เคยหมั่นไส้ไลฟ์โค้ชมหาเศรษฐีที่ออกมาบอกให้คุณใช้เงินอย่างนั้น ใช้ชีวิตอย่างนี้ อย่าซื้อนู่น ให้ซื้อนี่กันไหม เชื่อว่าคงมีหลายคนที่เคยรู้สึกแบบนี้ นั่นอาจรวมถึงกับผู้เขียนหนังสือขายดียอดนิยมอย่าง ‘พ่อรวยสอนลูก’ โดย โรเบิร์ต คิโยซากิ (Robert Kiyosaki) ที่เมื่อต้นปี 2024 มีข่าวออกมาว่าเขาถูกหุ้นส่วนฟ้องและบริษัทของเขาได้ยื่นล้มละลาย จนเมื่อไม่กี่วันมานี้เรื่องนี้ก็กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลายคนต่างแชร์ข่าวนี้และคอมเมนต์เยาะเย้ยด้วยความสะใจทำนองว่า “สอนคนอื่นอย่างนั้นอย่างนี้ สุดท้ายก็เอาตัวเองไม่รอด” แต่จริง ๆ แล้วอาจเร็วเกินไปที่ใครจะหัวเราะเยาะเขาในเรื่องนี้ และเจ้าตัวก็อาจไม่ได้ “ล้ม” อย่างที่หลายคนเข้าใจ
เหตุของการล้มละลายและคดีความ
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าการยื่นล้มละลายในกรณีนี้คือการล้มละลายของบริษัท ริช โกลบอล จำกัด (Rich Global LLC) ของคิโยซากิ ไม่ใช่การยื่นล้มละลายส่วนตัว โดยเรื่องมันก็เริ่มมาจากหนังสือพ่อรวยสอนลูก ที่เป็นจุดเริ่มต้นความโด่งดังของเขา
หนังสือพ่อรวยสอนลูกที่ให้คำแนะนำด้านการเงินส่วนบุคคลของคิโยซากิสร้างชื่อเสียงให้กับเขาอย่างมากในช่วงต้นยุค 2000s และต่อยอดความมั่งคั่งของเขาที่เดิมทีได้มาจากการลงุทนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากมาย ในช่วงที่คิยาโซกิเร่โปรโมตหนังสือของตัวเอง เขาก็ได้พบกับ บิล แซงเกอร์ (Bill Zanker) ผู้ก่อตั้ง เลิร์นนิง แอนเน็กซ์ (Learning Annex) บริษัทรับจัดสัมมนาและอีเวนต์ ซึ่งเขาก็สนใจในตัวคิยาโซกิ และได้ให้การสนับสนุนการเป็นวิทยากรของคิโยซากิหลายครั้งโดยมีข้อตกลงในการแบ่งเปอร์เซ็นรายได้ ในปี 2005 ริช โกลบอล ได้ทำข้อตกลงกับ เลิร์นนิง แอนเน็กซ์ ให้ดูแลการจัดคอร์สสัมมนาฟรีของหนังสือพ่อรวยสอนลูก
แต่ไม่กี่เดือนต่อมา ในต้นปี 2006 ริช โกลบอล ก็ได้ส่งหนังสือแจ้งยกเลิกข้อตกลงและให้บริษัท วิตนีย์ เอดูเคชั่น กรุ๊ป (Whitney Education Group, Inc) จัดสัมมนาให้แทน ซึ่งตลอดช่วงปี 2007-2010 การจัดสัมมนานี้สร้างรายได้กว่า 437.8 ล้านดอลลาร์ โดย ริช โกลบอล ได้รับค่าลิขสิทธิ์รวม 45 ล้านดอลลาร์
เลิร์นนิง แอนเน็กซ์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลเรียกร้องค่าเสียหายจากการเบี้ยวข้อตกลงและไม่จ่ายส่วนแบ่งตามที่ตกลงของ ริช โกลบอล และวันที่ 11 ตุลาคม 2012 ศาลแขวงนิวยอร์กตัดสินให้เลิร์นนิง แอนเน็กซ์ได้รับค่าเสียหาย 24 ล้านดอลลาร์
แต่คิโยซากิฉลาดเรื่องเงินมากพอที่จะรู้ว่าทำอย่างไรให้เขาไม่ต้องจ่าย 24 ล้าน เมื่อคดีความกำหนดให้บริษัทเป็นผู้จ่ายค่าเสียหาย เขาก็ได้ทยอยนำเงินออกจากริช โกลบอล จนเหลือทรัพย์สินแค่ 1.8 ล้านดอลลาร์ และยื่นล้มละลายมาตรา 7 ทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้ เลิร์นนิง แอนเน็กซ์เต็มจำนวน เป็นกลยุทธ์แบบเดียวกับที่นักธุรกิจหัวหมอหลายคนเลือกใช้ รวมถึงประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump)
นั่นหมายความว่าสุดท้ายแล้วคิยาโซกิก็แทบขนหน้าแข้งไม่ร่วงเลยด้วยซ้ำ
มีหนี้ก็ยังรวย
ผ่านเรื่องคดีความไป เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่าตัวคิโยซากิเองไม่ได้ล้มละลาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาปลอดหนี้ เขาเคยพูดถึงเรื่องหนี้ดีหนี้เสียเอาไว้ว่า หนี้ดีคือหนี้ที่ใช้ไปเพื่อลงทุนไปเพื่อสร้างรายได้ ส่วนหนี้เสียคือหนี้ที่เป็นภาระ ใช้จ่ายไปกับความฟุ่มเฟือย ซึ่งตัวเขาเองก็มีกลยุทธ์ในการใช้หนี้ที่กู้มาไปซื้อสินทรัพย์เพื่อการลงทุน (สร้างรายได้โดยไม่ต้องใช้เงินตัวเองด้วยซ้ำ) และเลือกจะเก็บสินทรัพย์หลากหลายประเภทแทนการถือเงินสด ทั้งแร่เงิน ทองคำ อสังหาฯ หรือแม้แต่วัวเนื้อวากิว
กลยุทธ์การลงทุนนี้ทำให้เขาเคยเป็นหนี้สูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ แต่เขาก็ไม่ได้กังวลพร้อมพูดอย่างมั่นใจว่า “ถ้าผมล้ม ธนาคารก็ล้ม และนั่นไม่ใช่ปัญหาของผม”
ปีนี้ 2024 คิยาโซกิก็ยังมีมูลค่าความมั่งคั่งสุทธิประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.47 พันล้านบาท) ดังนั้นก็คงพอพูดได้ว่าเขายังรวยระดับมหาเศรษฐีอยู่
นี่จึงเป็นเหตุผลที่อาจต้องถามตัวเองอีกทีก่อนจะไปเยาะเย้ยเขาว่า “จะเยาะเย้ยเขาเรื่องอะไร ล้มละลายเหรอ ก็ใช่ แต่ก็ไม่ เป็นหนี้เหรอ ก็ใช่ แต่ก็ยังรวยนะ”
ส่วนเรื่องจริยธรรม อันนี้พูดยาก แต่มันก็คนละเรื่องกับความฉลาดนั่นแหละ เพราะการเบี้ยวข้อตกลงแล้วโยกเงินหนีนี่ก็แสบใช่เล่น และยังมีข้อมูลจากคนที่เคยไปเข้าสัมมนาของเขาว่าแม้งานสัมมนาแรก ๆ จะฟรี แต่ก็มีการโน้มน้าว(แกมบังคับ)ให้ไปต่อกับคอร์สราคาแพงด้วย
ทั้งนี้ก็ใช่ว่าคำแนะนำและแนวคิดด้านการเงินการลงทุนของเขามันจะเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ที่ใช้ไม่ได้จริง ในทางตรงกันข้ามมันเป็นประโยชน์มากหากเราลดอคติลง พยายามทำความเข้าใจมันประกอบกับความรู้จากแหล่งอื่น ๆ ด้วย ไม่หลงไปในวาทกรรมการเงินของไลฟ์โค้ชหรือมันนี่โค้ชคนไหนอย่างไร้วิจารณญาณ เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับตัวเองได้มากกว่ามัวแต่สะใจกับความล้มเหลว(?)ของใครแน่นอน