ราคาน้ำมันดิบ Brent พุ่งแตะระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แตะจุดสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมาราคาพุ่งขึ้นมากว่า 12% เป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนสูงที่สุด ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดความเสี่ยงใหม่ขึ้นกับเศรษฐกิจโลก รวมถึงการลงทุนด้วย
อีกทั้งในประเทศจีนอาจมีโอกาสเกิดความเสี่ยงวิกฤตทางด้านพลังงานที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เช่นเดียวกับประเทศในแถบยุโรปที่ต้องรอให้ทางรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ไปยังยุโรปออกมารับรองว่าจะสามารถจัดส่งเชื้อเพลิงให้เพียงพอต่อความต้องการในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้
อะไร คือ สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันแพง??
เป็นเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดความต้องการพลังงานทั่วโลกที่ลดลง แหล่งซัพพลายอย่างแท่นขุดเจาะน้ำมันต่างหยุดการผลิตลงไป โดยมีตัวเลขระบุว่ากลุ่มประเทศ OPEC ลดกำลังการผลิตลงต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี
แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ผ่อนคลายขึ้นทำให้เกิดความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ซัพพลายยังผลิตออกมาไม่ทัน จึงทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น
หากจะประเมินความเสี่ยงสำคัญที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ คือ ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจะเป็นตัวกดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจบางประเทศยังไม่ทันที่จะฟื้นตัวได้เต็มที่ แต่ต้องมาพบกับต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น ที่สำคัญ คือ หากเกิดเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจาก Cost Put แต่จีดีพีมีการเติบโตที่สูงกว่าเงินเฟ้อยังคงไม่เป็นไร อย่างไรก็ตาม หากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อจะเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Stagflation หรือ เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าเงินเฟ้อ
หนึ่งเดือนที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นการปรับตัวลงของตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market ในค่าเฉลี่ย -5% ส่วนหนึ่งมาจากการที่ FED เริ่มส่งสัญญาณการลดวงเงินคิวอีลง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้นกระทบต่อตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลง
หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคาพลังงานให้ปรับลดลงได้ เศรษฐกิจโลกอาจจะเติบโตได้ต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ยังประสบปัญหาเรื่องของการกระจายวัคซีนให้ครอบคลุม และหลายประเทศเพิ่งจะเปิดเมืองให้เกิดความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ
โดยไม่นับตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่มีประเด็นการเมืองภายใน และตลาดหุ้นจีนที่มีประเด็นเรื่องของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ ตลาดหุ้นเอเชียอย่างเกาหลีใต้ เวียดนาม ไต้หวัน ที่เคยปรับตัวขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ต่าง Underperform ทั้งสิ้น
ส่วนของตลาดหุ้นไทย ที่บริษัทขนาดใหญ่ต่างอยู่ในกลุ่มพลังงานจึงอาจจะได้รับประโยชน์จากราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มถ่านหิน แต่หากทิ้งปัญหาไประยะยาว ก็อาจจะกดดันตลาดหุ้นด้วยเช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามหลังจากนี้ คือ เรื่องของราคาพลังงานที่มีเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก โดยเฉพาะสามยักษ์ใหญ่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย ทำให้การแก้ไขปัญหาราคาพลังงานอาจไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจจะกดดันการลงทุนไปต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี และถ้าเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นยิ่งเป็นตัวกดดันให้ FED ต้องเร่งลดการผ่อนคลายทางการเงิน ทั้งการทำคิวอี ตลอดจนการเพิ่มดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อตลาดหุ้นในประเทศเกิดใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้