ถ้าพูดถึง “มาม่า” คงจะไม่มีใครในประเทศไทยที่ไม่รู้จักบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์นี้ ที่กินส่วนแบ่งตลาดบะหมี่กึ่งในไทยมากที่สุด จนหลายคนติดปากเรียกบะหมี่กึ่งทุกแบรนด์ว่ามาม่า แม้ว่าจะไม่ใช่มาม่าก็ตาม เป็น Generic Name หรือ ชื่อสามัญของวงการบะหมี่กึ่งฯ ในไทยไปแล้ว
บะหมี่กึ่งฯ เป็นอาหารยอดฮิตในไทย จนทำให้ไทยเป็นประเทศที่บริโภคบะหมี่กึ่งมากเป็นอันดับ 9 ของโลก ที่ 3,870 ล้านเสิร์ฟต่อปี
ซึ่งก็มาจากหลากหลายปัจจัย ทั้งราคาถูก ความอร่อย รสชาติหลากหลาย และที่สำคัญคือ เตรียมง่ายมาก ๆ แค่ใส่น้ำร้อน รอไม่เกิน 3 นาทีก็พร้อมทานแล้ว
จนบะหมี่กึ่งฯ เป็นอาหารแห้งในอุดมคติที่หลายบ้านต้องมีติดครัวไว้ โดยเฉพาะยี่ห้อมาม่า
“มาทีหลัง แต่ดังกว่า”
แม้มาม่าจะเป็นเจ้าใหญ่ในปัจจุบัน แต่ยุคแรกเริ่มที่มีบะหมี่กึ่งฯ ขายในไทย มาม่ากลับเป็นเจ้าที่มาช้ากว่าใครเพื่อน
โดยในปี 2514 “ซันวา” (ที่ไม่ใช่ก๊อกน้ำ) คือบะหมี่กึ่งฯ เจ้าแรกที่วางขายในไทย ก่อนที่จะเริ่มมีแบรนด์ไทยเกิดขึ้นอย่าง “ยำยำ” ในปีเดียวกันนั้น และมีแบรนด์ไทยอื่น ๆ ตามมา ทั้ง “ไวไว” และ “มาม่า” ที่มาท้ายแถว
แต่มาช้าขนาดนี้ก็ไม่ได้ทำให้ใจฝ่อ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมทุนกับบริษัท เพรซิเดนท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ ของใต้หวัน สร้างบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ขึ้นมาเพื่อผลิตและจัดจำหน่ายมาม่า
การเข้ามาของบะหมี่กึ่งฯ ในตอนนั้นนับว่าเป็นนวัตกรรม ซึ่งแน่นอนว่าอะไรที่เป็นนวัตกรรม มาแรก ๆ ราคาไม่ถูกแน่
ราคาขายตอนนั้นแพงกว่าบะหมี่ชามที่ขายตามข้างทาง จนทำให้ช่วงแรกแทบขายไม่ได้ และแบรนด์ต้องพบเจอกับอุปสรรคหลายอย่าง ทำให้หุ้นส่วนจากทางไต้หวันตัดสินใจโบกมือลาภายหลังร่วมมือกันมาได้เพียง 1 ปีเท่านั้น
ถึงอย่างนั้นสหพัฒฯ ก็ไม่ได้ถอดใจ พยายามทุกวิถีทางเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นและทำให้คุ้นเคยกับแบรนด์ อาศัยจุดแข็งของการเป็นผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ที่สุด ใช้อำนาจต่อรองกับฝ่ายค้าปลีก และเพิ่มช่องทางกระจายสินค้า เข้าถึงผู้บริโภคได้ครอบคลุมถึง 90% ทั่วประเทศ
การที่ผู้บริโภคใช้ชื่อ “มาม่า” เป็นคำสามัญเรียกบะหมี่กึ่งฯ ก็อาจทำให้เกิดความสับสนต่อแบรนด์ได้ มาม่าจึงพยายามออกบรรจุภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากเจ้าอื่น และยังให้ความสำคัญกับการใช้วัสดุ เปลี่ยนมาใช้ถ้วยกระดาษก่อนที่ญี่ปุ่นจะทำเสียอีก
อีกหนึ่งอย่างที่ทำให้มาม่าโดดเด่นมาก ๆ คือ รสชาติของบะหมี่กึ่งฯ ซึ่งมาม่ามีไม้ตายเป็นรสที่ขายดีที่สุดอย่าง “รสต้มยำกุ้ง” เพราะมีน้ำหนักของเส้นน้อย พอดีกับปริมาณเครื่องปรุง ให้รสชาติที่เข้มข้นถึงใจคนไทย
รวมทั้งมีการออกรสชาติที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้ใคร ๆ ในองค์กรก็สามารถคิดรสชาติใหม่ได้ ไม่ใช่แค่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาเท่านั้น
และที่สำคัญเลยคือมาม่ามีสโลแกนที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยตลอด 50 ปี คือ “มาม่า อร่อย” สั้น ๆ ง่าย ๆ และสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์เป็นที่หนึ่ง
เพราะถึงแม้บะหมี่กึ่งฯ ทุกวันนี้จะไม่ใช่สินค้าพรีเมี่ยมที่แพงกว่าบะหมี่ทั่วไปเหมือนแต่ก่อนแล้ว กลายเป็นสินค้าราคาถูก ก็ยังต้องทำให้คุณภาพดีอยู่เสมอ
แต่ทั้งนี้ ด้วยเทรนด์การบริโภคสมัยใหม่ในปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งการที่บะหมี่กึ่งเริ่มงอกกลุ่มตลาดแบบพรีเมียมขึ้นมา แบรนด์ต่างประเทศเข้ามามีบทบาทและเป็นที่นิยมมากขึ้น แม้มาม่าจะปรับตัวออกไลน์สินค้ามารองรับและแข่งขันในกลุ่มตลาดใหม่ ๆ แล้ว แต่ดูเหมือนเขาจะไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น
เพื่อหลีกหนีจากการถูกแทรกแซงและต่อยอดมาม่าให้เป็นมากกว่าบะหมี่กึ่งฯ แบบเดิม ๆ มาม่าเริ่มเปิดตัว Mama Shop และภายหลังได้ปรับเปลี่ยนเป็น Mama Station ธุรกิจร้านอาหารที่ นำมาม่าไปสร้างสรรค์เมนูอร่อยมากมายให้ได้เลือกลิ้มลอง หรือจะเป็นบะหมี่กึ่งฯ แบบดั้งเดิมแต่เติมแต่งด้วยท็อปปิงที่หลากหลาย ทั้งเนื้อสัตว์ ผัก และลูกชิ้นต่าง ๆ เพื่อให้อร่อยกับมาม่าได้มากกว่าที่เคย
โดยเชื่อว่าการทำร้านอาหารเป็นการสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ที่ดีมาก ซึ่งโมเดลนี้เป็นการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่มีไอเดีย มีความพร้อม เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งจะเป็นธุรกิจแบบวิน-วินทั้งสองฝ่าย
พาร์ทเนอร์ทำร้านโดยใช้ชื่อและมาม่ามาเป็นส่วนประกอบหลักในเมนู ส่วนมาม่าคอยตรวจสอบคุณภาพให้ได้มาตรฐาน
มีหนึ่งอินไซด์ของผู้บริโภคบะหมี่กึ่งฯ ที่น่าสนใจคือ หนึ่งในกลุ่มคนที่ชอบบริโภคบะหมี่กึ่งฯ มาก ๆ คือ คนเมา เพราะมีการสำรวจออกมาแล้วว่า โซเดียมสูงในบะหมี่กึ่งฯ ช่วยชดเชยการขาดน้ำที่เกิดขึ้นจากการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากได้ และช่วยให้หายจากอาการแฮงโอเวอร์
นอกจากนี้การสำรวจอาหารยอดฮิตที่คนเมาชอบกินส่วนใหญ่จะเป็นพวกฟาสต์ฟู้ด ซึ่งในไทยเองฟาสต์ฟู้ดยอดฮิตที่หาได้ตลอดเวลาก็ไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจากบะหมี่กึ่งฯ นั่นเอง
ซึ่งนั่นก็ทำให้ Mama Station เตรียมไปเปิดสาขาที่ RCA ย่านรวมความบันเทิงยามค่ำคืน ในวันที่ 11 ธันวาคม 2566 นี้ ซึ่งผู้จัดการใหญ่ของมาม่าบอกว่าสาขานี้จะเปิดยันผับปิดเลย
ตอนนี้ก็มี Mama Station เปิดให้บริการ 3 สาขาแล้ว และในสิ้นปีนี้จะเปิดให้ได้อีก 2-3 สาขา และในอนาคตก็มีแผนจะเปิดเป็นแฟรนไชส์ด้วย เพื่อการรับรู้แบรนด์ที่ดีต่อไป และไม่ทำให้มาม่ากลายเป็นแค่ชื่อสามัญที่ใช้เรียกบะหมี่กึ่งฯ ในไทยเท่านั้น
โดยรวมเราจะเห็นได้ว่า แม้มาม่าจะไม่ใช้ผู้บุกเบิกตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย แต่ด้วยความพยายามไม่หยุดยั้ง อาศัยจุดแข็งในการจัดจำหน่ายและพัฒนาสินค้าที่หลากหลาย รวมถึงต่อยอดธุรกิจอยู่ตลอดเวลา ก็สามารถทำให้มาม่าแซงขึ้นมาเป็นที่หนึ่ง และครองใจผู้บริโภคมายาวนานตลอด 50 ปี
ที่มา:
https://www.matichon.co.th/economy/news_4231782
https://www.bbc.com/thai/thailand-57956718
https://www.brandbuffet.in.th/…/tfmama-launches-mama…/
https://instantnoodles.org/en/noodles/demand/table/
https://readthecloud.co/mama-noodles/
https://melmagazine.com/en-us/story/ramen-hangover-cure