ถูกแพงของแต่ละคนไม่เท่ากัน และค่าครองชีพในปัจจุบันก็ขึ้นเร็วกว่าค่าแรงเสียอีก นั่นจึงเป็นเหตุให้หลายครั้งคนที่ไม่ใช่เศรษฐีเงินล้านซื้อของก็ต้องมีต่อราคากันบ้าง ฝั่งผู้ขายก็ต้องการกำไรที่มากพอให้ธุรกิจได้ไปต่อ ฝั่งผู้ซื้อก็ต้องการราคาที่จ่ายได้โดยไม่ลำบากใจ จนต้องยื้อกันไปมาในช่วงราคาที่หดแคบลงเรื่อย ๆ จนได้ตัวเลขที่พอใจทั้งสองฝ่าย แต่บางครั้งก็อาจจบลงด้วยความไม่พอใจได้เช่นกัน
การต่อราคาสินค้าเกิดขึ้นเมื่อผู้ซื้อรู้สึกว่าราคาสินค้านั้นไม่เหมาะสมกับความคุ้มค่า หรืออาจไม่ใช่ราคาที่ผู้ซื้อจ่ายไหว แต่ก็ยังมีความสนใจในสินค้าสูง ส่วนผู้ขายจะมีทางเลือกในการตอบโต้เพื่อปฏิเสธ หรือเข้าสู่กระบวนการด้วยการเสนอราคาที่ถูกลง และราคาของสินค้าจะถูกเสนอกลับไปกลับมาจากผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งสุดท้ายมักจะถูกลง แต่จะไม่ถูกไปกว่าขอบเขตที่เรียกว่า “ต้นทุน”
ต้นทุน
ต้นทุนของธุรกิจแต่ละประเภทมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ร้านที่มักมีประเด็นกับการต่อราคา ส่วนใหญ่แล้วคือ ร้านค้าปลีกเล็ก ๆ ที่ทำธุรกิจแบบรับมาขายไป ซึ่งต้นทุนหลัก ๆ ที่ร้านต้องเจอมีดังนี้
ต้นทุนสินค้า (Costs of Goods Sold) ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้าโดยตรงอย่าง ค่าสินค้า โดยทั่วไปถ้าร้านเสื้อผ้าจะมีต้นทุนตัวสินค้าราว 30-50% ของราคาขาย แต่ถ้าเป็นร้านของชำมักผู้ผลิตมักมีราคาขายที่แนะนำหรือกำหนดไว้แล้ว
ต้นทุนการดำเนินการ (Operating Costs) ที่ใช้เพื่อการดำเนินกิจกรมประจำวันของธุรกิจนอกเหนือจากค่าสินค้า แบ่งออกเป็น
- ต้นทุนคงที่ (Fixed Costs) ซึ่งต้องจ่ายประจำอย่าง ค่าเช่าร้าน ค่าแรงพนักงานประจำ ค่าเสื่อม และค่าสาธารณูปโภค
- ต้นทุนผันแปร (Variable Costs) ที่ขายมากจ่ายมาก ขายน้อยจ่ายน้อย เช่น ค่าขนส่ง ค่าบรรจุภัณฑ์ค่าธรรมเนียมการชำระเงิน และค่าใช้จ่ายในการทำการตลาด
นี่เป็นเพียงค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ เท่านั้นที่ร้านค้าปลีกต้องจ่าย ยังไม่รวมต้นทุนอื่น ๆ ที่ต่างไปในแต่ละร้าน และต้นทุนแฝงหลายอย่างที่คำนวณไม่ได้อย่าง ค่าประสบการณ์ ค่าความรู้ ค่าเสียโอกาส หรือแม้กระทั่งเวลา
ราคาขาย
โดยทั่วไปในร้านค้าปลีก ก็จะมีการกำหนดราคาขายที่ให้ส่วนต่าง (Markup) เผื่อไว้ให้ครอบคลุมต้นทุนได้ทั้งหมดและมีกำไร อยู่ที่ตั้งแต่ 20-100% ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า สินค้าที่มีอัตราการหมุนเวียนสูงอย่างอาหารและเครื่องดื่ม ก็อาจมีส่วนต่างไม่มาก เพราะขายได้บ่อย 20-50% ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างเสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ก็อาจมีส่วนต่างที่มากหน่อย 50-100%
แต่ส่วนต่างที่มากกว่านี้ไม่ได้การันตีกำไรโดยรวมว่าสุดท้ายแล้วร้านจะครอบคลุมต้นทุนโดยรวมในแต่ละเดือน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นต้นทุนคงที่ เพราะไม่ว่าจะขายได้มากน้อย ร้านก็ยังต้องจ่ายอยู่ดี ถ้ายอดขายรวมในแต่ละเดือนไม่มากพอ ร้านก็อาจลำบากได้แม้จะยังได้กำไรต่อชิ้นสูงมากก็ตาม
ดังนั้นการคิดว่าร้านได้กำไรตั้งเยอะต่อสินค้าหนึ่งชิ้น ลดให้อีกเยอะก็ยังเหลือกำไร จึงไม่ใช่วิธีคิดที่ถูกต้อง และด้วยต้นทุนที่มากกว่าแค่ทุนสินค้า ทำให้เราไม่ควรไปเปิดเว็บจีนให้เจ้าของร้านดูว่าทุนสินค้ามันเท่านี้เอง เพื่อให้เขาลดให้อีก แบบนั้นนอกจากจะไม่สมเหตุสมผล และเสียมารยาทมากอีกด้วย
ความเข้าใจต้นทุนและราคาแบบนี้ ยังสามารถใช้ได้กับราคาสินค้าประเภทอาหารเครื่องดื่ม ที่บางคนอาจคิดว่า “เมนูง่าย ๆ แค่นี้ ทำไมขายแพงจัง” นั่นเพราะทางร้านก็ยังมีต้นทุนมากมายนอกจากค่าวัตถุดิบ และมีต้นทุนคงที่ซึ่งต้องจ่ายประจำเช่นกัน ไม่ว่าจะขายดีหรือไม่ ส่วนต่างที่เป็นกำไรจึงต้องถูกเผื่อไว้ให้ครอบคลุมมากพอ ถ้าหากใครเจอร้านไหนขายราคาไม่ถูกใจแล้วคิดว่า “ทำกินเองไม่กี่บาท” ก็แนะนำว่าทำกินเองอาจจะดีกว่า
สุดท้ายนี้ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าราคาและความคุ้มค่าของสินค้า เพราะทุกคนย่อมต้องการประโยชน์สูงสุดให้กับตัวเอง แต่มันไม่ควรเบียดเบียนใคร ถ้าคิดว่าราคานี้เราไม่พอใจจะจ่ายจริง ๆ ก็อาจเลือกซื้อหาจากร้านอื่น ดีกว่าจะฝืนต่อราคาแบบเสียมารยาท หรือไปตราหน้าว่าใครขายของแพง