อีกหนึ่งนโยบายเรือธงของรัฐบาลแพทองธาร คือ “โครงการบ้านเพื่อคนไทย” มีเป้าหมายที่จะให้โครงการนี้ตอบโจทย์คนต้องการมีบ้าน รายได้น้อย และคนเริ่มต้นทำงาน ด้วยจำนวนยูนิตของทั้งโครงการอยู่ที่ 300,000 ยูนิต บนทำเลที่ดินที่มีศักยภาพจำนวน 112 โครงการ
เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้โครงการนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ และได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนไม่น้อย รวมถึงคนวัยหนุ่มสาวที่กำลังก่อร่างสร้างตัว นั่นคือ วงเงินผ่อนชำระไม่เกิน 4,000 บาทต่อเดือน ไม่เกิน 30 ปี และได้สิทธิอยู่อาศัยนานถึง 99 ปี ประเด็นสำคัญคือการไม่ต้องชำระเงินดาวน์ และยังได้เฟอร์นิเจอร์ทุกยูนิต
ขณะที่ระยะแรกของโครงการเรือธงนี้จะเริ่มต้นที่ 4 โครงการ บน 4 ทำเล ได้แก่ หลัง ปตท.สำนักงานใหญ่ ใกล้ห้าแยกลาดพร้าว, บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี, ใกล้สถานีรถไฟเชียงราก ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต โดยที่ทั้ง 3 โครงการเป็นคอนโดมิเนียมสูง 8 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 30-51 ตร.ม. ต่อยูนิต และที่ดินตรงข้ามสถานีรถไฟเชียงใหม่ เป็นโครงการคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยว
เมื่อพิจารณาจากเป้าประสงค์หลักของโครงการ เงื่อนไขสำหรับผู้อยู่อาศัย ดูเหมือนว่าผู้ที่ได้ประโยชน์น่าจะเป็นประชาชนที่ต้องการมีบ้าน ตามโจทย์ของรัฐบาล แต่หลังเปิดจองสิทธิในวันแรกผ่านเว็บไซต์ มีคนเข้าเว็บไซต์ประมาณ 20 ล้านคน
ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 พบว่ามีคนลงทะเบียนประมาณ 1.52 แสนราย และมีผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น 4.9 หมื่นคน นอกจากนี้อยู่ระหว่างการทยอย Preapprove ของผู้ที่ได้รับสิทธิ
คำถามที่น่าสนใจคือ ผลประโยชน์ของโครงการนี้จะตกอยู่กับกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการจริงหรือไม่
ต้องยอมรับว่านี่เป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยม แบบที่พรรค “เพื่อไทย” มักใช้นับตั้งแต่หาเสียง จนถึงการบริหารงานในฐานะพรรคที่ได้จัดตั้งรัฐบาล เสียงตอบรับจากประชาชนที่สนใจโครงการน่าจะพอวัดคะแนนความนิยม หรือความพึงพอใจได้ไม่น้อย
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย น่าจะได้ผลประโยชน์จากโครงการนี้ ในแง่ของการได้ประโยชน์จากการได้พัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟให้เกิดประโยชน์ ขณะที่บริษัทที่จะได้รับการดูแลโครงการบ้านเพื่อคนไทยคือ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA)
ระหว่างกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ผู้ที่ต้องการมีบ้าน กับนักลงทุนที่อาจแฝงตัวเข้ามาในลักษณะของนอมินี ภาครัฐจะสามารถคัดกรองได้จริงหรือไม่ เมื่อเกณฑ์ของเงินเดือนผู้มีสิทธิจองนั้นมีเพดานอยู่ที่ไม่เกิน 50,000 บาท ถือว่าเป็นฐานที่สูงอยู่ไม่น้อย หลายฝ่ายยังมองว่าควรปรับเกณฑ์เงินเดือนลดลงมาเป็น 30,000 บาท เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และยังเป็นการจำกัดวงของผู้มีสิทธิที่เหมาะสมได้อีกด้วย
ประเทศไทยไม่ใช่ว่าไม่เคยมีโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เมื่อย้อนไปดูข้อมูลก่อนหน้าจากผลงานรัฐบาลในชุดเก่า ทั้งโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่ถูกพัฒนาอย่างมากในสมัย รัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทั้งที่อยู่อาศัยในลักษณะของบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม แต่ต้องบอกว่าไม่ใช่ทุกทำเลจะตอบโจทย์และเป็นที่ต้องการของประชาชน จนถึงขั้นซัพพลายถูกดูดซับจนหมด หลายทำเลแทบจะไม่ต่างจากโครงการร้าง หญ้ารกครึ้ม ขณะที่บางโครงการมีการพัฒนาไปเพียงเบื้องต้น แม้จะเห็นเป็นรูปเป็นร่างแต่การพัฒนากลับหยุดชะงัก และไร้การสานต่อ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเพราะโครงการเหล่านั้นไม่ประสบความสำเร็จในด้านยอดการจอง จึงเปล่าประโยชน์ที่จะพัฒนาต่อ
โครงการที่ถูกปล่อยให้รกร้าง ไม่มีผู้อยู่อาศัย เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โครงการบ้านเอื้ออาทร อ.สุไหวโกลก จ.นราธิวาส โครงการบ้านเอื้ออาทร อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โครงการบ้านเอื้ออาทร อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โครงการบ้านเอื้ออาทร หนองจอก มีนบุรี กรุงเทพฯ
นอกจากปัจจัยด้านทำเลที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนแล้ว เหตุผลด้านการดีไซน์น่าจะเป็นคำตอบได้ดี เมื่อลักษณะของโครงการเอื้ออาทรบ้านเดี่ยวเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมือนกล่องไม้ขีดซ้อนกัน
ขณะที่โครงการ “บ้านสุขประชา” ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในลักษณะของการให้เช่า พร้อมการมีอาชีพสำหรับทำกิน ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
ปัญหาซัพพลายบ้านจากภาครัฐที่เหลือจนเป็นสถานที่รกร้าง น่าคบคิดหรือไม่ว่า ต้นตอมาจากสาเหตุอะไร ดีมานต์เทียม โครงการไม่ตอบโจทย์คนอยากมีบ้านในหลายๆ ด้าน คำถามคือ โครงการใหม่ภายใต้การนำของรัฐบาลแพทองธาร จะซ้ำรอยเดิมหรือไม่ หรือภาครัฐควรหาทางนำโครงการเดิมที่เคยทิ้งขว้าง มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์
คงต้องดูกันต่อไปว่า “โครงการบ้านเพื่อคนไทย” จะตอบโจทย์ “คนอยากมีบ้าน” ที่เป็นเป้าหมายหลักของโครงการได้จริงหรือไม่ หรือผลประโยชน์จะตกอยู่ที่ใคร ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบ