ใกล้เทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 แล้ว เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่หลายวัดดังกำลังจัดงานเทศกาลให้คนมาร่วมทำบุญและเที่ยวงานวัด ในส่วนของงานวัดก็จะมีทั้งโซนมหรสพและโซนตลาด ที่เปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าจากทุกที่เข้ามาขายของกันเพื่อกอบโกยรายได้ก้อนใหญ่จากคนจำนวนมากที่มาร่วมงาน แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นเหมือนกับดักที่ทำให้พ่อค้าแม่ค้าบางรายต้องขาดทุน…
งานวัด งานใคร?
รูปแบบของงานเทศกาลตามวัดจะค่อนข้างแตกต่างจากอีเวนต์ในสถานที่อื่น ๆ เนื่องจากไม่ได้มีอีเวนต์ออแกไนเซอร์เข้ามาจัดการดูแลงาน แต่เป็นทีมงานกรรมการวัดเองที่ดูแลในส่วนนี้ เพื่อให้รายรับที่เข้ามาทั้งหมดเป็นไปเพื่อประโยชน์ของวัด ในส่วนการเก็บรายได้จากค่าที่ขายของ ก็จะมีการเปิดให้จองคิว จับสลาก หรือประมูลล็อก แตกต่างกันไปแล้วแต่วัด ซึ่งทางวัดก็จะมีเรตราคาเริ่มต้นสำหรับทำเลต่าง ๆ มาให้ แต่การซื้อขายหรือราคาหลังจากนั้นก็อยู่นอกเหนือการจัดการของวัดไปแล้ว
ประมูลล็อก
วัดไหนที่งานเทศกาลโด่งดัง คนไปเยอะ เป็นที่ต้องการของพ่อค้าแม่ค้ามาก ก็มักใช้วิธีการประมูลราคาล็อกกัน ซึ่งการประมูลนี่แหละที่เป็นช่องโหว่ที่มักเกิดปัญหา เพราะแม้จะช่วยให้วัดได้เงินทำบุญจากค่าที่มากขึ้น แต่อีกนัยหนึ่งมันก็ทำร้ายคนขายของอย่างน่าเจ็บใจ เนื่องจากการประมูลอาจไม่ใช่การให้ราคาล็อกโดยวัดจากความต้องการจริง ๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ
สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในแทบทุกการประมูลคือ “การปั่นราคา” จากผู้ร่วมประมูลด้วยกันเอง ที่บ้างก็ว่าเป็นกลยุทธ์ บ้างก็ว่าเป็นการกีดกัน จนท้ายที่สุดราคามันไปจบที่ตัวเลขหลายแสน บางครั้งก็หลักล้าน (ขึ้นอยู่กับทำเลและขนาดของล็อก) ทำให้มีแต่คนที่ทุนหนาพอเท่านั้นจึงจะได้โอกาสในพื้นที่เหล่านี้ ส่วนใครที่ยอมสู้ก็ต้องแบกทุนที่หนักเกินจริงเข้าไป และหวังว่าสุดท้ายจะขายได้มากพอครอบคลุมค่าที่
รีเซลล็อก
การประมูลไม่ใช่อย่างเดียวที่กระทบต่อต้นทุนค่าที่ของพ่อค้าแม่ขาย สำหรับวัดที่ไม่ได้ใช้วิธีนั้น สิ่งที่น่ากลัวไม่แพ้กันคือการรีเซล หรือขายต่อล็อก ซึ่งวิธีการก็ไม่ได้ต่างจากวงการรีเซลสนีเกอส์หรืออาร์ตทอยส์ แค่เอาคิวจองหรือจับสลากล็อกให้ได้ แล้วนำไปขายต่อในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งบ่อยครั้งที่ล็อกในงานไม่ได้ถูกขายต่อเพียงทอดเดียว แต่ถูกขายต่อกันได้หลายทอด และราคาก็สูงขึ้นอีกในทุกครั้งที่เปลี่ยนมือ วิธีนี้จึงเกิดการปั่นราคาได้เช่นกัน และแม้แต่ในงานที่ใช้วิธีประมูลก็อาจมีการขายต่อล็อกอีกทีด้วย อีกทั้งในบางครั้งคนที่ได้สิทธิ์ในล็อกและนำมาขายต่อ ก็ไม่ใช่พ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการไปขายของในงานจริง ๆ ตั้งแต่แรก เป็นแค่คนที่เข้ามาฉกฉวยโอกาสในความต้องการนี้เท่านั้น ซึ่งด้วยวิธีนี้ค่าที่ที่พ่อค้าแม่ค้าจ่ายก็จะไม่ได้ถึงวัดอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ของดียังไงก็ขายได้(?)
บ่อยครั้งที่จะมีข่าวว่าพ่อค้าแม่ค้าขาดทุนจากงานเทศกาลเพราะแบกค่าที่หลักแสน ซึ่งก็มีทั้งคนที่เห็นใจ และมีทั้งความคิดเห็นแย้งว่าที่ขาดทุนเพราะของไม่ดีเองหรือเปล่าจึงขายไม่ได้ เพราะค่าที่ก็เต็มใจจ่ายเองแต่แรกแล้ว
ความเห็นประมาณนี้จะว่าถูกก็ถูก แต่ก็คงเป็นมุมมองที่คับแคบไปหน่อย ของดียังไงก็ขายดีจริง แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้ร้านสักร้านทำกำไร เพราะต้นทุนที่สูงเกินไปสามารถกระทบกับโครงสร้างการทำกำไรของธุรกิจได้เลย และค่าเช่าที่สูงขนาดนี้ สำหรับหลายร้านพวกเขาเต็มใจจ่ายด้วยความคาดหวังว่าจะเป็นทางรอดให้ธุรกิจของตัวเองต่อไป เพราะตอนมีงานคนก็ไปซื้อที่งานกันหมด บางทีถ้าไม่ไปก็อาจขายไม่ได้เลย
ทั้งนี้การวิเคราะห์และประเมินธุรกิจของตัวเองอย่างเหมาะสม ก็เป็นสิ่งที่พ่อค้าแม่ขายควรทำอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจบนเงินก้อนใหญ่ขนาดนี้
อย่างไรก็ตามบทความนี้ไม่ได้ต้องการให้มองว่าการขายของตามงานวัดไม่ดี มีความเสี่ยงสูง เพราะเรื่องของความเสี่ยงคือสิ่งที่ยังไงก็ต้องเจอในการทำธุรกิจ ซึ่งแต่ละคนรับได้ไม่เท่ากัน และที่สำคัญก็ยังมีคนจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จจากการขายของตามงานวัด (บางร้านขายแค่ตามงานวัดอย่างเดียวเลยก็มี) เพียงต้องการนำเสนอมุมหม่น ๆ ที่พ่อค้าแม่ขายหลายคนต้องพบเจอ ซึ่งเกิดจากความโลภของคนบางกลุ่มที่จงใจปั่นราคา และความประมาทของคน จนทำให้ผู้ขายหลายร้านกลายเป็นเม่า เอาตัวเองเข้าไปจมกับทุนที่ตนแบกรับไม่ไหว และหลายครั้งที่ค่าที่แสนแพงนี้มันส่งผลให้ราคาของในงานมันแพงขึ้นไปด้วย จนกระทบมาถึงผู้บริโภคในที่สุด
#งานวัด #ลอยกระทง #ค่าเช่างานวัด #CTD #connectthedots