หากเอ่ยถึงงานแสดงสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมสารสกัดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) คือบริษัทผู้จัดงานที่มักจะสร้างปรากฎการณ์ และแรงขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้จนถูกพูดถึงในวงกว้าง ไม่แค่เฉพาะในประเทศไทย แต่ยังสยายปีกไปในอีกหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์
และหญิงเก่งที่อยู่เบื้องหลัง เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญผลักดันวงการอุตสาหกรรมเสริมอาหาร คือ รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) “รู้สึกภูมิใจค่ะ เราทำงานด้านอาหาร ยา และสุขภาพที่ครอบคุมทุกมิติ ทำให้เราสามารถมองภาพใหญ่ และเข้าใจว่าในอุตสาหกรรมนี้อะไรที่ขาด นั่นคือ อาหารที่เป็นยา ซึ่งเราเห็นว่า ตลาดเสริมอาหารเป็นตลาดที่ดึงศักยภาพตลาดยา ตลาดอาหารนำวัตถุดิบมาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นี่เองจะเป็นการผลักดัน Health Eco System อย่างครบวงจร”
เทรนด์รักสุขภาพ ความแตกต่างด้าน Culture
เทรนด์รักสุขภาพมาแรง หลังจากทั่วโลกเกิดวิกฤตโรคระบาด จึงเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามกระแสสังคม อิทธิพลจากผู้มีชื่อเสียง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างใหญ่ทางสังคม อาจเป็นตัวกำหนดเทรนด์ของความต้องการของผู้บริโภค
“เทรนด์ ความต้องการของผู้บริโภคต้องมองแต่ละประเทศ เพราะมีความแตกต่างกัน เช่น ไทย ผลิตภัณฑ์ด้านAging ได้รับความนิยม รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผู้บริโภคสูงวัย ขณะที่ประเทศในกลุ่ม CLMV จะต่างออกไป เพราะกลุ่มผู้บริโภคในตลาดนี้ ยังเป็นผู้บริโภคในยุคมิลเลนเนียม หรือ ผู้บริโภคในเวียดนาม จะมองหาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับกิจกรรมการออกกำลังกาย เทรนด์เหล่านี้จะต่างกันไปตามวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ แต่เทรนด์ที่คล้ายกัน คือการใช้จ่ายในผลิตภัณฑ์จะต้องเป็นไปอย่างคุ้มค่าเงินที่จ่าย”
โอกาสของสินค้าแบรนด์ไทยในตลาดโลก
สินค้าภายใต้แบรนด์ไทยในอุตสาหกรรมนี้มีมาตรฐานอยู่ในระดับสูง และได้รับการยอมรับจากตลาดต่างประเทศ‘รุ้งเพชร’ มองว่า สินค้าไทยยังมีโอกาสในตลาดต่างประเทศอีกมาก โดยเฉพาะตลาดมุสลิม
“ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลาดมุสลิมมีขนาดประมาณ 42% ซึ่งนี่จะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่จะพัฒนาแบรนด์ให้ได้มาตรฐานฮาลาล รวมถึงตลาดในภูมิภาคอาเซียนด้วย”
“ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษากฎระเบียบ การทำสินค้าให้ได้รับมาตรฐานฮาลาล จะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสมากขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้า สร้างความต่างให้ผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้น เรื่องแพ็กเกจจิ้งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ หากผู้ประกอบการไทยสามารถปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคได้ ปัจจุบันการสร้างความสะดวกสบาย แพ็กเกจจิ้งพกพาง่าย จะได้รับตอบรับที่ดี”
ตลาด MICE อีกหนึ่งโอกาสของไทยบนเวทีโลก
ไทย เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับอุตสาหกรรม MICE โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อพิจารณาจากรายงานการจัดอันดับประเทศ และเมืองเจ้าภาพด้านการจัดประชุมนานาชาติประจำปี 2566 ของสมาคมการประชุมนานาชาติ (ICCA) ประเทศไทยอยู่อันดับ 6 จากเดิมอันดับ 7 ของเอเชียแปซิฟิก เมื่อเทียบกับปี 2565 และปัจจุบันเป็นอันดับที่ 26 ของโลก จากเดิมอันดับที่ 32 ก้าวกระโดดถึง 6 อันดับโลกภายในหนึ่งปี
นอกจากนี้ ไทยยังได้รับการโหวตให้เป็นสุดยอดจุดหมายปลายทางของเอเชียในด้านการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล โดยได้รับรางวัล Steella Awards ในสาขา Best MI destination of Asia 2023 เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน (ปี 2564-2566) ซึ่งดำเนินการโดย M&C Asia สื่อด้านธุรกิจไมซ์ในสิงคโปร์
‘รุ้งเพชร’ ในฐานะผู้จัดงานการประชุม และแสดงสินค้า ผ่านเวทีมาหลายประเทศ ให้มุมมองต่อตลาด MICE ในไทยว่า “หากมองธุรกิจไมซ์ในไทย เรามีความพร้อมในหลายมิติ ทั้งด้านโรงแรมที่มีมาตรฐาน จำนวนที่สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมที่เดินทางมาจากต่างประเทศได้จำนวนมาก แม้จะมีการจัดงานหลายงานพร้อมกัน ราคาไม่สูงมาก ใกล้สถานที่จัดงาน สะดวกในการเดินทาง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ได้เปรียบประเทศอื่น ๆ หลายโชว์เริ่มมองตลาดไทยให้เป็นสถานที่จัดงานนิทรรศการ อินโดนีเซีย แม้จะมีสถานที่พร้อมสำหรับการจัดงาน แต่ความสะดวกอื่น ๆ ยังไม่พร้อมเท่าไทย”
“แม้ว่างาน ไวต้าฟู้ด เอเชีย 2024 (Vitafoods Asia 2024) จะเป็นงานเกี่ยวกับสารสกัด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นธุรกิจแบบ B2B การเจรจาทางธุรกิจจะไม่ใช่ในลักษณะ B2C ที่เราจะเห็นเม็ดเงินสะพัดเหมือนอีเวนต์อื่น ๆ แต่งานนี้แตกต่างออกไป คือ ผู้ร่วมงานกว่า 80% เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งทริปหนึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นประมาณ 70,000 ต่อคนต่อทริป ซึ่งเม็ดเงินจะถูกกระจายไปตามธุรกิจต่าง ๆ เช่น ธุรกิจโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร หรือ ร้านค้าชุมชน หากจะมองว่า อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แม้จะเป็นส่วนเล็ก ๆ แต่เศรษฐกิจไทยในระดับมหภาคล้วนแต่ต้องขับเคลื่อนด้วยฟันเฟืองเล็ก ๆ ทั้งสิ้น”
‘Vitafoods Asia 2024’ จัดขึ้นในไทยเป็นปีที่ 3 ท่ามกลางการเติบโตของตลาดเสริมอาหารในเอเชียที่ขยายตัวระดับ 2 ดิจิต ที่ 10.26% มีมูลค่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2029 ขณะที่ประเทศไทย ปี 2565 มีมูลค่า 1.9 แสนล้านบาท คาดการณ์ว่าปี 2569 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.39 แสนล้านบาท
สิ่งที่จะแตกต่างไปจากทุกปี คือปีนี้ไฮไลต์ของงานอยู่ที่ “ผู้มีส่วนร่วมหลายฝ่ายจะช่วยกันดึงงานวิจัยลงจากหิ้งมาสู่การพัฒนาเป็นสินค้านวัตกรรมใหม่ เราอยากสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี พาองค์กรต่าง ๆ ผู้ประกอบการจากนานาประเทศ ให้มา match กันในเวทีนี้ งานวิจัยจะต้องไม่ถูกจำกัดอยู่แค่บนหิ้ง ขณะที่โจทย์สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมนี้ คือทำอย่างไรให้เทคโนโลยีทรานเฟอร์ เพื่อให้ไทยมีส่วนประกอบของสารสกัดมากขึ้น และที่สำคัญ คือด้านความเชื่อของผู้บริโภค ที่เราต้องสร้างให้เกิดความเข้าใจใหม่ว่า ผู้ผลิตในไทย สินค้าของไทย มีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากสินค้านำเข้า หรือ สินค้าจากต่างประเทศ” คำตอบและเป้าหมายของ ‘รุ้งเพชร’ ไม่ใช่แค่ผลงานภายใต้แบรนด์ ‘อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย)’ ในธุรกิจ MICE แต่ผลสำเร็จจะถูกขยายไปยังอุตสาหกรรมเสริมอาหารของไทย และยังไปไกลสู่ระดับโลก เพื่อหวังเม็ดเงินต่างชาติที่เข้ามาลงทุนหรือซื้อสินค้าแบรนด์ไทย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ ‘รุ้งเพชร’ เชื่อว่าจะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเช่นกัน!