#มาเก็ทThought ถอดความคิดให้เก็ททุกไอเดียเบื้องหลัง
.
สองสัปดาห์หลังเลือกตั้งท่ามกลางการเฉลิมฉลองของพรรคการเมืองที่เรียกฝ่ายตัวเองว่า “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” กลับไม่ได้โปรยด้วยกลีบดอกไม้ แต่มาด้วยฝุ่นตลบของการซัดกันนัวของแนวร่วมที่จัดตั้งรัฐบาล จนหลายคนเริ่มหวันว่าสองพรรคใหญ่อย่าง พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยจะไปด้วยกันได้จริงๆไหม?
.
แล้วเราจะได้เห็นรัฐบาล “ฝั่งประชาธิปไตย” หรือจะต้องอยู่กับ “ลุงคนนั้น”ต่อไป?.
.
สักสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเขียนลง Facebook ถึงเรื่องนี้อยากขอนำมาเรียบเรียงใหม่ เพื่อให้เข้าใจภาพรวมของความแตกต่างทั้งในมุมมองเศรษฐกิจและการเมืองของสองพรรคใหญ่ และปัญหาของการมี “พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย”
.
ก่อนอื่นคือเราต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่เรียกว่า ‘พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตย’ มันเป็นเรื่องภาวะชั่วคราว เพราะธรรมชาติมันไม่ควรมี’พรรคฝั่งเผด็จการ’อยู่แล้ว ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง นโยบายและแนวทางเศรษฐกิจของพรรคการเมืองต่างๆ ห้ำหั่นกันด้วยจุดยืน ว่าพรรคไหนนั้นเป็นพรรคอนุรักษ์นิยม พรรคเสรีนิยม หรือพรรคสังคมนิยม
.
แต่ปัญหาของระบบการเมืองไทยในปัจจุบัน ดันมี “พรรคฝั่งเผด็จการ” หรือพรรคที่ก่อร่างสร้างมาเฉพาะกิจเพื่อสืบทอดอำนาจอย่างโจ่งแจ้งที่ลงแข่งในระบอบเลือกตั้งไม่เป็นธรรมเช่นในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 คือ “พรรคพลังประชารัฐ”ที่ผลักดันให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยในปี 2557 ได้อยู่ต่อเพื่อสืบทอดอำนาจ
.
ดังนั้นการเลือกตั้ง2562เลยเกิด’พรรคฝั่งประชาธิปไตย’ ที่แสดงจุดยืนชัดเจนในการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช. เช่นพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่(ที่ต่อมากลายเป็น พรรคก้าวไกล) พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเพื่อชาติซึ่งแนวคิดของแต่ละพรรคอาจจะมีรายละเอียดกันคนละแนวเลยอาจจะมีใกล้กันบางพรรค แต่จำต้องอยู่ในสภาวะจำยอมจับมือกันเป็น “พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตย”
.
และในการเลือกตั้ง 2566 ทางพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยก็ชูแคมเปญเรื่องการ “ไม่เอาสองลุง” คือ พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่พอชนะการเลือกตั้งด้วยกลไกพิเศษของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ส.ว.มีสิทธิ์เลือกตั้ง แล้วทั้งสองพรรคใหญ่ทั้งก้าวไกลและเพื่อไทย จะมาทำงานด้วยกัน กลับพบว่ามีแนวทางในการทำการเมืองที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
.
เริ่มจากเพื่อไทยเป็นพรรคที่โตมาจากทุนท้องถิ่น บ้านใหญ่เดิม พวกนี้คือพวกที่โตมาจากการกระจายอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญปี2540 โดยเน้นขายนโยบายเป็นหลัก มรดกนโยบายที่ทำได้จริง เช่น กองทุนหมู่บ้าน,30 บาทรักษาทุกโรค หรือ โอทอป กลไกในการทำงานเน้นทีมงานมืออาชีพมาทำงานในระบบปิดโดยคิดและพัฒนาให้จบเหมือนผู้เลือก (User)มีหน้าที่เลือกนโยบายที่ทางพรรคนำเสนอ ส.ส.ทำหน้าที่เหมือนเซลส์แมนออกไปขายนโยบายสำเร็จรูป และที่สำคัญเป็นเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมเน้นกลไกตลาด โดยชูจุดยืน “ทุนนิยมที่มีหัวใจ” เน้นมีการสร้าง”ตาข่ายรองรับทางสังคม” (Social safety Net) และมีจุดยืนทางการเมืองแบบขวากลางคือเป็นอนุรักษ์นิยมก้าวหน้า
.
และเมื่อมองมาเทียบกับพรรคก้าวไกลนั้นแทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย โดยฐานความนิยมมาจากคนเมือง พวกนี้คือคนที่เติบโตจากผลผลิตการกระจายอำนาจเป็นคนชั้นกลางใหม่ที่เติบโตมาในยุคการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยรักไทย – เพื่อไทย รูปแบบการทำงานเป็นระบบเปิดที่เปิดโอกาสให้คนธรรมดาเข้ามามีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นส.ส.ทีมงานฝ่ายต่างๆ รวมไปถึงอาสาสมัครของพรรค มีการลองผิดลองถูกเพื่อให้เกิดนวัตกรรม เน้นการสถาปนาอำนาจนำด้านวัฒนธรรมผ่านการเมืองเชิงอัตลักษณ์ และที่สำคัญเป็นเศรษฐกิจแบบซ้ายกลาง และเชื่อเรื่องรัฐสวัสดิการตามแนวทางพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบยุโรป
.
สิ่งที่สะท้อนให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนคือเมื่อมีดีเบตประเด็นเศรษฐกิจ ตัวแทนแคนดิเดตที่จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของทั้งสองพรรคแสดงจุดยืนทางเศรษฐกิจที่ต่างกันอย่างชัดเจน โดย ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล จากพรรคเพื่อไทยบอกว่าเราตอบทำเค้กให้ใหญ่ขึ้นและเพียงพอสำหรับทุกคน ซึ่งสะท้อนว่าเน้นการเติบโตด้านเศรษฐกิจโดยไม่ได้ไปเขย่าโครงสร้างทางสังคม ด้านศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่รับผิดชอบงานนโยบายมองว่า เค้กที่มีมันเพียงพออยู่แล้ว ปัญหาคือคนตัดแบ่งเขตนั้นไม่มีความเป็นธรรม ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนกระบวนการแบ่งเขตนั้นใหม่
.
จะเห็นได้ชัดว่าในเชิงจุดยืน อุดมการณ์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองนั้นทั้งสองฝ่ายมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่จำเป็นต้องมาจับมือทำงานร่วมกันในนาม “พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย” เพื่อสืบทอดอำนาจ ซึ่งท้ายที่สุดถ้าหากจับมือเพื่อหยุดเรื่องนี้ได้ ทั้งสองพรรคนี้จะกลายเป็นพรรคใหญ่ที่จะต้องมาแข่งขันกันเต็มรูปแบบในการเลือกตั้งรอบหน้า ทั้งเรื่องจุดยืนและนโยบาย
.
แต่ตอนนี้จำเป็นต้องก้าวข้ามความแตกต่าง เพื่อที่จะทำภารกิจแรกให้สำเร็จลุล่วงเสียก่อน ถ้าไม่อย่างนั้นการเมืองไทยก็ยังคงติดกับวังวนการสืบทอดอำนาจรัฐประหารต่อไป
เขียนโดย : พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ
ที่มา
https://www.springnews.co.th/news/election66/838980
https://siamrath.co.th/n/430416
https://thematter.co/brief/204602/204602