เมื่อไม่กี่วันก่อน พาร์เวล ดูรอฟ (Pavel Durov) ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มข้อความออนไลน์ Telegram ถูกจับที่สนามบินนอกเมืองปารีส ฝรั่งเศส และนำตัวไปสอบสวนในเรื่องที่แพลตฟอร์มขาดการกำกับดูแลที่เหมาะสมจนเป็นพื้นที่ซึ่งเกิดการใช้งานทางอาชญากรรมมากมาย ทั้งกลุ่มส่งภาพโป๊เปลือยเด็ก การติดต่อซื้อขายยาเสพติด การฉ้อโกง และแม้กระทั่งการเคลื่อนไหวในสงคราม ซึ่งทางแพลตฟอร์มก็ยืนกรานปฏิเสธไม่มีส่วนรู้เห็นมาตลอด แต่ทำไม Telegram จึงกลายเป็นเมืองบาปของโซเชียลมีเดีย
900 ล้านคนต่อเดือน
ใครที่เคยใช้งาน Telegram ในการติดต่อพูดคุยกับคู่ค้าหรือเพื่อในต่างประเทศ น่าจะพอรู้ว่านี่คือหนึ่งในช่องทางที่สะดวกและเข้าถึงได้เกือบทั่วโลก โดยปกติแล้วในแต่ละประเทศจะใช้ช่องทางในการสื่อสารหลักแตกต่างกัน ซึ่งเมื่อต้องติดต่อระหว่างประเทศจะอาจเกิดความยุ่งยาก แต่ Telegram คือแพลตฟอร์มที่ใช้กันกว่า 155 ประเทศ เคยมีให้โหลดใน App Store ที่จีนด้วยซ้ำ มีผู้ใช้ประจำกว่า 900 ล้านคนต่อเดือน แม้จะไม่ได้มากกว่าโซเชียลมีเดียหลักอย่าง Facebook หรือ X แต่ก็เป็นอีกช่องทางที่เข้าถึงผู้คนได้มหาศาล ทั้งยังตั้งกลุ่มสาธารณะที่มีสมาชิกได้มากถึง 2 แสนคน จึงไม่แปลกที่พี่มิจนานาชาติจะถูกใจสิ่งนี้
มีบนสโตร์หลัก
หากนึกถึงการติดต่อสื่อสารที่ผิดกฎหมายของเหล่าอาชญากร หรือการขายของเถื่อน คนมักจะนึกถึงการใช้พวก Dark Web ซึ่งนั่นเป็นอะไรที่ซับซ้อนกว่า และต้องใช้ความเชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ประมารหนึ่ง แต่กลับกัน Telegram เป็นแอปที่มีให้โหลดได้บนสโตร์หลักที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน ทั้ง Google Play Store, App Store ฯลฯ ทำให้เข้าถึงง่ายมาก ๆ แม้จะเป็นมิจมือใหม่ก็ตาม
เรื่องเกิดใน Telegram จบที่ Telegram
หนึ่งในฟีเจอร์โดดเด่นที่ Telegram มอบให้คือความเป็นส่วนตัวที่สูงมาก ผู้ใช้สามารถใช้งานโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน และไม่แม้กระทั่งเปิดเผยข้อมูลผู้ใช้ต่อหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายใด ๆ ยกเว้นมีหมายศาลมาใน “บางเคส” ซึ่งจะให้ข้อมูลที่จำกัด ยิ่งถ้าทำเป็นขบวนการยิ่งซับซ้อน ซึ่งนี่คือเหตุผลหลักที่เหล่าอาชญากรเลือกใช้แพลตฟอร์ม
Telegram ยังเป็นแอปแรก ๆ ที่ใช้การเข้ารหัสจากต้นทางถึงปลายทาง (End-to-End Encryption) ซึ่งนอกจากผู้ส่งและผู้รับก็ไม่มีใครเข้าถึงได้แม้แต่ Telegram เอง อีกทั้งผู้ใช้ยังสามารถลบข้อมูลข้อความที่ถูกส่งในแชตได้แบบไม่มีหลักฐาน
แม้การลงทะเบียนใช้งานจะต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์ แต่ผู้ใช้ก็สามารถใช้ Burner Number หรือเบอร์ชั่วคราวได้ โดยไม่ต้องใช้เบอร์โทรศัพท์จริง ไม่ต้องยืนยันตัวตน ไม่เหลือร่องรอยให้ติดตาม
ด้วยคุณลักษณะเหล่านี้ทำให้ Telegram เป็นเครื่องมือทางอาชญากรรมที่เข้าถึงง่ายใช้งานสะดวก และไร้ร่องรอย จึงทำให้มีผู้ใช้จำนวนมากตกเป็นเหลือของเหล่าอาชญากร อย่างถ้าใครทำงานฟรีแลนซ์แบบรีโมตระหว่างประเทศ น่าจะคุ้นเคยกับการติดต่องานแปลก ๆ ทาง Telegram ซึ่งส่วนใหญ่ถ้ามาช่องทางนี้จะถูกตีว่าเป็นมิจฉาชีพไปก่อนแล้ว เพราะเชื่อถือได้ยาก และยิ่งมาจากต่างประเทศก็ยิ่งตามไม่ได้
อย่างไรก็ตาม แม้ Telegram จะกลายเป็นเครื่องมือทางอาชญากรรม แต่มันไม่ใช่อาชญากร และอาชญากรจะใช้อะไรก็ก่ออาชญากรรมได้อยู่ดี อย่างในไทยเองที่มิจฉาชีพจำนวนมากใช้ Line ในการหลอก ทั้งที่ก็เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารที่ควรจะปลอดภัย หรือแม้แต่โทรศัพท์มาก็หลอกกันได้ในไม่กี่นาที
ดังนั้นความน่ากลัวจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าใช้แอปอะไร แต่อยู่ที่ใครเป็นคนใช้มันมากกว่า การตระหนักรู้ถึงภัยทางไซเบอร์ การระวังไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าคุณจะใช้แอปอะไรสื่อสารก็ตาม