เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา คุณนพ ธนพ ตันอนุชิตติกุล CEO ของ การ์ตูนคลับ มีเดีย จำกัด ได้จัดงานแถลงข่าวแต่งตั้ง Avanta & Co เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์การ์ตูน และยังมีการพุดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเรื่องคอนเทนต์การ์ตูนละเมิดลิขสิทธิ์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาใหญ่ต่อลิขสิทธิ์การ์ตูนมาโดยตลอดคือเรื่อง “เถื่อนในแท้” ซึ่งก็มีตัวแทนจากแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์หลายเจ้ามาร่วมพูดคุย รวมถึงนักพากย์แนวหน้าเจ้าของเสียง “ลูฟี่” จากการ์ตูนเรื่อง “One Piece” คุณจูน อิทธิพล มามีเกตุ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญในวงการการ์ตูนในไทย ที่ออกมารณรงค์ต่อต้านการละเมิดลิยสิทธิ์การ์ตูนอยู่ตลอด
การ์ตูนญี่ปุ่น หรือคนทั่วโลกรู้จักกันในชื่อเรียก “อนิเมะ” เกิดขึ้นช่วงหลังยุคสงครามโลก ที่เริ่มมีการเอาเทคโนโลยีของฝั่งตะวันตกมาปรับใช้ในวงการสื่อ และเริ่มบูมในญี่ปุ่นในช่วงปี 60s ด้วยอนิเมะเรื่อง “เจ้าหนูปรมณู” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เจ้าหนูอะตอม” เป็นอนิเมะญี่ปุ่นที่โด่งดังไปทั่วโลกและช่วยสร้างภาพจำที่ดีใหม่ให้ญี่ปุ่นหลังช่วงสงคราม ซึ่งในเวลาต่อมาเพียงไม่กี่ปี ก็เริ่มมีการนำเอาอนิเมะเข้ามาฉายในไทย โดยเรื่องแรกคือ “เจ้าหนูลมกรด” เปิดประเดิมกันทางช่อง 4 บางขุนพรหม ตามมาด้วยอนิเมะสุดไอคอนิกขวัญใจชาวไทยอย่าง “หน้ากากเสือ” และในเวลาต่อมาก็มีหลากหลายช่องที่นำเอาอนิเมะเข้ามาฉายอย่างเป็นทางการ ทั้งช่อง 9 โมเดิร์นไนน์การ์ตูน แก๊งการ์ตูน และการ์ตูนคลับ
เมื่อปี 2016 ประเทศไทยนำเข้าคอนเทนต์การ์ตูนจากญี่ปุ่นเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มูลค่าตลาดโดยรวมของสินค้าลิขสิทธ์และการ์ตูนลิขสิทธิ์ญี่ปุ่นแค่ราว ๆ 2,000 ล้านบาทเท่านั้น เป็นผลจากการละเมิดลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ที่หากคิดมูลค่ารวมแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่าการแทรกแซงตลาดด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์ในส่วนนี้สร้างความเสียหายให้ตลาดอนิเมะในไทยไปกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่ามูลค่าตลาดลิขสิทธิ์ที่มีอยู่เสียอีก ซึ่งจากการสำรวจในปี 2019 มูลค่าตลาดลิขสิทธิ์เติบโตขึ้นมาเกือบ ๆ 3,000 ล้านบาท ก็ยังต้องสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไป
จะเห็นได้ว่าการรบกวนตลาดด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นมีมานานแล้ว ซึ่งทางตัวแทนจำหน่ายและเผยแพร่ก็ได้พยายามรณรงค์เพื่อต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์มาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปก็ทำให้ผู้ถือลิขสิทธิ์ต้องรับมือกับหลายอย่าง ทั้งการปรับตัวให้ทันพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันเข้าหาแพลตฟอร์มสตรีมมิง การฉายผ่านทางช่องโทรทัศน์กับจำหน่ายแผ่นที่กลายเป็นอดีตไป ซึ่งการรับชมช่องทางออนไลน์ของผู้บริโภคกลับเอื้อต่อผู้ละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้เน้นเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มานานแล้ว
โดยผู้ถือลิขสิทธิ์อนิเมะก็เลยได้ถือโอกาสในการปรับตัวและดัดหลังผู้ละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ผ่านช่องทาง YouTube Official ของตัวเองซะเลย ซึ่งนอกจากจะดูฟรีแล้วยังเป็นช่องทางที่เข้าถึงง่าย โดยไปเน้นรายได้จากยอดวิวและส่วนแบ่งค่าโฆษณาจาก YouTube นอกจากนี้ก็ยังมีการเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิงลิขสิทธิ์อื่น ๆ ด้วย
แต่กระนั้นก็ดูเหมือนจะเป็นแค่การแก้ปัญหาเชิงรับ เพราะแม้จะปรับตัวรับมืออย่างไร ก็ยังคงมีผู้ละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ และปัญหาที่น่ากังวลใจที่สุดที่ดูเหมือนจะเป็นการกระตุ้นให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นคือปัญหาเถื่อนในแท้ ที่เกิดจากการเข้ามาของแอปพลิเคชั่นสตรีมมิงสีฟ้าเจ้าหนึ่ง ซึ่งแฟน ๆ อนิเมะรู้จักกันดี แอปนี้มีการนำอนิเมะหลากหลายเรื่องมาฉายทั้งพากย์ไทยและซับไทย ซึ่งก็ถูกใจแฟน ๆ ไม่ใช่น้อยเพราะดูฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่นอกจากคอนเทนต์อนิเมะลิขสิทธิ์ที่ทางแอปอัปโหลดขึ้นแพลตฟอร์มเองแล้ว ยังมีการเปิดให้ผู้ใช้อัปโหลดคอนเทนต์ได้ หรือที่เรียกว่า User-Generated Content (UGC) ซึ่ง UGC นี่แหละที่เป็นปัญหา เพราะมันคือคอนเทนต์ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยมีผู้ละเมิดลิขสิทธิ์บนแพลตฟอร์มนี้กว่า 100 ราย ซึ่งการ์ตูนคลับได้ประเมิณมูลค่าความเสียหายคร่าว ๆ ไว้กว่า 33 ล้านบาท
ทางการ์ตูนคลับเคยพยายามเจรจาติดต่อไปทางแอปสตรีมมิงสีฟ้าดังกล่าว และแม้จะมีการลบคอนเทนต์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่แจ้งไปแล้ว แต่ก็ไร้วี่แววตอบกลับ และไม่ได้ออกมาชี้แจงหรือขอโทษแต่อย่างใด หลังจากนั้นก็ยังพบคอนเทนต์ละเมิดลิขสิทธิ์ซ้ำอีกเรื่อย ๆ เพราะอย่างนั้นเอง ก็ถึงเวลาที่การ์ตูนคลับจะเอาจริง เปลี่ยนเป็นกลยุทธ์เชิงรุก เตรียมทีมกฎหมาย พร้อมแบ๊กอัปเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ และบุคคลในวงการอนิเมะในไทย และคุณนพยังได้ทิ้งท้ายในงานแถลงว่าอยากให้ภาครัฐเอาจริงเอาจังกับการปราบผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ และให้ผู้ชมหันมาสนับสนุนคอนเทนต์ถูกลิขลิทธิ์เพื่อให้วงการในไทยเดินต่อไปได้ เอาจริงขนาดนี้คงมีข่าวใหญ่ให้เราได้ติดตามในอีกไม่นานแน่นอน
โดยแฟน ๆ อนิเมะชาวไทยที่รับรู้ปัญหานี้ก็ได้พยายามช่วยกันรายงานปัญหาดังกล่าวและรณรงค์ต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ของแอปที่ว่ามาโดยตลอด แต่ก็มีผู้ชมบางส่วนที่ไม่รู้และไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาตรงนี้ เพราะเห็นว่าเป็นแพลตฟอร์มทางการ น่าเชื่อถือ จึงไม่คิดว่าตัวเองกำลังละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ หรือหลายคนก็รู้แต่คิดว่าแบบนี้สะดวกกว่าเพราะมีพากย์ไทย ในขณะที่ของถูกลิขสิทธ์ยังไม่มี โดยปัญหานี้ก็ลามไปถึงเรื่อง “นักพากย์เถื่อน” ที่พี่จูน เจ้าของเสียงลูฟี่ก็ออกมาฟาดแล้วฟาดอีก แต่ก็เหมือนจะยังไม่หายไป และยิ่งสนับสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์แบบนี้ จะยิ่งทำให้ผู้ถือลิขสิทธิ์สูญเสียรายได้และไม่มีทุนสำหรับการพัฒนาคอนเทนต์ต่อไป เช่น การจัดทำพากย์ไทยสำหรับอนิเมะ ซึ่งก็มีช่วงหนึ่งที่การ์ตูนคลับต้องหยุดทำพากย์ไทยของอนิเมะเรือธงอย่าง “One Piece” ไป เพราะผลกระทบจากการละเมิดลิขสิทธิ์
สุดท้ายแล้ววงการอนิเมะในไทยจะยั่งยืนและพัฒนาต่อไปได้ก็คงต้องอาศัยความร่วมมือจากแฟน ๆ เป็นหลัก ในฐานะผู้บริโภค นับว่ามีส่วนสำคัญในการอยู่รอดของธุรกิจนี้ หากต้องการเห็นการนำเข้าอนิเมะมากขึ้น จัดทำซับไทยและพากย์ไทยคุณภาพมากขึ้น ผู้ชมยังคงต้องช่วยกันสนับสนุนคอนเทนต์ลิขสิทธิ์และต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ในทุกรูปแบบกันต่อไป
สามารถติดตามความเคลื่อนไหว connect the dots ได้ที่
Facebook : www.facebook.com/th.connectthedots
YouTube : www.youtube.com/@th.connectthedots
และทาง Spotify Podcast : connectthedotsth
#Connectthedots
ที่มา:
https://www.plotter.in.th/?p=23820
https://www.lib.ru.ac.th/journal2/?p=11426
https://thestandard.co/cartoon-club-avanta-and-co…/
https://www.nationthailand.com/business/30293371
https://www.prachachat.net/marketing/news-399369
https://www.komchadluek.net/news/economic/552288
https://www.bangkokbiznews.com/business/706781
https://www.bangkokbiznews.com/business/706781