ปารีสโอลิมปิกต้องสั่นสะเทือน เมื่อ อิมาน เคลิฟ (Imane Khelif) นักชกจากแอลจีเรีย ผู้มีผลตรวจร่างกายว่าเป็น “ชายทางกายภาพ” เอาชนะ แองเจลา คารินี (Angela Carini) นักชกหญิงจากอิตาลี ไปในยกแรก ภายในเวลาเพียง 46 วินาที ด้วยการที่คารินี เลือกปฏิเสธที่จะชกต่อ ทำให้ IOC (International Olympic Committee) ผู้จัดกีฬาโอลิมปิก ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าให้เคลิฟมาร่วมชกกับผู้หญิงได้อย่างไร ซึ่งถ้าหากเราย้อนกลับไปดูสาเหตุที่เกณฑ์ของโอลิมปิกอนุญาตให้เคลิฟชกได้ อาจพบปัญหาที่มีต้นตอมาจากเรื่องเงิน
อิมาน เคลิฟ มีประวัติถูกตัดสิทธิ์ชิงแชมป์โลกมวยหญิงในนิวเดลีเมื่อปี 2023 ที่จัดโดย IBA (International Boxing Association) เนื่องจากผลตรวจร่างกายพบว่าเธอมีโครโมโซม XY แบบผู้ชาย ถูกระบุว่าเป็น “Biological Male” หรือผู้ชายทางกายภาพ ทำให้ได้เปรียบนักชกหญิงคนอื่น เช่นเดียวกับนักชกจากไต้หวัน หลิน ยู่ทิง (Lin Yu-ting) ที่ถูกถอดเหรียญทองแดงจากรายการเดียวกัน แต่ทั้งคู่กลับผ่านเกณฑ์ของ IOC และได้แข่งขันชกมวยหญิงในโอลิมปิกปีนี้ที่ปารีส
นั่นเป็นเพราะเกณฑ์ใหม่ที่ IOC ใช้ ซึ่งออกมาตั้งแต่โอลิมปิกฤดูร้อนโตเกียว ปี 2021 ต้องการส่งเสริมความเท่าเทียมและหลากหลายทางเพศมากขึ้น อนุญาตให้คนข้ามเพศลงแข่งขันได้ด้วยซ้ำ โดยระบุไว้ว่า กระบวนการข้ามเพศจะต้องสมบูรณ์ก่อนอายุ 12 ปี เพื่อป้องกันความได้เปรียบทางร่างกายที่มาจากวัยแตกหนุ่ม แต่ในกรณีของ เคลิฟ และ ยู่ทิง ทั้งคู่มีเอกสารพาสปอร์ตที่ระบุว่าเป็น “ผู้หญิง” อยู่แล้ว ไม่ใช่หญิงข้ามเพศ
โดยเกณฑ์ใหม่นี้ ออกมาหลังจากที่ในปี 2015 IOC เคยประกาศเกณฑ์การตรวจวัดระดับเทสโทสเทอโรน (ฮอร์โมนเพศชายที่สร้างความได้เปรียบทางกายภาพ) ซึ่งอนุญาตให้นักกีฬาข้ามเพศลงแข่งกับผู้หญิงได้ หากระดับเทสโทสเทอโรนต่ำกว่า 10 นาโนโมลาร์ต่อลิตร อย่างน้อย 12 เดือนก่อนการแข่งขัน แต่ ณ ตอนนี้ ทาง IOC มองว่าการตรวจเทสโทสเทอโรน “ไม่จำเป็นทางการแพทย์” บอกว่า “ผู้หญิงหลายคนก็มีเทสโทสเทอโรนในระดับเดียวกับผู้ชายได้ แต่ก็ยังเป็นผู้หญิง” (จากแถลงการณ์หลังการชกของเคลิฟ)
เรื่องที่น่ากังขาคือการที่ IOC เมินเฉยต่อเกณฑ์ตรวจเพศของ IBA แม้จะเป็นคนละรายการกัน แต่ IBA เป็นองค์กรที่จัดแข่งขันชกมวยระดับโลกหลายรายการ และมีส่วนร่วมในการจัดแข่งขันกีฬาชกมวยในโอลิมปิก มาตั้งแต่ปี 1946 จนถึง 2016 ซึ่งนั่นเกิดจากความขัดแย้งของทั้งสององค์กรตั้งแต่ก่อนหน้านี้
ถึงจะเป็นองค์กรใหญ่ แต่ IBA บริหารด้วยคนซึ่งผิดพลาดได้เสมอ นั่นทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายด้าน IOC จึงทำการสอบสวน IBA ในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งหลังจากดำเนินการอยู่ราว 6 เดือน อย่างแรกที่พบเลยคือ ปัญหาเรื่องเงิน
IBA มีการบริหารเรื่องเงินที่ไม่โปร่งใส ไม่มั่นคง และมีความเสี่ยงจะล้มละลาย เพราะมีหนี้สินหลายล้านดอลลาร์ จนเปิดบัญชีสวิซไม่ได้ด้วยซ้ำ รวมถึงการทุจริตจากผู้บริหารจนทำให้การเงินมีปัญหา
อีกเรื่องคือการเมืองที่ไม่เป็นที่น่าพอใจ จุดยืนของ IBA ในสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น สวนทางกับโลก ด้วยการต้อนรับและสนับสนุนนักมวยจากรัสเซียและเบลารุส รวมทั้งการรับสปอนเซอร์จากบริษัทพลังงานรัสเซีย Gazprom แม้จะยุติสัญญาในเวลาต่อมา อีกทั้งประธานของ IBA อูมาร์ เครมเลฟ (Umar Kremlev) เองยังเป็นชาวรัสเซียด้วย
นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องการตัดสินที่ถูกมองว่าไม่เป็นธรรมหลายครั้ง สุดท้ายจึงทำให้ในปี 2019 IOC ประกาศระงับการมีส่วนร่วมของ IBA ใน โตเกียวโอลิมปิก 2020 และถอนการรับรอง IBA เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาก่อนหน้าได้
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ IBA และ IOC ขาดกันตั้งแต่ตอนนั้น และ IBA เองก็ไม่ได้มีส่วนร่วมใด ๆ ในการแข่งขันชกมวยโอลิมปิกอีกเลยตั้งแต่ โตเกียวโอลิมปิก 2020 ที่จัดขึ้นในปี 2021 ซึ่ง อิมาน เคลิฟ ก็ได้ร่วมการแข่งขันครั้งนั้นด้วย เพราะ IBA ไม่ได้มายุ่งแล้ว
หลังจากไฟต์ที่แองเจลา คารินี ปฏิเสธที่จะชกกับ อิมาน เคลิฟต่อ ทั้ง IOC และ IBA ต่างก็สาดกระสุนใส่กัน กล่าววิจารณือีกฝ่าย ทาง IOC ออกมาสนับสนุน เคลิฟ และ ยู่ทิง บอกว่า “ทั้งคู่เป็นเหยื่อของการตัดสินใจที่กะทันหันและไร้เหตุผลของ IBA” ฝั่ง IBA ก็ประณาม IOC ที่ดึงดันให้ทั้งคู่แข่งต่อได้ และแสดงความกังวลถึงความปลอดภัยของนักมวยสากลหญิงทุกคน
จุดสิ้นสุดของประเด็นนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันในการแข่งขันปารีสโอลิมปิก 2024 แต่มีแนวโน้มสูงว่า IOC จะยังคงให้นักชกทั้งสองแข่งต่อไปจนจบรายการ
โดยทางเราได้ไปเจอบทความนี้มา ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเงินหรือธุรกิจอะไร แต่สรุปประเด็นมาให้คร่าว ๆ พูดถึงความสำคัญของการพิจารณาความแตกต่างทางกายภาพในการกำหนดเกณฑ์การแข่งขันเพื่อความยุติธรรมสำหรับนักกีฬาหญิงในโอลิมปิก
- ความแตกต่างทางกายภาพ: ผู้ชายและผู้หญิงมีความแตกต่างทางกายภาพที่เกิดจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งส่งผลให้ผู้ชายและหญิงข้ามเพศมีข้อได้เปรียบทางกายภาพในด้านกล้ามเนื้อ ความแข็งแรง และความทนทาน
- การกดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน: งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการกดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนหลังวัยเจริญพันธุ์ไม่สามารถลบล้างข้อได้เปรียบทางกายภาพของหญิงข้ามเพศได้
- การแข่งขันที่ทรงคุณค่า อาจไม่ใช่การแข่งขันที่ยุติธรรม: การแข่งขันที่ยุติธรรมต้องไม่มีข้อได้เปรียบจากกฎเกณฑ์ใด ๆ โดยเฉพาะ
- การมีส่วนร่วมของนักกีฬาหญิง: นักกีฬาหญิงควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการพัฒนานโยบาย เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและความปลอดภัยในกีฬาที่พวกเธอแข่งขัน เพราะเป็นกลุ่มคนที่ต้องรับความเสี่ยงนี้
- นโยบายเรื่องความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และไม่แบ่งแยก ที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศของ IOC ไม่สอดคล้องกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ในปัจจุบัน ทั้งยังไม่สามารถปกป้องความยุติธรรมให้กับกีฬาหญิงได้
ใครสนใจก็ลองไปอ่านเพิ่มเติมดูนะ https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/sms.14581