รัฐบาลเคาะมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ รวม 5 มาตรการ + แคมเปญพิเศษของธนาคารออมสิน คาดว่าจะสร้าง Multiplier Effect ที่มากกว่าให้กับเศรษฐกิจไทย หนุนจีดีพี 1.7 – 1.8% คิดเป็นเม็ดเงิน 1.4 ล้านล้านบาท เปิดโผ 9 หุ้นเด่นรับอานิสงส์แบรนด์ใหญ่อสังหาฯ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 257 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ รวม 5 มาตรการ และแพคเกจสินเชื่อพิเศษของธนาคารออมสิน ซึ่งรัฐบาลคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอีก 1.7 – 1.8% หรือคิดเป็นเม็ดเงินกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ถือเป็น Multiplier Effect หรือผลทวีคูณด้านเศรษฐกิจ โดยกระตุ้นการลงทุน 4 – 5 แสนล้านบาท กระตุ้นการซื้ออสังหาฯและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 8 แสนล้านบาท และกระตุ้นการบริโภคอีกราว 1 แสนล้านบาท โดย 7 มาตรการมีดังนี้
1. มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง โดยให้ลดค่าโอนจาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว คอนโดมิเนียมที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา ขยายวงเงินจากเดิม 3 ล้านบาท ทำให้ครอบคลุมกำลังซื้อระดับกลางขึ้นไป ซึ่งมีสัดส่วนสินค้าอยู่ประมาณ 80% ของตลาด และเป็นการแก้เกมสำหรับกำลังซื้อระดับ 3 ล้านบาท ที่มีปัญหากู้ไม่ผ่านจำนวนมาก
2. มาตรการลดหย่อนภาษีสร้างบ้านเอง มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านเอง โดยให้หักลดหย่อนภาษีได้ 1 หมื่นบาทต่อทุกจำนวนค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันเล้วไม่เกิน 1 แสนบาท หรืองบก่อสร้างไม่เกิน 10 ล้านบาท เฉพาะค่าจ้างก่อสร้างบ้านไม่เกิน 1 หลัง ในปีภาษีที่ก่อสร้างบ้านเสร็จตามสัญญาจ้างที่ก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
3. โครงการบ้าน BOI ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ได้รับการยกว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงินไม่เกิน 100% ของเงินลงทุน ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย (รวมค่าที่ดิน) ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
4. โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยกู้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ปลูกสร้างอาคารหรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างอาคาร และเพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี วงเงินต่อรายสูงสุด ไม่เกิน 3 ล้านบาท เวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี
5. โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดย ธอส. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ปลูกสร้างอาคาร หรือซื้อที่ดิน พร้อมปลูกสร้างอาคาร เพื่อต่อเติม ขยาย ซ่อมแซมอาคาร หรือไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่น อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 2.98% ต่อปี วงเงินรายละ 2,500,000 บาทขึ้นไป
สำหรับธนาคารออมสินได้จัดแพคเกจสินเชื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
– “สินเชื่อบ้านออมสินเพื่อคนไทย” อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 2.95% ต่อปี
– “สินเชื่อ Top-Up” อัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรกคงที่ 3.49%
– “สินเชื่อ GSB D-HOME กระตุ้นเศรษฐกิจ” สินเชื่อสำหรับให้ผู้ประกอบการนำไปเป็นเงินลงทุน เช่น เป็นค่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง ค่าพัฒนาสาธารณูปโภค หรือเป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ แต่จะต้องไม่เป็นการให้กู้เพื่อเก็งกำไรที่ดิน อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรกคงที่ 3.99% ต่อปี
– “สินเชื่อ GSB D-HOME สร้างบ้านเพื่อคนไทย” สำหรับการส่งเสริมกิจการโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ราคาขายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท/หลัง อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรกคงที่ 3.50% ต่อปี ทั้งนี้ไม่จำกัดวงเงินกู้ และระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 4 ปี
เปิดโผหุ้นรับอานิสงส์
สำหรับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลในครั้งนี้ สร้างปรากฎการณ์หุ้นอสังหาริมทรัพย์เขียวยกแผง โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส จำกัด คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะสร้าง Multiplier Effect ต่อหลายธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น เช่น รับเหมาก่อสร้าง, วัสดุก่อสร้าง และของใช้ในครัวเรือน (เฟอร์นิเจอร์) โดยกระทรวงการคลังคาดว่าจะมีผลต่อการผลักดันจีดีพีประเทศไทยให้เติบโตมากกว่า 4% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2.7%
สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์จะได้อานิสงส์มากขึ้น โดยเฉพาะการขยายเพดานบ้านเป็น 7 ล้านบาท เนื่องจากพอร์ตสินค้าส่วนใหญ่ครอบคลุมระดับราคาดังกล่าวอยู่แล้ว โดยข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 4/66 มี Backlog ระดับ 2.05 แสนล้านบาท จะมีการส่งมอบปีนี้ราว 1.13 แสนล้านบาท และที่เข้าข่ายเกณฑ์ราคาตามมาตรการสามารถโอนได้ง่ายขึ้น รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการระบายสต๊อกคงค้างของผู้ประกอบการที่มีอยู่รวมเกือบ 8 แสนล้านบาท
บล.เอเซียพลัส แนะนำลงทุนกลุ่มอสังหา ฯ โดยคัดหุ้นเด่นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว โดยมีพอร์ตสินค้าที่หลากหลาย และปันผลเกิน 6% ได้แก่
– บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP ราคาเหมาะสมที่ 16.00 บาท
– บริษัทศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI ราคาเหมาะสมที่ 27.30 บาท
– บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC ราคาเหมาะสมที่ 4.80 บาท
– บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ราคาเหมาะสมที่ 9.60
– บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน ) หรือ SIRI ราคาเหมาะสมที่ 2.20 บาท
– บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH ราคาเหมาะสมที่ 10.00 บาท
ด้าน บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์เช่นเดียวกันว่า มีมุมมองเชิงบวกต่อหลักทรัพย์ที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นอสังหา (Property Stimulus) โดยมองเป็นจิตวิทยาบวกต่อกลุ่มอสังหาฯ ช่วยให้ผู้ที่มีแผนซื้อบ้านและสร้างบ้านตัดสินใจเร็วขึ้น โดยเฉพาะ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP และ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน ) หรือ SIRI
รวมทั้งยังมีมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มสินค้ากลุ่มปรับปรุงบ้าน อาทิ บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) หรือ DOHOME , บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO และโดยเฉพาะ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามต่อไปว่าภาครัฐจะมีนำเสนอมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ โดยเฉพาะข้อเสนอสำคัญ ๆ ที่ภาคเอกชนได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ เช่น ยกเลิก LTV หรือเกณ์ฑการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย การลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 50% เป็นเวลา 1 ปี และทบทวนหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ โดยขยายเวลาเช่าจาก 30 ปีเป็น 60 ปี ฯลฯ รวมถึงการแก้ไขปัญหากำลังซื้อและการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ทำให้อัตราการปฎิเสธสินเชื่อสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของภาคอสังหาฯในช่วงที่ผ่านมา