การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกาจบลงแล้วด้วยชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีคนที่ 45 กลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง
แน่นอนว่านี่ถือเป็นวาระสำคัญสำหรับอเมริกันชนทุกคน แต่ในขณะเดียวกันก็สำคัญต่อคนชาติอื่นทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย แม้จะไม่ใช่การเลือกตั้งในประเทศตัวเองก็ตาม
เหตุผลหลัก คือ วลีคุ้นหูที่เราพูดกันว่าอเมริกาเป็น “ประเทศมหาอำนาจ” ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ที่ไม่ว่าสหรัฐจะขยับด้านไหน ก็จะส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลกเสมอ
เศรษฐกิจ
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจด้วย GDP สูงที่สุดในโลก กว่า 25.4 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นผู้ผลิตอันดับสองของโลก และธนาคารกลางของสหรัฐก็มีอิทธิผลด้านนโยบายต่อธนาคารกลางทั่วโลก การที่ผู้นำสหรัฐกำหนดนโยบายการค้า หรือนโยบายเศรษฐกิจใด ๆ ออกมา จะกระทบต่อประเทศคู่ค้า และส่งผลต่อกันเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่พึ่งพาการค้ากับสหรัฐ อย่างในสมัยที่สองของทรัมป์ก็มีนโยบายภาษีการค้าที่น่ากังวลมาก ซึ่งจะกระทบถึงไทยแน่นอน
ความมั่นคงระหว่างประเทศ และความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์
คือเรื่องที่จะได้รับผลจากการเลือกตั้งของสหรัฐโดยตรง ด้วยอำนาจทางการเมือง และกองทัพสหรัฐในมือประธานาธิบดี ทำให้ตำแหน่งนี้มีความสำคัญในการสนับสนุนหรือช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ในความขัดแย้ง ทั้งเรื่องที่ทรัมป์เคยขู่จะถอดสหรัฐจากนาโต้ (Nato) การบอกว่าจะยุติความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ภายใน 24 ชั่วโมง และลดบทบาทต่อความขัดแย้งของต่างประเทศ ซึ่งจากการตัดสินใจของมหาอำนาจ ไม่ว่าทางไหน จุดยืนของไทยจะให้ผลกระทบและผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน
พลังงานและสิ่งแวดล้อม
คือเรื่องที่ประธานาธิบดีสหรัฐ จะมีบทบาทอย่างมาก ในฐานะผู้นำประเทศเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก และการผลิตอันดับสอง ซึ่งทั้งสองด้านส่งผลเกี่ยวพันกับเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมโดยตรง ในภาวะที่ทั่วโลกกำลังหันมาใส่ใจเรื่องพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด และออกระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย ที่ทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องปรับตัว นโยบายของสหรัฐเองก็สำคัญมากว่าจะร่วมผลักดันเรื่องนี้ต่อไป หรือจะยื้อไว้ให้ทุกอย่างยุ่งยากขึ้นไปอีก แต่สำหรับคนที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนอย่างทรัมป์ เขาก็เตรียมจะยกเลิกการสนับสนุนพลังงานสะอาดและข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย และตั้งใจจะถอนตัวจากความตกลปารีส
นวัตกรรมและเทคโนโลยี
สหรัฐเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก มีบทบาทในการขับเคลื่อนนวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างความปลอดภัยทางไซเบอร์ การใช้ AI และข้อมูลส่วนบุคคล จะเป็นแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับแนวทางของประธานาธิบดีด้วย ว่าให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ยังไง
ผู้อพยพ การย้ายถิ่นฐาน
แม้สหรัฐจะเป็นดินแดนเสรี แต่ก็ใช่ว่าคนที่นี่จะต้อนรับทุกคน ท่าทีของฝั่ง รีพับลิกันและเดโมแครต แตกต่างกันชัดเจน ซึ่งนี่จะส่งผลต่อการเข้าออก ขอวีซ่า เดินทางเข้ามาทำงาน เรียน แลกเปลี่ยน และกิจกรรมต่างๆ ในสหรัฐสำหรับชาวต่างชาติอย่างมาก และจะกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและนวัตกรรมต่อไป(เพราะต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ไม่น้อย) ซึ่งท่าทีของทรัมป์ ชัดเจนว่าไม่ต้อนรับแรงงานต่างชาติ พร้อมกีดกันทุกวิถีทางและเนรเทศอย่างเต็มที่ เพราะเชื่อว่าเป็นต้นตอของปัญหาหลายอย่างในอเมริกา
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ไม่ว่าเราจะเป็นคนชาติไหน หรืออยู่ที่ไหนบนโลก คนที่นั่งตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา จะมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องติดตามข่าวสารและนโยบายต่าง ๆ ของสหรัฐอยู่เสมอ อย่างน้อยเพื่อให้รู้ว่าถ้าสหรัฐทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ จะส่งผลกับเราอย่างไร และต้องรับมืออย่างไร
ส่วนตอนนี้ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะทำทุกอย่างที่เขาว่าไว้จริงหรือเปล่า เพราะถ้าทำ “ทุกอย่าง” จริง ๆ โลกนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแน่นอน