แม้ประเทศไทยเพิ่งผ่านสงกรานต์กันมาหมาด ๆ (เพราะตัวยังอาจไม่แห้งดี ฮ่า ๆ ) แต่รู้หรือไม่ว่าทุกวันพุธในสัปดาห์ที่สามของเดือนเมษายนอย่างวันนี้เป็นวันสำคัญของสหรัฐอเมริกา นั่นคือ “วันกล้วยแห่งชาติ” ใช่แล้ว มีวันที่คนเราเฉลิมฉลองให้กล้วยอยู่จริง ด้วยการทำอาหาร (ส่วนใหญ่จะเป็นขนม) โดยใช้วัตถุดิบหลักเป็นกล้วย ไม่ว่าจะเป็น Banana Splits (ไอศกรีมที่เสิร์ฟพร้อมกล้วย) ขนมปังกล้วย สมูทตี้กล้วย แพนเค้กกล้วย หรือแม้แต่กล้วยทอด
วันกล้วยแห่งชาติของสหรัฐอเมริกานั้นมาจากความเป็นมาของกล้วยในประเทศที่เกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชาวอเมริกันมายาวนานจนคนในชาติผูกพันกับผลไม้ชนิดนี้
เริ่มมาจากช่วงปีคริสต์ศักราช 550s ที่มีพ่อค้าชาวอินโดนีเซียนำกล้วยจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาค้าขายแถบแอฟริกาและมาดากัสการ์ หลังจากนั้นก็เริ่มปรากฏในยุโรปโดยหมอคนหนึ่งอธิบายไว้ว่าเป็นผลไม้ชั้นสูงหายาก ก่อนที่ในช่วงศตวรรษที่ 16 จะถูกนำเข้ามาในทวีปอเมริกาพร้อมกับการค้าทาส และเริ่มการปลูกกล้วยในโลกตะวันตก
เมื่อถึงปี 1870 การค้าขายกล้วยในทวีปอเมริกาก็รุ่งเรืองมากขึ้น เริ่มจากคอสตาริกา โดยบริษัทผลไม้ชื่อ United Fruit Company ต่อมาในปี 1960 ยุคที่โทรทัศน์เริ่มแพร่หลาย และมีการฉายโฆษณา ก็มีเพลงโฆษณาอย่าง “The Chiquita Banana Song” ที่มีตัวการ์ตูนกล้วยสาวมาร้องเพลงเล่าวิธีกินกล้วย เก็บกล้วย ดูว่าลูกไหนสุกไม่สุก เอาไปประกอบอาหารอะไรได้บ้าง รวมถึงคุณประโยชน์อย่างครบครันเอาไว้ในเพลงโฆษณาไม่ถึงนาทีครึ่ง ทำให้กล้วยกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ American Pop Culture
กล้วยกลายเป็นผลไม้ที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนอเมริกัน ใช้ทำอาหารและขนมหลากหลายเมนู รวมถึงเป็นส่วนประกอบของ Lunch Box ของชาวอเมริกันที่ขาดไม่ได้ จนในช่วงปี 2000 สหรัฐอเมริกาจึงได้มีวันกล้วยแห่งชาติทุกวันพุธในสัปดาห์ที่สามของเดือนเมษายน เพื่อเฉลิมฉลองให้กับผลไม้ที่มีอิทธิพลกับคนในชาติมากที่สุด
ซึ่งนั่นทำให้ตลอดหลายปีมานี้สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่นำเข้ากล้วยมากที่สุดในโลก ปีละหลายล้านตัน มูลค่าไม่น้อยกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ โดยนำเข้าจากกัวเตมาลามากที่สุดเป็นมูลค่ากว่าพันล้านดอลลาร์
แต่นี่ยังถือว่าน้อยหากมองภาพรวมในตลาดโลก เพราะตลาดกล้วยทั่วโลกในปี 2023 มีมูลค่ารวมประมาณ 139.7 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 5 ล้านล้านบาท (จากรายงานของ Mordor Intelligence) โดยตลาดที่ใหญ่ที่สุดคือ เอเชียแปซิฟิก ส่วนตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดคือ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
หันมาดูที่กล้วยไทย บอกเลยว่าไม่แพ้ที่ชาติไหนเหมือนกัน เพราะคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการสูง ส่งออกไปญี่ปุ่นปีละกว่า 2,000 ตัน และน่าจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว สร้างมูลค่าการส่งออกกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท (นับเฉพาะแค่ส่งออกญี่ปุ่นเท่านั้น)
ส่วนภายในประเทศเองก็นิยมบริโภคกันมาก แม้กระทั่ง “ร้านค้าขนาดเล็ก” อย่าง 7-11 ที่มีมากกว่า 15,000 สาขาทั่วประเทศ ก็ยังมีกล้วยหอมลูกเดี่ยวขาย ซึ่งก็ขายดีมาก ๆ แม้จะแพงกว่าซื้อยกหวีตามตลาดหลายเท่าตัว เพราะตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคมากกว่า และคุณภาพที่ดีมีมาตรฐานเพราะคัดมาแล้ว ทำให้ร้านคาเฟ่ต่าง ๆ พากันมาเหมาไปทำขนมหรือขายต่อจนของหมดอยู่บ่อยครั้ง ซัพพลายเออร์บางรายก็ส่งขายถึงวันละเป็นแสน ๆ ลูก และบางรายก็ส่งมากถึงวันละเป็นแสน ๆ ตันเลย
โดยสาเหตุที่กล้วยเป็นผลไม้ยอดนิยมทั่วโลกขนาดนี้ ก็มาจากความสะดวกในการรับประทาน เพราะปลอกง่าย เคี้ยวง่าย ทั้งยังย่อยง่ายและให้พลังงานสูง มีสารอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายมาก เหมาะกับแทบทุกเพศทุกวัย ที่มากกว่านั้นคือสามารถนำไปแปรรูปได้ง่าย มีตัวเลือกหลากหลายเมนู และยังมีช่วงเวลาที่เหมาะกับการรับประทานชัดเจน สังเกตได้จากสีเปลือกด้วย จึงไม่แปลกเลยที่กล้วยจะเป็นพืชเศรษฐกิจยอดนิยมที่สร้างมูลค่าได้มหาศาลขนาดนี้