จากการนับผลโหวตการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา ระหว่างกมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) และอดีตประธานาธิบดีคนที่ 45 โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าทรัมป์คือผู้คว้าชัยชนะ และเตรียมก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่หน้าคุ้นของสหรัฐ
นำไปสู่เรื่องที่น่ากังวลที่สุดเรื่องหนึ่ง จากนโยบายด้านภาษีสุดขั้วของเขา ซึ่งส่งผลสะเทือนการค้าโลก และอาจทำให้ชาวอเมริกันเองต้องลำบากขึ้นไปอีก
นโยบายที่ว่า คือการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากหลายประเทศทั่วโลก 10-20% และสำหรับจีน ศัตรูคู่ค้าอันดับหนึ่ง จัดให้แบบพิเศษ 60% เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตในประเทศมากขึ้น ซึ่งนั่นอาจไม่ได้ส่งผลดีไปเสียทั้งหมด แต่จะพ่วงผลเสียร้ายแรงที่อาจทำให้ค่าครองชีพในอเมริกาสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาคการผลิตของสหรัฐอเมริกามีสัดส่วน 15.9% เป็นอันดับสองของภาคการผลิตทั่วโลก แต่นั่นก็เทียบไม่ได้เลยกับอันดับหนึ่งอย่างจีนที่กินสัดส่วนการผลิตเป็นเท่าตัวถึง 31.6% จะเห็นได้ว่ายังห่างกันอยู่มาก โดยภาคการผลิตของสหรัฐอเมริกาเน้นไปที่การผลิตสินค้ามูลค่าสูง จำพวกเทคโนโลยีขั้นสูง ยานยนต์และอากาศยาน คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สารเคมีและยา แน่นอนว่าก็มีสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ยิบย่อย
แต่ภาคการผลิตของจีนมีความหลากหลายและครอบคลุมมากกว่า เรียกได้ว่าทำทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ และมีตั้งแต่ถูกเหมือนฟรี ยันแพงแบบราคาสร้างบ้านเลยก็มี
ถามว่าภาคการผลิตของสหรัฐเองตอบโจทย์การอุปโภคบริโภคของคนในชาติไหม มันก็คงพอได้ แต่หากมาดูสัดส่วนการนำเข้าส่งออกของสหรัฐอเมริกาในปี 2022 ส่งออกราว 2 ล้านล้านดอลลาร์ และนำเข้าราว 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ หมายความว่ายังต้องเพิ่งพาสินค้านำเข้าอยู่พอสมควร การขึ้นภาษีนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนที่ยังต้องนำเข้าอยู่ราว 8% จะทำให้การบริโภคในประเทศเกิดปัญหาแน่นอน
สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือสินค้านำเข้าหลายอย่างจะมีราคาสูงขึ้นมาก เพราะต้องบวกภาษีนำเข้าเพิ่มเข้าไปอีก แต่หันมาดูของเดิมในประเทศ ก็ราคาไม่ใช่ถูก ๆ อยู่แล้ว นอกจากจะเน้นการผลิตสินค้ามูลค่าสูง ยังเป็นเพราะภาคการผลิตในสหรัฐมีต้นทุนสูงกว่าในด้านแรงงาน และถ้านับเรื่องนโยบายกีดกันแรงงานต่างชาติของทรัมป์เข้าไปอีก นั่นหมายความว่าแรงงานในภาคการผลิตก็อาจมีต้นทุนสูงขึ้นด้วย
สิ่งนี้จะส่งผลในค่าครองชีพโดยรวมของสหรัฐอเมริกาสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะเกิดเงินเฟ้อสูงด้วยเช่นกัน การใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกาจึงอาจแพงขึ้นกว่าที่เคยสำหรับชาวอเมริกันเอง
ทั้งนี้ทรัมป์เองก็มีนโยบายด้านภาษีและเศรษฐกิจ ที่อ้างว่าจะเข้ามาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและเงินเฟ้อเช่นกัน
ทรัมป์บอกว่าเขาจะ “หยุดยั้งเงินเฟ้อ และทำให้อเมริกาอยู่ได้อีกครั้ง” ด้วยการลดดอกเบี้ย ลดราคาบ้าน เขาบอกว่าจะใช้วิธีเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันเพื่อลดต้นทุนพลังงาน กีดกันสินเชื่อบ้านของผู้อพยพ และเริ่มโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่ของรัฐบาลกลาง นอกจากนี้ยังมีนโยบายขยายกฎหมายลดภาษี TCJA และลดภาษีให้กับผู้ผลิตในประเทศด้วย
ถึงอย่างนั้น การที่อยู่ ๆ จะไปสั่งให้ลดดอกเบี้ย หรือลดราคาบ้าน ลดราคาสินค้า มันไม่ใช่สิ่งที่ประธานาธิบดีมีอำนาจจะทำได้โดยตรง และการลดภาษีก็ไม่เคยเป็นคำตอบที่เข้ามาแก้ไขค่าครองชีพได้ นิติบุคคลอาจนำกำไรที่เพิ่มมาไปเน้นจ่ายปันผลหรือซื้อหุ้นคืนมากกว่า และสำหรับบุคคลทั่วไป แม้ลดภาษีอาจช่วยให้มีกำลังซื้อมากขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายยังสูงอยู่ ยิ่งในสภาวะเงินเฟ้อก็อาจไม่ได้ช่วยอะไรนัก นั่นอาจทำให้ในภาพรวมแล้วทรัมป์อาจไม่ได้แก้เงินเฟ้อและค่าครองชีพสูง แต่อาจจะทำให้มันเกิดขึ้นเสียเอง
นอกจากนี้นโยบายด้านอื่น ๆ ของทรัมป์ก็เป็นอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของชาวอเมรกิกันในระยะยาวเช่นกัน ทั้งการบอกว่าจะยกเลิก Obamacare และทำนโยบายที่ดีกว่า แต่ก็ไม่เคยบอกอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการต่อต้านพลังงานสะอาดและโลกร้อน เขามีแผนที่จะยกเลิกข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมหลายร้อยข้อ รวมถึงข้อจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และบอกว่าจะยุติแหล่งพลังงานสะอาดอีกด้วย ซึ่งนั่นจะเป็นปัญหาร้ายแรงต่อการโอบรับเทรนด์ใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอาจถูกกีดกันจากกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญกับปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้
อย่างไรก็ตาม การกลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งของทรัมป์ก็มีข้อดีในหลายแง่มุม โดยเฉพาะผลกระทบต่อตลาดหุ้นและเศรษฐกิจระยะสั้น ทั้งนี้ในระยะยาว ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายยังให้ความเห็นตรงกันว่ายังมีความน่ากังวลมากกว่า แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการวิเคราะห์และการคาดการณ์จากนโยบายในช่วงหาเสียง สุดท้ายกว่าจะลงมือทำอะไรสักอย่างได้ มันก็ไม่ได้ง่ายแค่ดีดนิ้ว ทุกอย่างยังต้องผ่านสภา และนโยบายสุดขั้วหลายอย่างที่ทรัมป์เคยบอกว่าจะทำ สุดท้ายก็ไม่เกิดขึ้น ถึงเวลาจริง ๆ นโยบายของทรัมป์จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป