สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทย พบหนึ่งในปัญหาหลักที่ต้องเร่งแก้ไข คือ “ทำอย่างไรเมื่อประเทศไทยเป็นสังคมคนโสด” ซึ่งจากผลสำรวจล่าสุด 1 ใน 5ของคนไทยเป็นคนโสด หรือประมาณ 15 ล้านคน การครองตัวเป็นโสดของคนไทยเกิดจากค่านิยมใหม่ และปัจจัย 4 ด้าน
การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทย (SES) ปี2566 พบว่า คนไทยครองตัวเป็นโสดมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 23.9 โดยเฉพาะช่วงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 15 – 49 ปี จะมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 40.5 เพิ่มขึ้นจากปี2560 (ร้อยละ 35.7) ส่วนใหญ่จะอาศัยในเขตเมือง และ 1 ใน 3 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้หญิง รวมทั้งมีปัจจัยสนับสนุนสังคมคนโสดจากการแต่งงานที่ลดลง และการหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าสู่สังคมคนโสดของไทย เกิดจาก
1. ค่านิยมทางสังคมแบบใหม่ ได้แก่
- SINK (Single Income, No Kids) คนโสดที่มีรายได้ดีและไม่มีลูกเน้นใช้จ่ายเพื่อความสุขของตนเอง เช่น อาหาร เดินทาง เป็นต้น ซึ่งจากข้อมูล SES ในปี2566 พบว่า สัดส่วนคนโสด SINK สูงขึ้นตามระดับรายได้
- PANK (Professional Aunt, No Kids) กลุ่มผู้หญิงโสดอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ อาชีพการงานดีและไม่มีลูก ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลหลาน/เด็กในครอบครัวรอบตัว โดยคนโสด PANK มีจำนวนถึง 2.8 ล้านคน ส่วนใหญ่มีรายได้ดีและจบการศึกษาสูง
- Waithood กลุ่มคนโสดที่เลือกจะรอคอยความรัก เนื่องจากความไม่พร้อมและไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากคนโสดร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 37.7 ส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากถึงร้อยละ 62.6 มีระดับการศึกษาที่ไม่สูงนัก ทำให้ความสามารถในการหารายได้จำกัด
2. ปัญหาความต้องการและความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกัน เป็นผลจากความคาดหวังทางสังคมและทัศนคติต่อการมองหาคู่ของคนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยวัฒนธรรมสังคมเอเชียส่วนใหญ่ คาดหวังว่าผู้หญิงจะต้องเป็นแม่บ้าน และหาเลี้ยงครอบครัวไปด้วย
นอกจากนี้ บริษัท มีทแอนด์ลันช์ สาขาประเทศไทย (2021) พบว่า ผู้หญิงกว่าร้อยละ 76.0 จะไม่เดทกับผู้ชายที่มีรายได้น้อยกว่า และร้อยละ 83.0 ไม่คบกับผู้ชายที่มีส่วนสูงน้อยกว่า ขณะเดียวกัน ผู้ชายร้อยละ 59.0 จะไม่คบกับผู้หญิงตัวสูงกว่า และอีกกว่าร้อยละ 60.0 ไม่เดทกับผู้หญิงที่เคยหย่าร้าง
3. โอกาสในการพบปะผู้คนน้อย โดยในปี2566 คนโสดทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ และกรุงเทพฯ ยังอยู่ในอันดับที่ 5 ของเมืองที่แรงงานทำงานหนักที่สุดในโลก ทำให้คนโสดไม่มีโอกาสในการมองหาคู่
4. นโยบายส่งเสริมการมีคู่ของภาครัฐยังไม่ต่อเนื่องและครอบคลุมความต้องการของคนโสด โดยที่ผ่านมา นโยบายส่งเสริมการมีคู่ของไทยยังมีไม่มากนัก โดยเน้นไปที่กลุ่มคนโสดที่มีความพร้อม ขณะที่ในต่างประเทศ มีแนวทางการส่งเสริมการมีคู่ที่ครอบคลุมไปถึงการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และการสร้างโอกาสในการมีคู่
จากปัจจัยที่ทำให้เป็นโสด ชี้ให้เห็นว่า ยังมีคนโสดที่อาจจะอยากมีคู่ แต่กลับพบอุปสรรคและข้อจำกัดที่ทำให้ต้องเป็นโสด ดังนั้นภาครัฐควรมีแนวทางสนับสนุนให้คนมีคู่ ดังนี้
1. การสนับสนุนเครื่องมือการ Matching คนโสด โดยภาครัฐอาจร่วมมือกับผู้ให้บริการ พัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมให้คนโสดสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
2. การส่งเสริมการมี Work-life Balance ทั้งในภาครัฐและเอกชน ทำให้คนโสดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพิ่มโอกาสให้คนโสดมีเวลาทำกิจกรรมที่ชอบและพบเจอคนที่น่าสนใจมากขึ้น
3. การยกระดับทักษะที่จำเป็นในการทำงาน เพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงานและรายได้ซึ่งคนโสดยังมีโอกาสพบรักจากสถานศึกษาได้อีกด้วย
4. การส่งเสริมกิจกรรมและการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนโสดมีโอกาสพบปะและสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ
ในต่างประเทศมีโมเดลส่งเสริมการมีคู่ที่น่าสนใจ ครอบคลุมไปถึงการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และสร้างโอกาสการมีคู่ เช่น ในสิงคโปร์ มีการจัดทำโครงการลดคนโสด โดยจ่ายเงินให้คู่รักออกเดทอย่างน้อย 2,500 บาท เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ในกิจกรรมหาคู่ หรือ จีน รัฐบาลท้องถิ่นมณฑลเจียงซีสนับสนุนแอปพลิเคชั่นหาคู่ โดยใช้ฐานข้อมูลของคนโสดที่อาศัยในเมือง มาพัฒนาแพลตฟอร์มบริการหาคู่ “Plam Guixi” หรือในญี่ปุ่น ได้จัดทำแอปหาคู่สำหรับคนโสดที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์คนที่มีความชอบใกล้เคียงกัน ส่วนรัฐบาลไทยจะลงทุนหรือไม่ต้องติดตามต่อไป