เมื่อพูดถึงหนังสือการ์ตูน เรามักคุ้นเคยดีกับคอมมิกส์จากอเมริกา และมังงะ จากญี่ปุ่น แต่ในช่วงหลายปีมานี้เกาหลีได้หาพื้นที่ของตัวเองในตลาดใหญ่นี้ได้ ด้วย มันฮวา ที่เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์ม Webtoon ต่าง ๆ และได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ซึ่งนี่ถือเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแรงมาก ๆ จากเกาหลีใต้ เพราะการถ่ายทอดวัฒนธรรม วิถีชีวิตต่าง ๆ ผ่านเรื่องราวที่น่าสนใจในการ์ตูนช่วยให้คนได้ซึมซับความเป็นเกาหลีไปไม่น้อย
ว่าแต่ มันฮวา นี่คืออะไรกันแน่ แตกต่างจากการ์ตูนอื่น ๆ อย่างไร และทำไมคนถึงชอบ
“มันฮวา” เป็นภาษาเกาหลีเอาไว้ใช้เรียกการ์ตูน เหมือนที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “มังงะ” ซึ่งต่างก็มาจากภาษาจีนที่เรียกว่า “ม่านฮั่ว” นั่นเอง พูดง่าย ๆ คือ การ์ตูนเหมือนกัน แค่เรียกคนละแบบ
ต้นกำเนิดของมันฮวาในเกาหลีใต้มาจากอิทธิพลของญี่ปุ่นที่เข้ามายึดครองในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และได้รับความนิยมในประเทศสูงช่วง 1920s พอช่วงหลังสงคราม เกาหลีก็เริ่มมีหลากหลายแนวมากขึ้น แต่ก็ถูกเซนเซอร์ไปด้วยเพราะพิษการเมือง
จนมาถึงยุคดิจิทัลช่วงปี 2000s ที่ผู้คนเริ่มเข้าถึงอินเทอร์เน็ต มีเว็บไซต์อย่าง Daum และ Naver ถือกำเนิดขึ้น ให้บริการ Webtoon หรือ การ์ตูนที่อ่านได้บนเว็บไซต์เป็นเจ้าแรก ๆ ไม่ใช่แค่ในเกาหลี แต่อาจจะในโลกเลยด้วยซ้ำ
ในยุคแรก ๆ จะเป็นแบบคลิ๊กเปลี่ยนหน้าไปเรื่อย ๆ แต่พอเริ่มมีโทรศัพท์มือถือแบบจอสัมผัส ก็เริ่มเปลี่ยนรูปแบบมาเป็น Scroll บนลงล่าง เพื่อความสะดวก
โดยนี่เป็นหนึ่งในรูปแบบสำคัญที่ทำให้มันฮวาบน Webtoon ต่างจากมังงะ และ คอมมิกส์ เพราะทั้งสองแบบนี้มีเสน่ห์ในแบบรูปเล่ม และที่สำคัญคือในแต่ละหน้าจะแบ่งช่องไว้หลายช่องในหนึ่งหน้า จนเรียกกันอีกอย่างว่า “การ์ตูนช่อง”
ซึ่งพอปรับเป็นแบบออนไลน์ อ่านผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันแล้วก็ยังแบ่งเป็นช่อง ๆ อยู่ แต่กับมันฮวานั้นเสน่ห์ของมันอยู่ที่การอ่านบนเว็บ และไม่ค่อยแบ่งช่องในแต่ละหน้า หนึ่งเฟรมต่อหนึ่งหน้าเลย เพราะต้องเลื่อนอ่านอยู่แล้ว
ความนิยมของมันฮวาเริ่มแพร่หลายในระดับสากลเมื่อช่วงทศวรรษ 2010s ที่เริ่มแปลภาษาต่างประเทศ ให้ผู้อ่านจากทั่วโลกเข้าถึงได้ และในปี 2014 Naver ก็ได้เปิดตัว Webtoon ที่เป็นแอปพลิเคชันสำหรับอ่านการ์ตูนบนมือถือ และปฎิวัติการอ่านการ์ตูนไปตลอดกาล ทำให้หลังจากนั้นก็มี Webtoon ของอีกหลายค่ายตามออกมา
ยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 Webtoon เติบโตสูงขึ้นกว่า 37% รวมถึงในต่างประเทศด้วย เนื่องจากการเข้าถึงง่ายกว่าการ์ตูนประเภทอื่น และทาง KOCCA (Korean Culture & Content Agency) ก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งการจริงจังกับเว็บไซต์เผยแพร่Webtoon ผิดลิขสิทธิ์ และให้งบประมาณสนับสนุนผู้สร้างมหาศาล
อุตสาหกรรม Webtoon ทั่วโลกเติบโตมากจนมีมูลค่าสูงกว่า 4.7 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2021 และคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 60,000 ล้านในปี 2030 ซึ่งข้อมูลจาก KACCA บอกว่าครีเอเตอร์เกาหลีที่ลงงานทุกสัปดาห์ใน Webtoon ทำเงินเฉลี่ยเกือบ 90,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
แพลตฟอร์มของ Naver มีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 180 ล้านบัญชี เป็นคนไทยไม่น้อยกว่า 16 ล้านคน และมีคนอ่านทั่วโลกมากกว่า 85 ล้านคนต่อเดือน
มีการ์ตูนกว่า 1.6 ล้านเรื่องจากนักวาดกว่า 900,000 คน และเป็นคนไทยนับร้อย
นอกจากนี้การ์ตูนหลายเรื่องจาก Webtoon ของ Naver ก็ได้รับความนิยมสูงมากจนถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็น Itaewon Class หรือ Sweet Home
ซึ่งแน่นอนว่าการเติบโตของ Webtoon นั้น กดดันทั้ง มังงะ และ คอมมิกส์ ที่ถูกออกแบบมาให้อ่านเป็นเล่ม พอเจอพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปก็ไม่แปลกที่ตลาดจะหดตัวลงบ้าง ถึงอย่างนั้น ก็มันฮวาคงจะไม่ได้มาแทนที่ทั้งสองอย่าง เพียงแต่จะดึงความสนใจจากนักอ่านได้มากขึ้น รวมถึงนักอ่านบางส่วนจากการ์ตูนทั้งสองแบบนี้ด้วย
ทุกวันนี้ Webtoon จากเกาหลีนับว่ามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการ์ตูนโลก เป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านทั่วโลก รวมถึงนักอ่านชาวไทย และมีแนวโน้มที่อุตสาหกรรมนี้จะเติบโตขึ้นได้อีกหลายเท่าตัว สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของเกาหลีในฐานะผู้เผยแพร่วัฒนธรรมในระดับโลก ที่ไม่ว่าอะไรจะอยู่ในมือ ก็กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้หมด
สุดท้ายนี้ถ้าใครอ่าน Webtoon ก็ลองบอกกันหน่อยครับว่า Webtoon เรื่องโปรดของเพื่อน ๆ คืออะไร
ที่มา: https://cont-reading.com/context/webtoon-kulture/
https://www.reuters.com/technology/navers-webtoon-ceo-says-barrier-new-entrants-is-high-2023-08-14/
https://www.naiin.com/news-activities/3603
https://www.ajudaily.com/view/20220502144051133