รายละเอียดโครงการมีอะไรบ้าง จะขอ e-receipt จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ทำอย่างไร Connect the Dots สรุปมาให้แล้ว
Easy E-Receipt คืออะไร
เป็นมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ให้นำค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการในประเทศตามเงื่อนไขมาลดหย่อนภาษีเงินได้ โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขดังนี้
การใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการตามร้านค้าทั่วไป ทั้งที่จดและไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่ต้องออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) สามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 30,000 บาท
และยังลดหย่อนเพิ่มเติมได้อีก 20,000 บาท จากการซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร และวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ โดยต้องใช้ e-Tax Invoice และ e-Receipt เช่นกัน
รวมแล้วสามารถลดหย่อนสูงสุด 50,000 บาทในโครงการนี้
ข้อควรระวังคือ มีสินค้าบางประเภทที่ไม่สามารถนำมาลดหย่อนได้เลย ได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ เชื้อเพลิงพาหนะ ยานพาหนะ ค่าสาธารณูปโภคและค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต รวมถึงค่าใช้จ่ายที่พัก แพ็คเกจท่องเที่ยว ประกันวินาศภัย หรือค่าใช้จ่ายที่ใช้บริการนอกเหนือจากช่วง 16 ม.ค.-28 ก.พ. 68
ซื้อจากร้านไหนได้ลดหย่อนภาษี
ร้านที่ร่วมโครงการคือร้านที่สามารถออก e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ให้เราได้ ซึ่งร้านค้าส่วนใหญ่ก็สามารถทำได้ อย่างร้านสะดวกซื้อยอดนิยม 7-11 ก็เข้าร่วมทุกสาขา ห้างสรรพสินค้าอย่างในเครือเซ็นทรัลและเดอะมอลล์ รวมถึงแพลตฟอร์มช้อปปิงออนไลน์อย่าง Shopee, Lazada และ TikTok Shop ก็สามารถขอ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ได้เช่นกัน
สามารถตรวจสอบร้านที่ที่มีสิทธิออก e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เพิ่มเติมได้ที่ https://etax.rd.go.th/ETAXSEARCH/easy-e-receipt
วิธีขอ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ทั้งหน้าร้านและออนไลน์
ตามห้างสรรถสินค้าหรือร้านค้าทั่วไปคุณสามารถแจ้งกับร้านได้เลย โดยให้ข้อมูลชื่อนามสกุลจริง ที่อยู่และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีแก่ทางร้าน
ที่ 7-11 ก็ซื้อของตามปกติ แล้วแจ้งพนักงานว่าขอรับใบกำกับภาษี พนักงานเสียบบัตรประชาชนและกดหมายเลขโทรศัพท์
ถ้าซื้อจากร้านค้าออนไลน์ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะต้องเลือกร้านที่สามารถออกใบกำกับภาษีให้ได้ โดยสังเกตป้ายหรือสัญลักษณ์ “E-Receipt” ที่สินค้าหรือร้านค้า แต่ปกติแพลตฟอร์มจะแยกหมวดไว้ให้อยู่แล้ว เมื่อเราสั่งซื้อสินค้าจากร้านค้านั้น ในหน้าจ่ายเงินบน Shopee และ Lazada ให้เลื่อนหารายการที่มีคำว่า “ใบกำกับภาษี” และกดเข้าไป กรอกข้อมูลให้เรียบร้อย แล้วสั่งซื้อได้ตามปกติ ส่วน TikTok Shop ให้สั่งซื้อให้เรียบร้อยก่อนแล้วกด “ติดต่อผู้ขาย” เพื่อขอรับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ทางอีเมล
ทั้งนี้ที่ต้องเน้นย้ำคือ สิทธิลดหย่อนภาษีจากมาตรการนี้จะใช้ได้กับภาษีเงินได้ปี 68 ที่จะต้องยื่นต้นปี 69 (ปีหน้า) ส่วนรอบปีภาษีที่ยื่นกันตอนนี้เป็นของปี 67 ไม่สามารถนำไปลดย้อนหลังได้ และการลดหย่อนคือลดจากเงินได้ที่หักค่าใช้จ่ายตามเงินได้แต่ละประเภทแล้วก่อนคำนวณภาษี ไม่ใช่หักจากภาษีที่คำนวณแล้ว
สุดท้ายนี้ แม้การใช้จ่ายในมาตรการนี้จะให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี แต่ก็อย่าลืมว่าที่ใช้ก็ยังเป็นเงินของเราเอง จะใช้จ่ายกับอะไรก็อย่างลืมคิดหน้าคิดหลังให้ดี และใช้อย่างระมัดระวัง ไม่อย่างนั้นก็อาจกระทบต่อสภาพคล่องในระยะสั้นได้แม้จะได้ลดหย่อนปีหน้าก็ตาม