ในขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัย และผู้เชี่ยวชาญกำลังค้นหาผู้รอดชีวิตจากซากอาคาร สตง. ที่ถล่มลงมาหลังจากไทยได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของรอยเลื่อนสะกาย ต้นเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568
ท่ามกลางความตื่นตะหนกของคนไทยจากแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ที่มีศูนย์กลางอยู่ในเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา สิ่งที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศตกใจ ฉงน สงสัยไม่ต่างกันคือ ความแข็งแรงของอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้าง เมื่อพิจารณาจากภายนอกโครงสร้างสำคัญ เช่น เสา คาน พื้น เกือบเสร็จสมบูรณ์ และอาคารแห่งนี้ที่ตั้งสำคัญของหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐบาล ท่ามกลางอาคารสูงอีกหลายร้อยแห่งทั่วกรุงเทพฯ กลับมีเพียงอาคาร สตง.เท่านั้นที่พังทลายลง
แรงสั่นสะเทือนในครั้งนี้ทำให้อาคาร สตง. พังถล่มลงมาภายในไม่กี่วินาที คำถามคือ สาเหตุมาจากความรุนแรงของแผ่นดินไหว หรือเพราะมาตรฐานด้านโครงสร้างที่ขาดหายไปกันแน่
โครงการก่อสร้างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ถูกออกแบบให้เป็นอาคารสูง 30 ชั้น มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 2,136 ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2020 เมื่อล้วงลึกไปถึงบริษัทผู้รับเหมาพบว่า ผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างคือ บริษัทร่วมทุน ระหว่าง บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น ประเทศไทย จำกัด ภายใต้กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี
ด้านบริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) อย่างที่ทราบกันว่า สถานการณ์ของบริษัทเริ่มมีทิศทางที่ไม่ค่อยสดใส นับตั้งแต่ นายเปรมชัย กรรณสูต ถูกจับจากการเข้าป่าไปล่าเสือดำในทุ่งใหญ่ ขณะที่ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ประกอบธุรกิจก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย โดยมีชื่อกรรมการ 2 คน เป็นสัญชาติไทย 1 คน และสัญชาติจีน 1 คน และสัดส่วนผู้ถือหุ้น เป็นคนไทย 3 คน ถือหุ้นร้อยละ 51 ส่วนคนจีน 1 คนถือหุ้นร้อยละ 49 และผลประกอบการปี 2566 พบว่าขาดทุนกว่า 199 ล้านบาท
ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ เท็น เป็นรัฐวิสาหกิจจากประเทศจีน ซึ่งบริษัทเคยนำโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. เป็นเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจ โดยโพสต์ลงแพลตฟอร์มออนไลน์ของบริษัท โดยเรียกขานอาคาร สตง. ว่าเป็น “นามบัตรใบแรกของบริษัทฯ ในประเทศไทย” และเป็นผลงานแสดงศักยภาพของวิศวกรรมจีนในตลาดต่างประเทศ
แต่หลังจากเกิดเหตุ อาคาร สตง. ถล่ม เว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ของ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น พบว่า ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ทั้งข่าวประชาสัมพันธ์ รูปภาพระหว่างงานก่อสร้าง ถูกลบออกไปจากระบบทันที
ต้องบอกว่างานนี้พบพิรุธอย่างมาก นับตั้งแต่การที่เจ้าหน้าที่ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ จำกัด เข้ามาขนเอกสารออกจากซากตึก และเหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยได้ตรวจสอบเหล็กเส้นตัวอย่าง 28 ท่อนจาก อาคาร สตง. ถล่ม และพบว่า เหล็ก 13 ท่อน 2 ไซส์ที่ไม่ได้มาตรฐานแม้จะยังไม่สามารถสรุปได้ว่านี่เป็นสาเหตุให้อาคารถล่มหรือไม่ เพราะยังต้องเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบเพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังพบว่า ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ เท็น ยังได้รับงานก่อสร้างหน่วยงานราชการในไทยนับ 10 โครงการ นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 จนถึงปีงบประมาณ 2568 ได้แก่ 1. อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนราธิวาส 2.ทาวน์โฮม 2 ชั้น การเคหะแห่งชาติ 3. อาคารเรียน โรงเรียนวัดอมรินทราราม 4. อาคารคลังพัสดุ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ 5. หอพักนักศึกษา จ.ภูเก็ต 6. ศูนย์ราชการจังหวัดแพร่ 7. อาคารศูนย์ฝึกกีฬามวย สนามกีฬาหัวหมาก 8. อาคารชุดพักอาศัยข้าราชการตุลาการ 9. อาคารศูนย์บริการลูกค้า อาคารสำนักงาน และอื่นๆ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.ภูเก็ต 10. อาคารกองบังคับการ กรมพลาธิการทหารเรือ 11.อาคารที่ทำการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จ.นนทบุรี 12. อาคารสถาบันวิชาการ กฟภ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.นครปฐม 13. อาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ โรงพยาบาลสงขลา โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ชนะประมูลการเสนอราคางานก่อสร้างได้ จะเป็นกิจการร่วมค้า ที่มี บ.ไชน่า เรลเวย์ นับเบอร์ เท็น เป็นกิจการร่วมค้าด้วยทั้งสิ้น
และหากนับรวมโครงการก่อสร้าง อาคาร สตง. เท่ากับว่า ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น รับงานก่อสร้างโครงการภาครัฐไทย ในฐานะกิจการร่วมค้ากับบริษัทเอกชนอื่นๆ รวมแล้ว 14 รายการ ภายใต้งบประมาณตั้งแต่ปี 2562-2568 ทั้งสิ้น 7,232,098,777 บาท
นี่เป็นรายชื่องานก่อสร้างที่สามารถตรวจสอบได้ แต่ยังมีโครงการก่อสร้างที่ บ.ไชน่า เรลเวย์ นับเบอร์ เท็น เข้าไปร่วมเป็นกิจการร่วมค้า และซื้อซองประมูล แต่ไม่ยื่นเสนอราคา
ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วมเป็นกิจการร่วมค้ากับ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น ได้แก่ บริษัท เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท สันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต จำกัด
และเมื่อสืบลึกต่อไปพบว่า บ.เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มี มานัส ศรีอนันต์ ถือหุ้น 52.1% ประจวบ ศิริเขตร ถือหุ้น 27.9% และบิงลิน วู สัญชาติจีน ถือหุ้น 20% และเป็นคู่สัญญากับการไฟฟ้านครหลวง อย่างน้อย 3 สัญญา วงเงินงบประมาณก่อสร้าง 69,259,388 บาท
ขณะที่ บ.สันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต จำกัด มี ประจวบ ศิริเขตร ถือหุ้น 10% มานัส ศรีนันต์ ถือหุ้น 48% และ บิงลิน วู ถือหุ้น 42% และเป็นคู่สัญญากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการจ้างเหมาซ่อมรถยนต์ของราชการอย่างน้อย 6 สัญญา วงเงินงบประมาณ 341,489 บาท
นั่นหมายความว่า บริษัททั้ง 3 เป็นคู่สัญญา รับงานจากภาครัฐรวม 22 รายการ งบประมาณไม่ต่ำกว่า 7,298,184,704 บาท
ล่าสุด กรมท่าอากาศยานกำลังพิจารณายกเลิกสัญญากิจการร่วมค้า ซีไอเอส ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนราธิวาส ที่มี ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น เป็นหนึ่งในกิจการร่วมค้า เนื่องจากความล่าช้าในการก่อสร้างกว่าแผน 60.76% งานล่าช้ารวม 631 วัน โดยในเดือน กุมภาพันธ์ 2568 มีความคืบหน้าเพียง 0.64%
ซึ่งกรมท่าอากาศยานได้กำหนดเงื่อนไขให้เร่งงาน ให้มีความคืบหน้า 5% ต่อเดือน แต่ในเดือนมีนาคม 2568 กลับทำได้เพียง 0.51% เท่านั้น นั่นทำให้ มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้างและวัสดุอุปกรณ์ทั้งระบบ พร้อมรายงานภายใน 3 วัน
นี่แค่การตรวจสอบภายในระยะเวลาไม่กี่วัน กลับพบพิรุธมากมายจาก ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น ทั้งบริษัทคู่ค้าที่มีผู้ถือหุ้นคนไทยและคนจีน ที่เหมือนกันทั้ง 2 บริษัท และการชนะประมูลงานส่วนใหญ่ของภาครัฐรวมสัญญา 22 รายการ จากเหตุการณ์อาคาร สตง. ถล่ม จนถึงความล่าช้าในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานนราธิวาส หน่วยงานภาครัฐที่ว่าจ้าง ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น จำเป็นต้องตรวจสอบบริษัทสัญชาติจีนรายนี้หรือไม่