Pepsi เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตโคล่าเจ้าใหญ่อันดับสอง เป็นรองแค่คู่แข่งตัวฉกาจอย่าง Coca Cola แต่ที่หลายคนอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับ Pepsi คือ บริษัทเคยมีดีลมูลค่ามหาศาลที่ได้ค่าตอบแทนเป็นเรือนับสิบลำในช่วงสงครามเย็น
1959 จักรวรรดิโซเวียตต้องการค้าขายกับสหรัฐอเมริกา ฝั่งสหรัฐฯ จึงอาศัยโอกาสพยายามทำลายคอมมิวนิสต์ด้วยระบบทุนนิยม โดยจัดงานแสดงสินค้าหลากหลายประเภทให้ผู้นำจากโซเวียตมาเยี่ยมชม ทั้งบ้าน รถ สินค้าอุปโภคบริโภคมากมาย แต่ผู้นำโซเวียตดันไม่ชอบใจอะไรสักอย่าง หาเรื่องติได้หมด จนกระทั่งไปถึงบูธของ Pepsi ซึ่งก็ได้ชิม Pepsi ขวดที่ทำจากน้ำในอเมริกา กับขวดที่ทำจากน้ำในมอสโก และแน่นอนว่าชอบขวดที่ทำจากน้ำในมอสโกมากกว่า จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Pepsi เป็นที่นิยมในโซเวียตหลังจากนั้นไม่นาน
1972 CEO ของ Pepsi ในตอนนั้นได้ทำข้อตกลงส่งหัวน้ำเชื่อม Pepsi ไปผลิตที่รัสเซีย ซึ่งถือว่าได้เปรียบคู่แข่งอย่าง Coke ในโซเวียต แต่ปัญหาคือเงินโซเวียตเอาออกมาใช้ข้างนอกไม่ได้ เลยแลกเปลี่ยนกันด้วยวอดก้าขึ้นชื่อของที่นั่น ให้ Pepsi ได้สิทธิพิเศษในการนำเข้ามาขายในอเมริกา
ก่อน 1989 Pepsi ได้รับความนิยมสูงมากในโซเวียต ทำยอดขายในโซเวียตไปเป็นมูลค่ากว่า 4 ล้านดอลลาร์ (สำหรับค่าเงินในตอนนั้น) แต่ปัญหาคาราคาซังก็แก้ไม่หายเพราะในตอนนั้นวอดก้าที่แลกมาดันมีราคาตกต่ำ ทำให้ Pepsi เสียประโยชน์ จึงหาวิธีใหม่ในการแลกเปลี่ยน
ทางโซเวียตก็หัวใส ได้เสนอการจ่ายด้วยเรือดำน้ำ 17 ลำ เรือรบ เรือเดินสมุทร และ เรือพิฆาต ซึ่งเคยมีการเล่นข่าวกันว่าจำนวนและกำลังเรือที่โซเวียตเสนอมานั้นมากพอจะทำให้ Pepsi มีกองเรือที่ใหญ่ทรงพลังอันดับ 6 ของโลกเลย
CEO Pepsi ถึงขนาดเคยแซวประธานาธิบดี Nixon แบบปากแจ๋วว่า “เราปลดอาวุธโซเวียตได้เร็วกว่าคุณอีก”
สาเหตุที่โซเวียตยอมแลกด้วยกองเรือใหญ่ขนาดนั้น ก็เป็นเพราะเรือเหล่านั้นเป็นเรือล้าสมัยของโซเวียตแล้ว แต่ยังมีมูลค่าอยู่จึงได้เอามาแลกกับ Pepsi โดย Pepsi จะเอาไปแยกชิ้นส่วน และขายเป็นขยะโลหะเพื่อให้ได้เงินกลับมา
แต่ยังไม่ทันได้มาสักลำ ในภายหลังดีลนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลง และกองทัพเรือของ Pepsi ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ข้อตกลงถูกเลื่อนไปจนได้เซ็นกันจริงในปี 1990 ภายใต้ข้อตกลงใหม่ที่โซเวียตเสนอที่จะสร้างเรือบรรทุกสินค้าและน้ำมันอย่างน้อย 10 ลำ ให้แทน มูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์ (ค่าเงินในตอนนั้น) เพื่อช่วยในโปรเจกต์มูลค่าพันล้านดอลลาร์ที่ Pepsi กำลังลงทุนในธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
แต่สุดท้าย Pepsi ก็ไม่ได้เรือสักลำ เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 Pepsi อดทั้งเรือรบ เรือบรรทุก และ ต้องไปแยกดีลกันใหม่กับแต่ละประเทศที่แยกออกมาจากโซเวียตเอง
ถึงอย่างไรก็ตาม การลงทุนก่อนหน้านี้ของ Pepsi ก็ไม่ได้สูญเปล่า เพราะในปัจจุบัน รัสเซียก็ยังถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 4 ของ Pepsi ที่สร้างรายได้กว่า 3,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2023