หากพูดถึงตลาดนัด หากคิดว่า แค่มีพื้นที่โล่ง กว้าง การคมนาคมสะดวก สถานที่ใหญ่โต แล้วมาทำตลาดนัด หรือ ตลาดคนเดิน แล้วจะประสบความสำเร็จ อาจเข้าใจผิด เพราะมีตลาดนัดหลายแห่งที่ต้องปิดตัวลง หรือ ไม่สามารถเรียกคนมาเดินได้
แต่ความโด่งดังของจ๊อดแฟร์ ทั้งที่พระราม 9 และที่สาขาใหม่ แดนเนรมิต บนถนนพหลโยธิน รวมทั้งล่าสุดที่ด้านหลังเซ็นทรัล พระราม 9 จนขยายเฟสที่ 2 และ Grab ระบุว่า จ๊อดแฟร์ยังเป็น 1 ใน 5 สถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่ชาวต่างชาติชอบไปมากที่สุด
และล่าสุดกลุ่มพร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟคต์ ได้ให้จ๊อดแฟร์เข้าไปบริหารงานในพื้นที่โครงการมิกซ์ยูสบนถนนรัชดาภิเษก ที่จะมีทั้งพื้นที่กลางแจ้งและในร่ม มูลค่าโครงการ 7,000 ล้านบาท กำหนดเปิดบริการในปี 2567
ทั้งหมดเป็นฝีมือของคุณจ๊อด-ไพโรจน์ ร้อยแก้ว ที่มีจุดเริ่มต้นจากตลาดนัดรถไฟ ศรีนครินทร์นั่นเอง
แต่การเริ่มต้นไม่ใช่ของง่าย จากคนพระนครศรีอยุธยา เริ่มต้นการทำธุรกิจตั้งแต่สมัยเรียน ด้วยการขายของเก่าตามแหล่งค้าขาย อย่างตลาดนัดจตุจักรและคลองถม ในชื่อ Rod’s Antique
และการเป็นพ่อค้ามาก่อน ทำให้เข้าใจพ่อค้าแม่ขายด้วยกัน ทั้งการขายในสถานที่ไม่สะดวก โดนไล่ที่จากเจ้าถิ่น หรือ เทศกิจ
ทั้งหมดกลายเป็นแนวทางแก้ไข หรือ Pain Point และแรงบันดาลใจ มาสร้างตลาดนัดเป็นของตัวเอง มีสัญญาเช่าที่ที่แน่นอน และระบบอำนวยความสะดวกให้กับพ่อค้าแม่ค้า
และในความเป็นจริงคุณจ๊อด ไม่ได้คิดว่าจะเป็นเจ้าของตลาดเอง แต่คิดว่า ถ้ามีคนมาเช่าพื้นที่ หรือ มีร้านค้าให้มีรายได้ แต่เมื่อทำได้ดี รายได้ก็ดีตาม แต่บททดสอบก็มีเข้ามาเสมอ
หลังจากเริ่มต้นจากตลาดนัดรถไฟ จตุจักร ย่านคลังสินค้าพหลโยธิน แต่เมื่อหมดสัญญาเช่า จึงย้ายมาที่ ตลาดนัดรถไฟ ศรีนครินทร์ บนพื้นที่ 60 ไร่ มีทั้ง Indoor และ Outdoor ทั้งเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน สินค้า Vintage และเปิดมาเกือบ 10 ปี โดยเปิดเฉพาะวันพฤหัสบดี, ศุกร์, เสาร์, อาทิตย์
จากนั้นจึงมีการขยายสาขาไปเป็น “ตลาดนัดรถไฟรัชดา” เน้นร้านอาหารแบบสตรีทฟู้ดหลากหลาย และได้รับความนิยมจากคนจีน ทำให้ที่นี่เป็นที่รู้จักในกลุ่มชาวต่างชาติมากขึ้น และขยายไปยังตลาดนัดรถไฟเกษตร-นวมินทร์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงปิดตัวสำหรับสาขานี้
แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ร้านค้า ตลาดนัดเปิดไม่ได้ ตลาดนัดรถไฟก็ได้รับผลกระทบ จนต้องปิดตัว ตลาดนัดรถไฟรัชดา ก่อนที่จะได้รับโอกาสจากทาง GLAND ในเครือเซ็นทรัลพัฒนา ให้เข้ามาเช่าพื้นที่ระยะสั้น 2 ปี ด้านหลังเซ็นทรัลพระราม 9 ทำให้คุณไพโรจน์ตัดสินใจเสี่ยง ในภาวะโควิดช่วงปี 2564 โดยประเมินว่า ค่าเช่าแม้ทำแล้วหากขาดทุนก็พอรับได้ จึงเกิดเป็น “จ๊อดแฟร์” (JODD FAIRS)
และสิ่งที่แตกต่างจากตลาดนัดรถไฟ คือ ระบบและความเคร่งครัดของจ๊อดแฟร์ ที่ไม่ใช่ร้านค้าแบบใดจะมาเปิดก็ได้ แต่ให้ความสำคัญทั้งรูปแบบร้านค้า ความสะอาด สาธารณูปโภคต่างๆ และเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น เช่น ที่นั่งรอบพื้นที่โครงการรองรับการรับประทานอาหาร และทำให้สถานที่จุคนได้มาก
โดยชื่อ “จ๊อดแฟร์” มาจากชื่อเล่นของคุณไพโรจน์ที่เรียกกันในหมู่เพื่อน ๆ คนสนิทว่า “จ๊อด” มาตั้งเป็นชื่อตลาดกลางคืนแห่งนี้ รวมทั้ง คุณไพโรจน์ และภรรยาได้พัฒนาที่ดินของตัวเองที่เชียงใหม่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ในชื่อ “ม่อนจ๊อด” ดังนั้นเมื่อมาทำตลาดกลางคืนบนถนนพระราม 9 จึงได้ใช้ชื่อ “จ๊อดแฟร์ (JODD FAIRS) และเพื่อไม่ให้ซ้ำกับแบรนด์ตลาดนัดรถไฟ แต่การจะทำให้จ๊อดแฟร์ให้คนรู้จัก ไม่ใช่เรื่องง่าย
ดังนั้นการสร้างมาตรฐานจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราลองมาแกะวิธีการสร้างตลาดนัดกลางคืนแบบ “จ๊อดแฟร์” ไว้ดังนี้
1. ทำเล หรือ Location ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญเสมอในการเลือกสถานที่ตั้งตลาดกลางคืน การเดินทางต้องสะดวก เดินทางด้วยรถไฟฟ้าได้ มีที่จอดรถกว้างขวาง รองรับได้
2. ร้านค้าต้องเป็นมาตรฐาน มีจุดเด่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ใช่เปิดให้เช่า ให้ขายอิสระ
3. ร้านค้าดี ตลาดต้องเรียกลูกค้าเก่ากลับมาใช้บริการ ทั้งแสงสว่างภายในตลาด การประชาสัมพันธ์ และสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างที่จอดรถ หรือห้องน้ำ
เพราะ ผู้บริโภค 31% มีโอกาสที่จะเดินตลาดนัดกลางคืนเพียง 1 ครั้ง ภายในช่วงเวลา 4 เดือนเท่านั้น จ๊อดแฟร์ จึงทำพื้นที่ส่วนกลางที่เอื้อต่อธุรกิจร้านอาหาร ต่างจากตลาดนัดรถไฟที่จะเน้นไปที่เสื้อผ้าและของใช้เบ็ดเตล็ด ทั้งโต๊ะกินข้าวที่มีแทบทุกล็อกของตลาด และจุดทิ้งขยะที่ทั่วถึง ทำให้จ๊อดแฟร์สามารถดึงดูดร้านอาหาร ให้มาเปิดหน้าร้านของตัวเองได้มากกว่าเดิม
เหมือนอย่างที่คุณไพโรจน์กล่าวไว้ว่า “เราเลือกร้านค้าที่ค่อนข้างมีคาแรคเตอร์ เขาต้องอยู่ได้ด้วยตัวเขา มาผสมผสานกับจุดเด่นของโครงการ ซึ่งเราเป็นเหมือนจักรวาลสำหรับร้านค้า ขณะที่ร้านค้าก็เป็นเหมือนดาวที่ปรากฏแสงอยู่ในจักรวาลของเรา ร้านค้าสวย เราก็สวย เราทำการตลาด ดูแลร้านค้าดี ให้พื้นที่ดี ร้านค้าก็ขายดี”
4. การจัดแบ่งตลาดออกเป็นโซนต่างๆ ตั้งแต่โซนความบันเทิง, โซนอาหาร และมีการใส่กิจกรรมต่าง ๆ ให้ตลาดนัดมีสีสันมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการบ่อยขึ้น แม้ จุดประสงค์คนส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจไปตลาดนัดกลางคืน คือการเดินทางไปซื้อเสื้อผ้าและไปเดินเล่นสบาย ๆ แต่ความจริง คนที่ไปตลาดนัดถึง 45% มีแนวโน้มใช้จ่ายไปกับของกินมากกว่าที่จะใช้จ่ายไปกับเสื้อผ้า
5. การใช้โซเชียลมีเดีย ที่ทำให้เกิดการบอกต่อ และทำให้อยากเดินทางไป โดยสถิติระบุว่า ผู้บริโภครู้จักตลาดนัดกลางคืนผ่านโซเชียลมีเดียถึง 65% และจะทำให้กระตุ้นให้เกิด FOMO (Fear of Missing Out) หรือ อาการของคนที่กลัวตกเทรนด์ ไม่อยากพลาดอะไรก็ตามที่เป็นกระแสในขณะนั้นเมื่อสถานที่สวยงาม น่าเดินเที่ยว รวมทั้งร้านค้าที่จะต้องมีความสวยงาม มีเอกลักษณ์ อาหารสวยงาม ถ่ายรูปได้ จะกระตุ้นให้เกิดการถ่ายรูปแล้วแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย และทำให้คนเห็นภาพ แล้วอยากเดินทางมาที่จ๊อดแฟร์
โดยมีข้อมูลพบว่า ผู้ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 80% ในเอเชียน มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการ FOMO ได้ง่ายกว่าที่อื่น ๆ รวมไปถึง 60% ของผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ยอมเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ เพียงแค่ว่าสถานที่นั้นถ่ายรูปสวยอีกด้วย
6. การเน้นย้ำแบรนด์ของจ๊อดแฟร์ ทุกอย่างของจ๊อดแฟร์ ตั้งแต่โลโก้, Mood & Tone ของตลาด รวมไปถึงกราฟิกในการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ทั้งหมดต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในชนิดที่ว่าแม้แต่จุดให้บริการแอลกอฮอล์ล้างมือ ก็ยังมีการนำโลโกของตลาดมาติดไว้ ทำให้ตลาดจ๊อดแฟร์ เป็นตลาดที่มีโทนสีขาวสบายตา เหมาะกับการถ่ายรูปแล้ว ยังช่วยตอกย้ำแบรนด์ของตลาดอีกด้วย
และรู้หรือไม่ว่า ผู้ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 80% ในเอเชียนั้น มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการ FOMO ได้ง่ายกว่าที่อื่น ๆ รวมไปถึง 60% ของผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ยอมเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ เพียงแค่ว่าสถานที่นั้น “ถ่ายรูปสวย” อีกด้วย
7. ความเชื่ยวชาญและประสบการณ์ของทีมงานของคุณจ๊อด หรือ คุณไพโรจน์ ที่ผ่านการลองผิดลองถูก จากทั้งตลาดรถไฟ มาถึงตลาดจ๊อดแฟร์ และม่อนจ๊อด มีทั้งการปิดตลาดนัดรถไฟรัชดา ตลาดนัดรถไฟเกษตร-นวมินทร์ กว่าที่จะประสบความสำเร็จในการทำตลาดนัด ทำให้พ่อค้าแม่ค้าต้องพัฒนาตนเอง สร้างเอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อให้ได้เข้ามาขายในตลาดนัดจ๊อดแฟร์ เพราะมีการคัดกรอง คัดเลือกร้าน ซึ่งตามมาด้วยฐานลูกค้าที่มากขึ้น และต่างไว้วางใจ ไปเปิดสาขาต่อกับตลาดนัดของคุณจ๊อด พ่อค้าแม่ค้าอยากมาขายขนาดนั้น ก็ถึงขั้นจับฉลากเพื่อหาผู้เช่า หรือ ต้องส่ง Portfolio มาเสนอให้พิจารณา ไม่ใช่แค่มีเงินจ่ายค่าเช่าก็มาเช่าพื้นที่ได้
8. การเริ่มต้นก่อนคนอื่น กล้าในช่วงที่คนอื่นกลัวหรือชะลอ เพราะจุดเริ่มต้นของตลาดนัดจ๊อดแฟร์ เกดขึ้นในช่วงปี 2564 ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทุกคนต่างชะลอการลงทุน รอให้สถานการณ์ดีขึ้น คลี่คลายขึ้น แต่เมื่อคุณจ๊อด-ไพโรจน์ เปิดตล่าดนัดจ๊อดแฟร์ ท่ามกลางความเงียบ การชะลอการลงทุน ทำให้เป็นกระแส เหมือนการจุดพลุท่ามกลางความมืด และด้วยจุดขายที่แตกต่าง เป็นเอกลักษณ์ ทำให้เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย คนเริ่มออกจากบ้าน มาทำงาน และท่องเที่ยว ตลาดนัดจ๊อดแฟร์จึงสามารถเกิดได้ในที่สุด
9. ให้มากกว่ารับ ในขณะที่คนทำธุรกิจ หรือ ตลาดนัด ต้องคำนวณกำไรและขาดทุน แม้แต่ผู้มาเช่าพื้นที่ ว่าจะกำไรไหม ประสบความสำเร็จไหม ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแปลกสำหรับธุรกิจ แต่สำหรับคุณจ๊อด-ไพโรจน์ บอกว่า ปรัชญาตลอดเส้นทางสายตลาดนัดคือ “ร้านค้าอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ เราต้องให้เขามากกว่าที่เราเก็บจากเขา” สะท้อนจากค่าเช่าที่เก็บวันละ 500 บาทต่อล็อกต่อวัน สำหรับล็อกขนาด 2 x 2 เมตร) ไม่ว่าจะขายดีแค่ไหนก็ไม่ไปเก็บเพิ่ม บางร้านใช้เนื้อที่ 10 ล็อก ค่าเช่าวันละ 5,000 บาท แต่ทำยอดขายได้วันละ 500,000 บาท ก็คือสิ่งที่ได้กับร้านค้าเอง
10. สัญชาตญาณและความรู้สึก บางคนอาจจะไม่เชื่อเรื่องนี้ แต่สำหรับคุณจ๊อด-ไพโรจน์ บอกว่า เขาใช้ “สัญชาตญาณ” ในการวัดว่าที่ไหนจะขายได้ เช่น ทำเลใหม่จ๊อดแฟร์ที่ MRT ศูนย์วัฒนธรรมฯ มองแล้วมีคนเดินขวักไขว่สูงมาก และมีคนเดินทุกวัน และ “ผมได้กลิ่นเงิน และน่าจะพาร้านค้าเราไปเก็บเงินจากย่านนี้ได้”
ทั้งหมดคือ 10 วิธีสร้างตลาดนัดกลางคืนแบบ “จ๊อดแฟร์” ของคุณจ๊อด-ไพโรจน์ ที่ทำให้เขากลายเป็นเจ้าพ่อตลาดนัดกลางคืน ที่คนทำธุรกิจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ว่าแต่ตอนนี้ไปตลาดนัดจ๊อดแฟร์กันไหมครับ ?
ที่มา :
https://www.smartsme.co.th/content/12585
https://www.sentangsedtee.com/today-news/article_216426
https://positioningmag.com/1418045
https://www.marketingoops.com/…/pairoj-roykaew-train…/
https://www.marketthink.co/28047