามปีมานี้คนไทยคงคุ้นหูกับ Gulf เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะมีบทบาทสำคัญด้านพลังงานของไทยแล้ว Gulf ได้รับการพูดถึงจากสื่อมวลชนมากขึ้น เมื่อสามารถเข้าซื้อหุ้นใหญ่ของ INTUCH กลับมาสู่มือคนไทยได้สำเร็จในปี 2564 หลังจากที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ขายให้ ‘Temasek’ จากสิงคโปร์ไปในปี 2549
นอกจากนี้ ชื่อของคุณสารัชถ์เองก็มักได้ยินอยู่บ่อยครั้ง จากการขึ้นทำเนียบมหาเศรษฐีเบอร์ต้นของไทยมาพักใหญ่ โดยในปีนี้เขาร่ำรวยเป็นอันดับ 5 จากการจัดอันดับของ Forbes Thailand ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 3.94 แสนล้านบาท แต่ถ้านับกันแค่หุ้นล่ะก็ คุณสารัชถ์ขึ้นที่ 1 ต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว โดยในปัจจุบันมีมูลค่าหุ้น GULF และ ITC รวมมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท (ในครึ่งปีแรกของปี 66) นั่นทำให้คุณสารัชถ์เป็นที่รู้จักในฐานะของ “มหาเศรษฐีหุ้นไทย”
ก่อนจะมาถึงตรงนี้ ย้อนกลับไปแล้วคุณสารัชถ์ก็เป็นนักธุรกิจหนึ่งคนที่เริ่มต้นได้เร็วในจังหวะที่ดีมาก ๆ
คุณสารัชถ์จบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไปเรียนต่อปริญญาโท ด้านการบริหารจัดการวิศวกรรม จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา หลังเรียนจบ คุณสารัชถ์ในวัย 29 ปีก็กลับมาก่อตั้ง ‘บริษัท กัลฟ์ อิเล็คตริก จำกัด’ ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้า ในปี 2537 ซึ่งเป็นช่วงเวลาไม่นานหลังรัฐบาลเริ่มปรับโครงสร้างระบบพลังงาน รับซื้อไฟจากภาคเอกชน ซึ่งก็นับว่าคุณสารัชถ์เข้ามาในรุ่นบุกเบิกเลย
จากนั้น Gulf เริ่มเติบโตและแพร่ขยายเป็นอาณาจักรด้วยการตั้งบริษัทในเครือมากมาย ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน อย่าง ‘บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด’ ‘บริษัท กัลฟ์ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด’ ‘บริษัท กัลฟ์ ยะลา กรีน จำกัด’ ‘บริษัท กัลฟ์ ไอพีพี จำกัด’ ซึ่งในปัจจุบัน Gulf มีโรงงานผลิตไฟฟ้ารวม 25 แห่งทั่วประเทศไทย ดำเนินการอยู่ 21 แห่งและอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 4 แห่ง กำลังการผลิตรวมที่ดำเนินการอยู่ 5,800 MW และที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 7,766 MW โดยเป็นการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก แต่ถ้าหากนับรวมกับการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ทั้งพลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ Gulf มีโครงการผลิตไฟฟ้ารวมมากกว่า 30 แห่ง และมีกำลังการผลิตมากกว่า 14 GW เลย
ก้าวสำคัญของ Gulf ที่ทำให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด คือ การที่คุณสารัชถ์ก่อตั้ง ‘บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด’ ในปี 2554 เพื่อถือหุ้นบริษัทต่าง ๆ ในเครือ และขายหุ้นสามัญ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ไทยเมื่อปี 2560 ราคาหุ้นละ 45 บาท ระดมทุน 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งหุ้นตัวนี้ก็ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม จนทำให้ Gulf มีมูลค่าติดท็อป 10 ต่อเนื่องหลายปี และดันคุณสารัชถ์ขึ้นสู่ทำเนียบมหาเศรษฐีไทยได้ในระยะเวลาเพียง 1 ปี หลังเข้าตลาดหุ้นเท่านั้น
หลังธุรกิจพลังงานเริ่มเข้าที่เข้าทางคุณสารัชถ์ไม่ได้หยุด Gulf เอาไว้เท่านี้ อาศัยว่าจบวิศวกรรมโยธามาสมัยป.ตรี เขาจึงต่อยอด Gulf สู่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่ปี 2562 ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคทั่วประเทศ รวมถึง
-การพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ส่วนการก่อสร้างสถานีขนส่ง LNG
-การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ส่วนตู้คอนเทนเนอร์
-โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6)
-โครงการบริการเดินรถและซ่อมบำรุงมอเตอร์เวย์ระหว่างเมือง บางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81
-โครงการร่วมทุนเพื่อลงทุนและดำเนินงานระบบจำหน่ายไฟฟ้าและระบบทำความเย็นสำหรับโครงการ One Bangkok
ซึ่งทั้ง 5 โครงการยังอยู่ในระยะการก่อสร้าง
นอกจากนี้อีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ Gulf ต่อยอดไป ซึ่งได้เกริ่นไว้แล้วในตอนต้น คือ ธุรกิจดิจิทัล เนื่องจาก Gulf มองเห็นโอกาสในการเติบโตของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในไทย รวมถึงเศรษฐกิจที่จะถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี คุณสารัชถ์จึงตัดสินใจนำ Gulf เข้าซื้อหุ้นใหญ่ของ ‘บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์’ 42.25% และได้ส่งตัวแทนจาก Gulf เข้าไปนั่งในบอร์ดบริหาร ส่วนตัวเขาเองเข้าไปนั่งเป็นกรรมการตัวแทนผู้ถือหุ้น
และในเวลาต่อมา Gulf ก็ได้เข้าซื้อหุ้น THCOM 41.13% ที่ INTUCH ถืออยู่ช่วงปลายปี 2565 ก่อนที่จะเสนอซื้อที่เหลือในเวลาต่อมา แม้ว่า Gulf จะถือครอง INTUCH อยู่แล้วก็ตาม ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกในการบริหารที่เป็นระบบและการต่อยอดธุรกิจดิจิทัลในแนวทางของ Gulf
มากกว่านั้น เมื่อปี 2565Gulf ยังใส่เต็มกับงานธุรกิจดิจิตัล ในวันที่ Blockchain เข้ามาขับเคลื่อนการเงินการลงทุน Gulf ได้ส่ง ‘บริษัท กัลฟ์ อินโนวา จำกัด’ เข้าซื้อ ‘Binance Capital Management Co., Ltd.’ เพื่อจัดตั้ง ‘บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด’ ดำเนินธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกิจนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งตอนนี้ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. เรียบร้อยแล้ว และจะเปิดให้บริการซื้อขายต้นปี 2567
ในภาพรวมก็นับว่ากลุ่มธุรกิจของ Gulf นั้นพัฒนาไปได้ด้วยดีมาตลอด แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าจะราบเรียบไปเสียทุกอย่าง แน่นอนว่าเบื้องหลังการเจรจาตกลงในโครงการและแผนธุรกิจต่าง ๆ ของ Gulf นั้นมีอุปสรรคหลายอย่างที่เราไม่รู้ แต่ทั้งนี้ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือคุณสารัชถ์คือนักธุรกิจที่มีคอนเทกต์ชันดี เข้ากับนักการเมืองได้แทบทุกพรรคและอยู่ได้กับรัฐบาลแทบทุกสมัย และ Gulf ก็เคยเข้าไปอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ให้หน่วยงานรัฐบาลหลายต่อหลายครั้ง ก็ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่ใครต่อใครก็พร้อมสนับสนุนคุณสารัชถ์และ Gulf อยู่เสมอ
จะเห็นได้ว่าคุณสารัชถ์สร้าง Gulf ขึ้นมาจากธุรกิจที่เป็นโอกาสในจังหวะที่ดี แต่แม้จะปั้นให้มันเติบโตอย่างแข็งแรง เขาก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ยังมองหาโอกาสและความเป็นไปได้อื่น ๆ และนำ Gulf ต่อยอดสู่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจดิจิทัลเพื่อก้าวให้ทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และหนุนให้ Gulf ยิ่งแข็งแกร่ง รวมถึงตัวเขาเองให้มีความมั่งคั่งนับแสนล้าน