พาราลิมปิกเกมส์ 2024 ปารีส เป็นอีกครั้งที่นักกีฬาไทยได้พิสูจน์ศักยภาพของตนเอง ที่ก้าวข้ามความท้าทายด้านร่างกาย และสร้างความสำเร็จได้ระดับโลก จนถึงตอนนี้เก็บสะสมเหรียญรางวัลมาแล้วกว่า 23 เหรียญ ทองแดง 11 เหรียญ เงิน 7 เหรียญ และเหรียญทอง 5 เหรียญ เป็นอันดับที่ 19 ของรายการ (วันที่ 6 กันยายน 67) ซึ่งแน่นอนว่าทั้งประเทศแห่แสดงความยินดีกันอย่างต่อเนื่องรวมถึงหน่วยงานต่างๆ มากมาย แต่เรื่องจริงที่ตลกร้าย คือ ในวันธรรมดาทั่วไปที่ไร้การแข่งขัน และกับคนพิการอีกมากมาย ไม่ได้รับความสนใจและใส่ใจมากพออย่างตอนนี้
จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พบว่าในไทยมีผู้พิการมากกว่า 2.2 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี 58% วัยแรงงานกว่า 38% พิการด้านการเคลื่อนไหวมากที่สุดกว่า 50% หรือกว่า 1.1 ล้านคน รองลงมาคือพิการด้านการได้ยิน 19% คิดเป็น 4.2 แสนคน และพิการทางการมองเห็น 8% 1.7 แสนคน และยังมีความพิการอีกหลายด้านทั้งทางจิตใจ สติปัญญา พิการทางการเรียนรู้ ออทิสติก และมีผู้ที่พิการมากกว่า 1 ประเภท 5.5% หรือกว่า 1.2 แสนคน
ความพิการนับเป็นสิ่งหนึ่งที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับคนคนหนึ่งได้ เพราะมันเปลี่ยนโลกของพวกเขาไปตลอดการ ตัดโอกาสหลายอย่างในชีวิตออกไปแบบไม่อาจย้อนคืน แต่เรื่องที่เศร้ากว่าคือการเป็นผู้พิการในสังคมที่ไม่ได้รับการหยิบยื่นโอกาสที่มากพอ จนทำให้ชีวิตของพวกเขาลำบากมากกว่าแค่ด้านร่างกาย
ในบรรดาผู้พิการวัยทำงาน 15-60 ปี กว่า 8.5 แสนคน มีผู้พิการที่กระกอบอาชีพเพียง 21% เท่านั้น หรือน้อยกว่า 1 ใน 4 จำนวน 1.8 แสนคน มีผู้พิการมากจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ 24% 2 แสนคน และผู้พิการที่ไม่ได้ประกอบอาชีพอีกกว่า49% ราว 4 แสนกว่าคน ทำให้โดยรวมแล้วมีผู้พิการที่ไม่ได้ทำงานถึง 73% กว่า 6 แสนคนเลย
แม้ภาครัฐได้มีการสนับสนุนและออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้คนพิการได้มีงานทำ ทั้งมาตร 35 ที่ให้สถานประกอบการและหน่วยงานรัฐต้องรับคนพิการเข้าทำงาน 1 คนต่อพนักงาน 100 คน หรือมาตรา 35 ที่ให้สัมปทานคนพิการทำกิน รวมทั้งการจัดหางาน แต่นั่นอาจยังไม่พอที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับคนเหล่านี้
คนพิการที่ได้งานในหน่วยงานของรัฐเองก็คิดเป็นเพียง 0.28% เท่านั้น และเป็นลูกจ้างเอกชนเพียง 1.5% สะท้อนว่าคนพิการจำนวนมากยังถูกปฏิเสธรับเข้าทำงานด้วยความพิการบางอย่างของพวกเขา แม้จะอยู่ในเกณฑ์ที่ยังทำงานได้ก็ตาม อย่างที่คนพิการจำนวนมากได้ออกมาเผยประสบการณ์ที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม เพียงเพราะพวกเขาเดินไม่ได้ หรือส่วนใดของร่ายกายขาดหายไป แต่ยังทำงานได้ไม่ต่างจากคนทั่วไปในงานหลายประเภท
การไม่มีงานทำนั้นหมายถึงการขาดรายได้ ถ้าไม่ได้มีผู้ดูแลที่เพียบพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น ผู้พิการก็จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาเงินสนับสนุนจากทางรัฐเดือนละ 800 บาท และแน่นอนว่านั่นไม่เพียงพอ ให้คนปกติใช้เงินเดือนละ 800 ให้อยู่ได้ในยุคนี้ยังยาก แล้วกับคนพิการที่มีความจำเป็นหลายด้านมากกว่าไม่มีทางอยู่ได้แน่นอน ส่วนคนที่มีงานทำก็ใช่ว่าจะอยู่ไหวและยังต้องไปกู้ยืมเงินใช้อยู่ ในระบบมีคนพิการจำนวนกว่า 1.5 หมื่นคนกู้ยืมเงิน จำนวนเงินรวมกว่า 800 ล้านบาท ส่วนใหญ่กู้ในวงเงินตั้งแต่ 2-6 หมื่นบาท
ในปี 66 การสำรวจพบว่ามีครัวเรื่อนคนพิการกว่า 1.89 ล้านครัวเรือน ซึ่งกว่า 40% นั้นเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำที่สุด มีภาระค่าใช้จ่ายครัวเรื่อนเฉลี่ยประมาณ 1.8 หมื่นบาท หนี้สินทั้งสิ้นเฉลี่ยกว่า 1.3 แสนบาท หนี้ต่อเดือนราว 2.3 พันบาท ในขณะที่วัยแรงงานที่ไม่มีความพิการซึ่งเป็นกำลังหลักของครอบครัวได้มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น
คนพิการจำนวนมากจึงกำลังขาดโอกาสในการทำงานเพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว แม้ว่าพวกเขาจะยังทำงานได้ เพราะเชื่อว่าผู้พิการจำนวนมากก็ไม่ได้อยากเอาความพิการมาเป็นข้ออ้างในการไม่ทำอะไรเลย แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญคือกำแพงด้านทัศนคติที่มีต่อความท้าทายทางกายของพวกเขา ซึ่งควรถูกทุบทำลายลงเสียที เพื่อให้ความภาคภูมิใจของคนเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในพาราลิมปิกเกมส์ แต่เกิดขึ้นได้ในทุกวันที่ใช้ชีวิตเช่นเดียวกับคนทั่วไป