#PopPolicy อธิบายPolicy ด้วยมุมป๊อป
.
ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 นโยบายที่น่าจะเรียกเสียงฮือฮาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้มากที่สุด
เห็นจะไม่พ้นการแจกเงินดิจิตัล คนละ 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย บ้างก็ว่านโยบายนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงจัง บ้างก็ว่านี่เป็นนโยบาย “ประชานิยม” ที่จะสร้างแต่ภาระทางการคลังและไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะอ้างอิงประสบการณ์นโยบายแจกเงินทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อนำมาสู่ข้อสรุปว่า การแจกเงิน “เวิร์ค” หรือไม่?
.
“หว่าน” หรือ “พุ่งเป้า”?
หนึ่งในประเด็นที่ถกเถียงกันเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินหรือการให้สวัสดิการ คือ ควรแจกให้กับทุกคน หรือควรแจกเฉพาะกลุ่มที่รัฐบาลต้องการจะช่วยเหลือจริง ๆ
ในมุมของฝ่ายที่ชอบการแจกเงินแบบ “หว่าน” ก็จะมีเหตุผลว่าการแจกเงินแบบนี้ไม่ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ตัวตนของผู้รับเงินที่อาจยุ่งยากและไม่แม่นยำ ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายทำได้รวดเร็วขึ้นด้วย ส่วนฝ่ายที่ชื่นชอบการแจกเงินแบบ “พุ่งเป้า” ก็มักจะอ้างว่าด้วยการแจกเงินแบบนี้จะประหยัดงบประมาณกว่าแจกหว่าน และกระบวนการระบุกลุ่มเป้าหมายก็ทำได้ไม่ยากหากใช้ Big Data เข้ามาช่วย
ผิดฝาผิดตัว: ประสบการณ์อันขมขื่นจากรัฐบาลลุง
ในช่วงวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ออกมาตรการทางการคลังเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์ ซึ่งนโยบายแรกคือ “เราไม่ทิ้งกัน” ซึ่งเป็นการแจกเงิน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้แก่แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราวและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยกลุ่มที่ถูก “คัดออก” จากโครงการนี้หลัก ๆ ก็คือข้าราชการ ซึ่งยังได้เงินเดือนเต็มเม็ดเต็มหน่วย และเกษตรกร ซึ่งจะได้รับการช่วยเหลือจากอีกโครงการหนึ่ง
ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ เราไม่ทิ้งกัน เป็นโครงการที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อเยียวยาประชาชนที่ออกไปประกอบอาชีพไม่ได้ แต่ขั้นตอนการพิสูจน์ตัวตนล่าช้า และเต็มไปด้วยความผิดพลาด เนื่องจากฐานข้อมูลที่ใช้ไม่ได้มีการอัพเดท ทำให้ประชาชนหลายคนกลายเป็นเกษตรกร ทั้ง ๆ ที่บางคนไม่มีที่ดินทำกินเสียด้วยซ้ำ
ในฐานะที่ผู้เขียนเคยทำงานอยู่ในศูนย์รับเรื่องร้องเรียนโครงการเราไม่ทิ้งกัน มีทั้งคนที่โทรมาอ้อนวอนว่า ขอเงินแค่เดือนละสองพันบาทก็ได้ แต่ขอเงินทันทีได้ไหม บางคนโทรมาบอกว่าจะโดดสะพานตายถ้าไม่ได้เงิน และมีบางคนที่ลูกกำลังจะได้ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย เพราะผู้ปกครองหาเงินมาจ่ายค่าเทอมไม่ทัน
และในเมื่อการระบุตัวตนล้มเหลว ประชาชนผู้ตกสำรวจก็ต้องเขียนใบคำร้องเป็นกระดาษมาส่งที่อำเภอหรือจังหวัด และก็เป็นเหล่าข้าราชการนี่แหละที่ต้องกรอกข้อมูลดังกล่าวด้วย “มือ”
ถ้ามองย้อนกลับไปถึงสาเหตุที่เราไม่ทิ้งกันไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากฐานข้อมูลที่ไม่ดีพอ ซึ่งทำให้การระบุกลุ่มเป้าหมายคลาดเคลื่อนไปหมด อีกเหตุผลที่น่าเศร้าคือผู้ดำเนินโครงการอาจไม่ได้ให้ความสำคัญการเยียวยาประชาชนอย่างรวดเร็วเป็นหลัก แต่กลับมีความ “เบียว” Big Data `โดยหวังจะได้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่จากประชาชนที่มาลงทะเบียน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยเงินที่ถึงมือประชาชนที่ล่าช้า ทั้ง ๆ ที่ถ้าใช้การแจกเงินแบบไม่ต้องตรวจสอบเงื่อนไขผู้รับมากมาย ประชาชนก็จะได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีไปแล้ว
.
อีกโครงการหนี่งภายใต้รัฐบาลลุงตู่ที่สะท้อนถึงความล้มเหลวของนโยบายแบบ “พุ่งเป้า” คือโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” ที่ไม่ได้แก้ปัญหาความยากจน เพราะจำนวนผู้มาลงทะเบียนกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ยังเจอปัญหาความผิดฝาผิดตัว เพราะคนที่จนจริง ๆ แต่ไม่สามารถมาลงทะเบียนได้กลายเป็นผู้ตกสำรวจ ในขณะที่ผู้มีอันจะกินบางคนกลายสภาพเป็น “คนอยากจน” และได้รับสวัสดิการที่ไม่สมควรได้รับตั้งแต่แรก
ก็ยังถือว่าเป็นโชคดีของคนไทย ที่ในภายหลังรัฐบาลลุงตู่ได้ลองใช้นโยบายการแจกเงินแบบ “หว่าน” เช่น โครงการคนละครึ่ง ซึ่งผู้ลงทะเบียนจะได้รับสิทธิ์ในทันที ซึ่งเสียงตอบรับจากประชาชนก็ดีกว่าโครงการแบบพุ่งเป้าก่อนหน้านี้มาก
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าโครงการแจกเงินแบบ “พุ่งเป้า” จะมีแต่ข้อเสีย แต่ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการประเภทนี้คือฐานข้อมูลที่เชื่อถือได้และมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง มิใช่การเก็บข้อมูลเฉพาะเวลาดำเนินโครงการเท่านั้น เช่นนโยบายแจกเงินช่วงโควิดของมาเลเซีย ที่มีการแจกเงินให้กับประชาชนในกลุ่มรายได้ 20% แรก 40% กลาง และ 20% ท้าย ในจำนวนที่ต่างกัน ซึ่งฐานข้อมูลที่มาเลเซียใช้มาจากการเก็บข้อมูลอย่างสม่ำเสมอของกรมสถิติของมาเลเซียทุกสองปีครึ่ง ทำให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างถูกฝาถูกตัว
.
“หว่าน” ยังไงให้ได้ผล?
แล้วถ้าการแจกเงินแบบพุ่งเป้ามีข้อจำกัด จะ “หว่าน” เงินยังไงให้ได้ผลดีที่สุด?
คำตอบคือต้องหว่านแบบ “ไร้เงื่อนไข”
ในแวดวงวิชาการ และสำนึกของคนทั่วไป มักคิดว่า การแจกเงินที่ไม่มีเงื่อนไข จะทำให้ผู้รับนำไปใช้สุรุ่ยสุร่าย หรือนำไปใช้จ่ายกับสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และการแจกเงินจะทำให้ผู้รับขี้เกียจ
แต่จากประสบการณ์การทดลองแจกเงินในต่างประเทศ ได้พิสูจน์แล้ว คนที่รู้วิธีการใช้เงินที่ดีที่สุดไม่ใช่ภาครัฐ แต่คือ “ประชาชน” ผู้รับเงินนั่นเอง
ในกรุงลอนดอน Broadway องค์กรการกุศลแห่งหนึ่ง เคยมีการทดลองให้เงินคนไร้บ้าน 13 คน คนละ 3,000 ปอนด์ แบบไร้เงื่อนไข เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการจัดการบุคคลเหล่านี้ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมสูงถึงปีละ 4 แสนปอนด์ โดยผลปรากฏว่าสองจากสิบสามคนสามารถหาที่อยู่ได้ คนไร้บ้านบางคนนำเงินก้อนนี้ไปเข้าหลักสูตรทำสวนล้าง ไปบำบัดอาการติดยาบ้าง กลายเป็นว่าโครงการนี้ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาคนไร้บ้านได้แล้ว ยังทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณ จนนิตยสาร Economist ถึงกับสรุปว่า “การใช้เงินกับคนไร้บ้านที่ดีที่สุดคือการให้เงินพวกเขาไปเลย”
อีกตัวอย่างของการแจกเงินหว่านแบบไร้เงื่อนไขที่ประสบความสำเร็จมากคือองค์กร GiveDirectly ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่เน้นการแจกเงินแบบไร้เงื่อนไขทั้งกับคนจนในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาที่สามารถระดมเงินบริจาคได้ถึงระดับ 2-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งถ้ามองกันอย่างผิวเผินแล้ว การแจกเงินเช่นนี้เหมือนจะไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อเงินหมด คนก็น่าจะกลับไปยากจนเหมือนเดิม
แต่เราต้องไม่ลืมว่าการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ จะก่อให้เกิด multiplier effect หรือการหมุนของเงิน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไปได้ไกลขึ้นอีก โดยมีโครงการหนึ่งของ GiveDirectly ในเคนยาซึ่งมีการแจกเงินรวมกัน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีตัวคูณเท่ากับ 2.4 แปลว่าทุก 1 ดอลลาร์ที่คนจนได้รับ จะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระบบเป็นจำนวน 2.4 ดอลลาร์ เป็นการอัดฉีดที่ทำให้เศรษฐกิจคึกคัก
อีกปัจจัยที่เราอาจจะลืมคิดไปคือ คนจนบางส่วนอาจจะเลือกใช้เงินที่ได้ไปกับการลงเรียนหลักสูตรฝึกอาชีพ หรือการซื้อสิ่งของที่จำเป็นในการประกอบกิจการ ซึ่งทำให้หลายคนหลุดพ้นความยากจนอย่างถาวร
และถ้าย้อนกลับมามองโครงการแก้จนเช่นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของไทย กลับมีเงื่อนไขให้ผู้รับเงินต้องเข้ารับการฝึกอาชีพจากภาครัฐ ซึ่งน่าคิดไม่น้อยว่าการทำตัวเป็น “คุณพ่อรู้ดี” ของรัฐซึ่งคิดแทนประชาชนว่าต้องฝึกอาชีพแบบไหน คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จนั่นเอง
บทสรุป
แน่นอนว่าการแจกเงินอาจไม่ใช่ยาวิเศษที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในเร็ววัน เพราะถึงแม้นโยบายนี้จะมีศักยภาพในการแก้ปัญหาความยากจน แต่การจะยกระดับประเทศไทยให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางอาจต้องอาศัยการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อโยกแรงงานไทยจากภาคเกษตรไปสู่ภาคที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น ซึ่งการแจกเงินอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์ตรงนี้
และผู้เขียนอยากจะขอส่งท้ายด้วยคำกล่าวที่ว่า “นักการเมืองให้ปลา พระราชาให้เบ็ด” อาจจะไม่จริงเสมอไป เพราะวิธีช่วยเหลือประชาชนที่ดีที่สุดอาจจะเป็นการให้ “เงิน” แก่ประชาชนโดยไม่มีเงื่อนไขนั่นเอง
ผู้เขียน : ธนากร ไพรวรรณ์