กลายเป็นประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ เมื่อ ณวัฒน์ ทุ่มเงินประมาณ 180 ล้านบาท เพื่อซื้อลิขสิทธิ์การจัดการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ หรือ MUT เป็นเวลา 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2568 ถึง 2572
จากคู่แค้น กลายเป็นคู่ค้า สำหรับการจับมือระหว่าง บอสณวัฒน์ เจ้าของเวทีนางงามที่สร้างกระแสอยู่เสมออย่าง Miss Grand Thailand และ แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์องค์กรนางงามจักรวาล Miss Universe ที่ต้องบอกว่าก่อนหน้านี้ทั้งคู่มักจะโต้ตอบกันไปมาจนถูกมองว่าเป็นคู่แข่งในธุรกิจนางงาม
Connect the Dots มาชวนวิเคราะห์กันว่า ดีลนี้มีสาเหตุมาจากอะไร และธุรกิจนางงามในไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร
อย่างที่ทราบกันดีว่า แอน จักรพงษ์ เคยทุ่มเงินมากถึง 800 ล้านบาทเพื่อซื้อกิจการเวทีนางงามจักรวาลอย่าง Miss Universe เพื่อเป็นเจ้าของคนเดียวแบบ 100% ในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2565 และหลังถือครองกิจการแต่เพียงผู้เดียวได้แค่ปีเศษ JKN กลับประสบกับปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้กว่า 450 ล้านบาทได้ทันตามกำหนด จนต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง และเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอยืดเวลาชำระออกไปเป็นปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567
ด้วยสาเหตุดังกล่าว อาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญ ส่งผลให้ JKN ต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเองออกขาย จนต้องตัดสินใจขายหุ้นมิสยูนิเวิร์ส 50% ให้แก่นักลงทุนรายใหม่ คือ Legacy Holding Group USA Inc. (LHG) จำนวน 500 หุ้น โดยมีราคาซื้อขายทั้งหมดเท่ากับ 16,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 581 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 20 ต.ค. 2566 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 36.37 บาท)
สัดส่วนการถือครองหุ้นแบบ 50-50 ทำให้ JKN และ LHG ต้องแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบในงานบริหาร ทั้งสองบริษัททำข้อตกลงหรือ MOU โดย LHG สำนักงานใหญ่ ณ ประเทศเม็กซิโก รับผิดชอบพื้นที่อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ ขณะที่ JKN จะรับผิดชอบในเขตพื้นที่เอเชียและประเทศอื่น ๆ ที่เหลือทั้งหมด
ดีลนี้ทำให้หุ้นของ JKN ในเวลานั้น (ปิดตลาดวันที่ 23 มกราคม 2567) ราคาอยู่ที่ 0.76 บาทต่อหุ้น รวม 2 วันมูลค่าปรับขึ้นมา 49% นับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน
ความไม่ลงรอยกันระหว่างเจ้าของเวทีนางงามแห่งยุค ที่เปิดเผยออกมาให้เห็นบนสื่อออนไลน์ ทำให้เราคิดไปได้ว่า คงเป็นเรื่องยากมากที่ทั้งสองจะหันกลับมาจับมือกัน เมื่อทั้งคู่ต่างประกาศกร้าวว่าจะไม่ร่วมงานกัน
เดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก กลับมาข่าวที่แฟนนางงามไทยคาดไม่ถึง คือการจับมือกันทำธุรกิจระหว่าง เจ้าของมิสยูนิเวิร์ส และเจ้าของเวทีมิสแกรนด์ ไทยแลนด์
หากมองในแง่มุมของธุรกิจ ขณะที่ธุรกิจหนึ่งกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ธุรกิจกำลังไปได้สวย หยิบจับอะไรก็ไปได้ดี แต่อีกธุรกิจยังวนเวียนกับปัญหาที่ยังคาราคาซัง เรื่องการฟื้นฟูกิจการ
ถ้าจะกล่าวว่า JKN จำใจขายลิขสิทธิ์ให้คู่แค้นอย่าง มิสแกรนด์ไทยแลนด์ก็อาจไม่แน่ชัดนัก เมื่อเวทีของธุรกิจไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร
ต้องบอกว่าดีลนี้มีแต่ได้กับได้ หากพิจารณามูลค่าธุรกิจเวทีประกวดนางงามทั่วโลกที่มีมูลค่าประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยถูกประเมินว่ามูลค่าธุรกิจนางงามสูงถึง 300 ล้านบาท ผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์เป็นหัวใจสำคัญของการจัดการประกวดและเป็นช่องทางหลักของรายได้ นอกจากนี้งบซอฟต์ พาวเวอร์ น่าจะเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของธุรกิจนางงามด้วยเช่นกัน
สิ่งที่น่าสนใจนอกจากดีลลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์สคือ หุ้น MGI ของ ณวัฒน์ อิสรไกรศีล อาจจะมีปรับขึ้นมาบ้างหรือไม่ เพราะราคาหุ้นของ MGI ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ราคาหุ้นของ MGI เคยดิ่งลงไปถึง 85% เหลือเพียง 10.10 บาท จากราคาเปิดวันแรกที่ 6.25 บาท และเคยทำจุดสูงสุดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ราคา 65.27 บาท
ราคาหุ้นที่แกว่งไกวเช่นนี้ คงไม่ยี่หระสำหรับบอสณวัฒน์อย่างแน่นอน เพราะณวัฒน์ ถือเป็นยอดนักขาย ที่นอกจากธุรกิจหลักอย่างการเป็นเจ้าของเวทีมิสแกรนด์ไทยแลนด์ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของรายได้หลัก คือ จากการประกวด ยังมีรายได้จากศิลปิน ซึ่งคือ เหล่านางงามเจ้าของมงกุฎ ที่เป็นศิลปินในสังกัด ธุรกิจบันเทิง สินค้าอุปโภคบริโภค
ที่ผ่านมา ณวัฒน์ยังขายลิขสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพการประกวดมิสแกรนด์ โดยมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ล่าสุด ณวัฒน์ พูดในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า นี่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะปัจจุบันมีสปอนเซอร์ร่วมสนับสนุนการประกวดในปีนี้แล้ว 115 ล้านบาท จากเป้าหมาย 200-300 ล้านบาท ยังไม่รวมการขายลิขสิทธิ์การประกวดระดับจังหวัดอีกหลายสิบล้านบาท
ด้านแอน จักรพงษ์ กล่าวว่าจะนำเงินที่ขายลิขสิทธิ์ได้ 180 ล้านบาท ไปใช้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ รวมถึงชำระหนี้ และ MGI มีความพร้อมในทุกด้านสำหรับงานนี้
ธุรกิจเวทีนางงามในไทยนับจากนี้ อาจจะเปลี่ยนฉากทัศน์ไปอย่างสิ้นเชิง แต่อย่างไรแฟนนางงามคงมีอะไรให้ลุ้นสนุกมากขึ้น