กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร สภาอุตสาหกรรม ผนึกกำลังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาควิชาการ หน่วยงานรับรองมาตรฐาน พร้อมภาคเอกชน 15 แห่ง ร่วมระดมแนวคิด สู่มติร่วมในการยกระดับสมุนไพรไทยสู่การสกัดสมุนไพรมาตรฐาน GMP ใช้จุดแข็งหนุนอุตฯสมุนไพรไทยผงาดเวทีโลก
นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าเมื่อปลายเดือน ก.ย. 2567 ที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร ส.อ.ท. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมทั้ง สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร สมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา สมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพไทย และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกว่า 15 ราย ร่วมระดมสมองในหัวข้อ “จุดคานงัดการยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อนสมุนไพรไทยและยกระดับโรงงานสารสกัดสมุนไพรไทยให้มีองค์ความรู้ สามารถสกัดสมุนไพรได้หลากหลายชนิดอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันสู่ตลาดต่างประเทศ
ผลจากการระดมสมองมีมติในความร่วมมือพัฒนาโรงงานสกัดสมุนไพร สู่การใช้สารสกัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และการยกระดับมาตรฐานโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้มาตรฐาน GMP ซึ่งเป็นมาตรฐานส่งออกระดับสากล โดยมุ่งเป้ากลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับคนและสัตว์ 4 รายการ ที่เป็นจุดคานงัดและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ใน 1-2 ปี ได้แก่ กระชายดำ ขมิ้นชัน กัญชง และ กระท่อม นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดประเด็น future food เช่น และ functional food หรือ พืชที่ให้พลังงานและโปรตีนสูง เช่น ผลิตภัณฑ์จากไข่น้ำ ซึ่งสามารถต่อยอดสู่อาหารทางการแพทย์ได้อีกด้วย
“ตลาดสมุนไพรทั่วโลกในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 14 ล้านล้านบาท ในขณะที่มูลค่าการตลาดของไทยในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ทั้งนี้หากเทียบกับประเทศในเขตเอเชียตะวันออกไทยก็ยังเป็นรอง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี อย่างไรก็ดี สาเหตุที่มูลค่าการตลาดของไทยยังเป็นรองประเทศเหล่านี้เนื่องจากสินค้าสมุนไพรไทยส่วนใหญ่จะส่งออกในรูปของพืชสมุนไพร ขณะที่ต่างชาติส่งออกในรูปของสารสกัด เช่น ประเทศไทยส่งออกกระชายดำไปยังจีน แล้วจีนได้นำกระชายดำไปสกัดให้เหลือแต่สารสำคัญ แล้วส่งออกเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงกว่าพืชสมุนไพรถึง 4 เท่า” นายสิทธิชัยกล่าว
รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่าประเทศไทยมีพืชสมุนไพรที่มีศักยภาพสูงแต่ยังขาดการส่งเสริมด้านการวิจัยเพื่อต่อยอด ธุรกิจสมุนไพรของไทยจึงยังคงอยู่ที่ธุรกิจต้นน้ำ ส่วนธุรกิจกลางน้ำเช่น การลงทุนด้านโรงงานสกัด จะอยู่ในมือของต่างชาติ เช่นเดียวกับธุรกิจปลายน้ำ ที่อยู่ในมือต่างชาติ เป็นหลัก เช่นกัน ดังนั้น สกสว. จึงได้เข้าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน เพื่อผนึกกำลังและต่อยอดให้สามารถยกระดับสมุนไพรไทย ซึ่งเป็นของดีของคนไทย ให้สร้างมูลค่าให้คนไทย ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
โดยเป้าหมายความร่วมมือครั้งนี้ถือว่าเป็นการปฏิวัติวงการสมุนไพรไทย ที่ไม่เพียงแต่ผลักดันให้เกิดมูลค่าเพิ่มเป็นสารสกัด แต่ในอนาคตจะต่อยอดไปสู่การเข้าตำรับยา ซึ่งในหน่วยงานที่ร่วมมือกันในครั้งนี้ มีองค์ความรู้อย่างครบถ้วนในการวิจัยและพัฒนาที่ได้รับมาตรฐานจากนานาประเทศในการทดสอบการใช้ยาในคนและสัตว์ ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีชื่อเสียงอันดับหนึ่งในอาเซียน จึงควรนำจุดแข็งที่มีอยู่มาต่อยอดและพัฒนาพืชสมุนไพรของไทยให้เติบโตในระดับโลก